posttoday

ธปท.เปิดชื่อแบงก์คู่ค้าซื้อขายบอนด์

20 มกราคม 2561

ธปท.เปิดชื่อสถาบันการเงินได้เป็นคู่ค้าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ปี 2561

ธปท.เปิดชื่อสถาบันการเงินได้เป็นคู่ค้าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ปี 2561

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้เปิดเผยรายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับ คัดเลือกให้เป็นสถาบันการเงินที่เป็น คู่ค้าหลักกับรัฐบาล (ไพรมารี ดีลเลอร์) สำหรับธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ โดยมีสัญญาว่าจะขายคืนหรือซื้อคืนและซื้อตราสารหนี้ ธปท. (พีดีเอส ไบเลตเทอรัล รีโป) ซึ่งมีทั้งหมด 9 ราย รวมถึงรายชื่อสถาบันการเงินที่ได้เป็นคู่ค้าสำหรับธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เอาต์ไรต์) อีก 13 ราย โดยการแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป

ด้านการคัดเลือกสถาบันการเงินเป็นไพรมารี ดีลเลอร์ สำหรับธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ โดยมีสัญญาว่าจะขายคืนหรือซื้อคืนและซื้อตราสารหนี้ ธปท.และการคัดเลือกคู่ค้าอี-เอาต์ไรต์นั้น  ธปท.จะทบทวนรายชื่อเหล่านี้ทุกปี โดยสถาบันการเงิน 9 แห่งที่ได้เป็นไพรมารี ดีลเลอร์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และธนาคารออมสิน

ขณะที่ สถาบันการเงินอีก 13 แห่ง ที่ได้เป็นคู่ค้าอี-เอาต์ไรต์ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพฯ ธนาคารดอยช์แบงก์ เอจี สาขากรุงเทพฯ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น สาขากรุงเทพฯ บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น สาขากรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ธปท.ทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีผ่านคู่ค้าที่แต่งตั้งเป็นไพรมารี ดีลเลอร์ เพื่อดูดซับหรือปล่อยสภาพคล่องแบบชั่วคราว ทำให้ปริมาณสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพคล่องของระบบการเงิน

ขณะเดียวกัน ธปท.ก็ทำธุรกรรมซื้อขายขาดตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดรองกับสถาบันการเงินที่ ธปท.แต่งตั้งให้ทำอี-เอาต์ไรต์ เพื่อใช้ปรับสภาพคล่องแบบระยะยาว โดย ธปท.อาจซื้อขาดตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อปล่อยสภาพคล่องรองรับความต้องการเงินสดหมุนเวียนในระบบที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มหรือชดเชยตราสารหนี้ภาครัฐที่ ธปท.ถือครองแล้วครบกำหนด สำหรับใช้เป็นหลักประกันในธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีของ ธปท.