posttoday

มหาเจดีย์ชเวดากอง 4

25 มิถุนายน 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้คั่นรายการเล่าเรื่องมหาเจดีย์ชเวดากองไปหนึ่งตอน โดยเอาเรื่องที่ผมเดินทางไปกรุงย่างกุ้ง หลังจากที่ห่างเหินไม่ได้เดินทางไปกรุงย่างกุ้งมานานกว่าสองปีครึ่ง พอได้ไปก็เลยลืมวันลืมคืน

ด้วยความตื่นเต้นที่ได้เดินทางไป และพอกลับมาจากกรุงย่างกุ้ง ก็รีบเขียนเรื่องสดๆร้อนๆลงไปก่อนเลย ทำให้ตัดหน้าเรื่องของมหาเจดีย์ไปหนึ่งตอน ก็ต้องขออภัยแฟนคลับที่คอยติดตามอยู่นะครับ

เมื่อครั้งก่อนนั้น ผมได้เล่าเรื่องของมหาเจดีย์ชเวดากองไปถึงการเดินรอบๆมหาเจดีย์ ซึ่งมีสถูปเล็กๆอยู่โดยรอบ ซึ่งสถูปเหล่านี้มีที่มาที่ไปค่อนข้างจะน่าสนใจทุกสถูปเลยครับ ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่มีใครสามารถอธิบายถึงเรื่องราวของสถูปเหล่านั้นได้หมด รวมถึงตัวผมเองด้วย

ผมจะทราบเฉพาะสถูปที่สำคัญๆเท่านั้นครับ เช่นสถูปที่มีรูปปั้นเทวดากำลังอุ้มเด็ก ที่ชาวเมียนมาเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ ที่ใครก็ตามหากได้มาบนบานศาลกล่าวที่สถูปนี้ ก็จะสามารถมีบุตรได้ ซึ่งผมก็เห็นมีคู่บ่าว-สาวชาวเมียนมาที่มีลูกยาก มาอธิษฐานขอลูกกัน 

ยังมีบางสถูปที่มีพระพุทธรูปปางยืน นิ้วชี้มือด้านขวาชี้ลงดิน เราจะเห็นชาวเมียนมามากราบไหว้ขอพรกัน โดยชาวเมียนมาเชื่อว่า ถ้าใครโชคดี ก็จะเห็นปลายนิ้วชี้ของพระพุทธรูป จะมีหยดน้ำไหลมาตามนิ้ว จึงมีคนพยายามจ้องมองที่ปลายนิ้วชี้ที่ชี้ลงพื้นดินอย่างใจจดใจจ่อครับ ส่วนตัวผมเองก็เคยไปจ้องดูมาหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นเลยครับ จ้องเท่าไหร่ก็ไม่เคยเจอครับ

พอเดินตามเข็มนาฬิกาไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศที่ทางเดินจะแคบนิดหนึ่ง จุดนี้จะมีพระพุทธรูปที่น่าสนใจอยู่ไม่เยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ทิศนี้ผมจะเข้าไปกราบที่มุขด้านหน้ามหาเจดีย์เสร็จ แล้วก็เดินผ่านเลยไป เพื่อเดินไปสู่มุขด้านทิศใต้

เพราะที่ทางด้านทิศใต้ จะมีพระพุทธรูปที่ผมมักชอบไปกราบไหว้อยู่หนึ่งองค์ คือพระพุทธรูปซะดอร์มู ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวเมียนมา พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ด้านหลังของเจดีย์ชเวดากองจำลองที่เป็นองค์เจดีย์ทองคำ อยู่ทางทิศใต้ของมหาเจดีย์ ใกล้ๆกับบันไดทางลงนั่นเองครับ

พอเดินเลยไปทางด้านทิศตะวันตก จุดนี้จะเป็นทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจสำหรับผมมากนัก เพราะส่วนใหญ่ทิศนี้จะเป็นศาลาที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในศาลา แต่มักจะมีอุบาสก-อุบาสิกา มานั่งสมาธิและสวดมนต์กันเสียเป็นส่วนใหญ่

พอเลยจุดนี้ไปทางด้านทิศเหนือ ผมมักจะเดินเข้าไปทางด้านหลังของทางเดิน ซึ่งด้านหลังนี้แหละครับ ที่มีอะไรดีๆซ่อนไว้อยู่ด้านหลังเยอะ คือจะมีฆ้องใบใหญ่ๆเรียงรายกันอยู่หลายใบเลยครับ ให้สังเกตุดูว่าพอเลยฆ้องเหล่านั้น เยื้องไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

เราจะสังเกตุเห็นทางด้านหลังของระฆังใบใหญ่ๆ ที่เรียกว่าระฆังซินกู ที่เขาจำลองมาจากระฆังมินกุน ถ้าหากเราไม่เห็นมีคนมองขึ้นไปบนยอดเจดีย์ ก็ให้มองที่พื้นหินอ่อนไว้เลยครับ

เราจะเห็นบนพื้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า สีแดง สีน้ำเงิน สีขาว.....เจ็ดสี โดยแต่ละจุดสีจะห่างกันประมาณหนึ่งก้าว ก็จะเป็นสีต่างๆกันไปครับ ก็ให้ไปยืนบนพื้นที่เขาเขียนสีไว้ แล้วมองขึ้นไปบนยอดเจดีย์ เราจะเห็นสีของอัญมณีตามสีที่เขาเขียนไว้ เป็นอัญมณีเจ็ดสี สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งครับ

ต่อมาก็เดินออกไปที่ทางเดิน ก็จะเป็นทิศเหนือของมหาเจดีย์ ก็จะเป็นจุดที่ตั้งของปะรำพิธี  ที่ทุกครั้งที่ทางการเมียนมาจัดงานพิธีทางศาสนา จะต้องมาจัดตั้งที่ตรงจุดนี้ ให้สังเกตุง่ายๆ จะมีชาวเมียนมานั่งทำสมาธิสวดมนต์กันที่จุดนี้ ด้านหน้าของกลุ่นคนที่นั่งอยู่ จะมีกระถางธูป-เทียนอยู่ตรงหน้าครับ

อีกทั้งด้านข้างของลานกว้างจะเป็นจุดที่น่าถ่ายรูปมากที่สุดของมหาเจดีย์ชเวดากอง เพราะสามารถตั้งกล้องแล้วมองเห็นมหาเจดีย์ได้เต็มทั้งองค์ โดยไม่ต้องถอยหลังหามุมกล้องครับ ทุกครั้งที่ผมเดินไปถึงจุดนี้ จะพบกับช่างกล้องชาวเมียนมา

รวมทั้งไกด์ทัวร์ที่ไม่มีบัตรไกด์ เดินมาถามนักท่องเที่ยวว่าต้องการไกด์หรือไม่? พวกนี้จะตาแหลมคมมาก เขามองปรุ๊บก็จะรู้เลยว่าคนนั้นคนนี้เป็นชาวต่างชาติ เขาจะปรี่เข้ามาถามทันทีเลยครับ

ทุกด้านทุกทิศก็จะมีจุดที่น่าสนใจอยู่เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ถ้าเราไปกับทัวร์ จะมีไกด์ทัวร์ที่มาอธิบายให้เราฟัง ผมเองชอบเดินตามกลุ่มทัวร์อยู่บ่อยๆ คือแอบฟังโดยไม่ต้องเสียเงินนั่นแหละครับ

ส่วนใหญ่เนื้อหาที่เป็นภาษาต่างประเทศหลายๆภาษา ผมฟังหมดเลยครับ แต่ทั่วๆไปจะคล้ายๆกันหมด จะมีบางกลุ่มที่เป็นทัวร์ไทย มักจะได้ฟังไกด์ทัวร์ที่อธิบายได้ละเอียดกว่าภาษาอื่นๆไปบ้างครับ ก็สนุกดีครับ

อาทิตย์หน้าผมจะเล่าเรื่องเมียนมาในโพสต์ทูเดย์เป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะครับ เพราะผมเพิ่งได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า อาทิตย์หน้าจะเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นผมจะสรุปบางเรื่องให้แฟนคลับทุกท่านได้รับทราบอีกครั้งครับ