posttoday

“Next Normal” เดินหน้าประเทศ....ถึงเวลายกเครื่องการเมืองน้ำเน่า

28 มีนาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

มีการกล่าวว่าไทยกลายเป็น“ผู้ป่วยแห่งเอเชีย”กล่าวคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีก่อนโควิดระบาด (พ.ศ.2558-2562) การขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 3.3 จากค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในเอเชียร้อยละ 6-7  ช่วงโควิดระบาดทำให้การขยายตัวของ GDP ติดลบสุทธิประมาณร้อยละ 4.5 และปีนี้อัตราการขยายตัวอาจอยู่ที่ร้อยละ 3-3.5  คงยังไม่มากพอที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจกลับมาเหมือนก่อนโควิดระบาด เหตุผลหลักมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเกือบทุกด้านลดน้อยถอยลง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทุนการผลิตทั้งด้านค่าจ้าง ค่าต้นทุนโลจิสติกส์รวมทั้งด้านคอรัปชั่นสูงกว่าหลายประเทศ การเข้าถึงสังคมคนชราเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านรวมไปถึงผลิตภาพแรงงานและผลผลิตเกษตรต่อไร่อยู่ในอัตราต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติที่ลดต่ำลงเป็นลำดับ

ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเลื่อมล้ำมาจาก “การเมืองน้ำเน่า” ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาการเมืองแบ่งขั้ว-แบ่งฝ่ายแยกออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ รวมถึงการปฏิวัติ 2 รอบได้สร้างความบอบช้ำและบาดแผลให้กับประเทศ แม้แต่ “กลุ่มทหารรักชาติ” ที่พังประตูประชาธิปไตยเข้ามาแก้ปัญหาช่วงแรกดูเป็นความหวังเป็นอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหาแต่เวลาผ่านมากลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง การติดกับดักตัวเองทำให้ติดอยู่ในบ่วงอำนาจที่ยาวเกินไปรวมถึงการขาดทีมเศรษฐกิจมืออาชีพที่จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ซับซ้อนเกินกว่าที่อดีต “เทคโนแครต” ที่เป็นอดีตข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะแก้ปัญหาได้ ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจช้ากว่าที่ควรจะเป็นและ  กลายเป็นปัญหาของประเทศ

การขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศทั้งระหว่างและหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่แทรกซ้อนเป็น “Double Crisis”การแก้ปัญหามีความซับซ้อนจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ว่าจะจบอย่างไรสิ่งที่ตามมาจะทำให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่ที่เศรษฐกิจโลกจะไม่เหมือนเดิม การนำพาประเทศให้กลับมาเข้มแข็งจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาที่ภาคการเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คุมนโยบายและผู้บริหารประเทศรวมถึงด้านนิติบัญญัติ เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปนักการเมืองทั้งที่เป็นพวกมืออาชีพและข้าราชการที่ผันตัวเป็นนักการเมืองที่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแต่ภาพที่เห็นคือ “วุฒิสมาชิกหรือส.ว.” ส่วนใหญ่ยกมือสนับสนุนขั้วอำนาจรัฐที่แต่งตั้งตัวเองเข้ามาโดยไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ด้านส.ส.ทั้งสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้านที่พวกเดียวกันออกมาแฉมีการแจกและรับกล้วย ทำอย่างไรพวกเหล่านี้จะหมดไปเสียที

สภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือการเมืองแบ่งเป็น 3 ขั้ว กลุ่มแรกจับขั้วกับอำนาจที่เป็นรัฐบาลกอดกันแน่นเพราะผลประโยชน์ลงตัว, กลุ่มที่สองเป็นขั้วฝ่ายค้านที่มีสองพรรคใหญ่ที่แย่งซีนกันเอง ชัดเจนคือพรรคเพื่อไทยมีการ Re-Brand ยกระดับเป็นพรรคการเมืองรุ่นใหม่แข่งกับ “ก้าวไกล” ด้วยการชูคุณอุ๋งอิ๋งส่งสัญญาณอาจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ประเด็นที่สำคัญยังซ่อนเร้นวาระพรรคครอบครัวในการที่จะดึงคุณพ่อโทนี วู้ดซัม ที่หนีคดีให้กลับมากลายเป็นพรรคการเมืองที่ควรทำหน้าที่เพื่อประชาชนแต่จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจภาพที่ออกมาดูเป็นเช่นนั้น

หากสังเกตุให้ดีการเมืองในช่วงนี้เริ่มเข้มข้นเสมือนกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งสนามใหญ่ ทั้งที่ท่านนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะอยู่ในอำนาจจนหมดวาระหรืออย่างเก่งหากจะยุบสภาก็คงอยู่ในช่วงปลายปี ภาพนักการเมืองมีการเริ่มขยับย้ายพรรคขั้วรัฐบาล เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์รุ่นอาวุโสทยอยไหลออกส่วนคุณธรรมนัสผู้นำพรรคเศรษฐกิจใหม่ตัวจริงทำตัวเป็นพรรคตัวแปรไม่รู้ว่าอยู่ขั้วไหน ด้านพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านหลังเปิดตัว “คุณอุ๋งอิ๋ง” รอบสอง อดีตส.ส.-แกนนำรุ่นอาวุโสแรกยุบตั้งพรรคจำนวนมากขยับย้ายไปอยู่พรรคคุณหญิงหน่อย          ที่กล่าวเปิดเพียงแค่บางตัวอย่างการย้ายพรรคอาจเป็นแค่การปรับเปลี่ยนจับขั้วใหม่เพื่อรับมือการเลือกตั้งแต่ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลือกสรรนักการเมืองที่ดีเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน

มีการกล่าวว่า “คนไทยกับการเมืองน้ำเน่าเป็นของคู่กัน” วลีนี้ผู้เขียนไม่ได้มโนเองได้มาจากไทยรัฐออนไลน์ (6 ก.พ. 63) ที่กล่าวว่าการเมืองแบบไทยๆ ไม่มีคุณธรรม ขาดจริยธรรม นับวันมีแต่จะถอยหลัง ที่กล่าวนี้เห็นจะไม่ผิดเพราะเล่นกันตั้งแต่โครงสร้างของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บางยุคผู้มีอำนาจใช้เซียนกฎหมายระดับชาติเขียนเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจนานๆ ขาดกลไก “Check & Balance” ลดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือแม้กระทั่งได้ส.ส.ประเภทปัดเศษทศนิยมเข้ามาในสภา ตลอดจนออกแบบให้ส.ส.ย้ายพรรคได้ง่ายเพื่อบั่นทอนพรรคการเมืองให้อ่อนแอและเป็นที่มาของการ “แจกกล้วย” การเมืองน้ำเน่าในพ.ศ.นี้ยังเห็นนักการเมืองมากมายเชียร์ขั้วอำนาจแบบไม่ลืมหูลืมตา บางรายทำตัวดังเข้าไว้เข้าไปยุ่งทุกเรื่องเพียงขอให้เป็นข่าวในสื่อทั้งที่ตัวเองมีแผลเต็มตัวทำให้โดนคดีย้อนศรกลายเป็นข่าวดังสมใจ

การยกเครื่องปฏิรูปการเมืองไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขรวมถึงมีการศึกษาทางวิชาการเสนอแนะมามากมาย คนที่มีอายุมากเคยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้งคงรู้ดีเพราะตราบใดที่การซื้อสิทธิ์ขายเสียงกลายเป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศมีการทำกันอย่างเป็นระบบและมีความแยบยลเป็นที่รู้อย่างเปิดเผย การเลือกตั้งแต่ละครั้งใช้เงินนอกระบบมากกว่า 2-3 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย ที่ผ่านมา “กกต.” แทบไม่มีหลักฐานเอาผิดหรือจับได้น้อยรายเพราะเป็นการสมยอมพอใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เมื่อได้ผู้แทนเหล่านี้เข้าสภาก็มีการแจกกล้วยเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก

ที่กล่าวเช่นนี้ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้หมายถึงนักการเมืองทุกคน ส่วนตัวผู้เขียนรู้จักนักการเมืองหลายท่านที่เป็นคนดีก็มีมากส่วนเรื่องการแจกกล้วยได้ข้อมูลมากจากส.ส.ที่พูดในสภาและปรากฏอยู่ในสื่อ ตราบใดที่บริบทการเมืองของไทยการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกลายเป็นวัฒนธรรมและกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยอมรับก็ยากที่จะแก้ได้ เงินมหาศาลที่ใช้ไปผู้ที่แจกหรือให้คงต้องหวังผลประโยชน์ที่มากกว่าหลายสิบเท่าจึงไม่แปลกใจว่าทำไมดัชนีคอรัปชั่นของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการรายงานดัชนีคอรัปชั่นหรือ CPI : Corruption Perceptions Index ขององค์กรด้านความโปร่งใสนานาชาติ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากปีพ.ศ.2560 อยู่ที่ระดับ 96 ของโลก ล่าสุดพ.ศ.2564 ดัชนีคอรัปชั่น ของไทยกระโดดไปที่ระดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ในอาเซียนของไทยอยู่ในอันดับ 5 ติดอยู่ในกลุ่มประเทศฟิลิปปินส์, สปป.ลาวและเมียนมาร์คะแนนที่ได้ต่ำสุดในรอบทศวรรษ คำถามคือรัฐบาลซึ่งชูประเด็นความโปร่งใสและคอรัปชั่นเป็นไฮไลท์ถึงขนาดกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติแต่ทำไมกลายเป็นว่าปัญหาการทุจริต-รับสินบนจึงมีมากจนติดระดับโลกและอยู่ในโซนกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีการคอรัปชั่นสูง

ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลการขับเคลื่อนนำพาประเทศให้หลุดจากกับดักประเทศมีรายได้ปานกลางยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนาที่ประชาชนมีรายได้สูงและลดความเหลื่อมล้ำ จำเป็นจะต้องเร่งแก้ปัญหาคอรัปชั่นซึ่งกลายเป็นภาวะปกติหรือ “Normal Practice” ของคนไทยจนเคยชิน หากจะเดินหน้าประเทศต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหาคือตัวนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศที่จะเข้ามากุ่มกลไกอำนาจรัฐที่จะเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งการเมืองใดๆ จะต้องมีกระบวนการอย่างไรที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้เพราะเกี่ยวข้องกับคนที่มีอำนาจและคนที่มีปัญญามีการศึกษาสูง แม้แต่ผู้ที่เคยรับราชการตำแหน่งสูงๆ ที่ควรจะเป็นแบบอย่างพอเข้ามาเป็นนักการเมืองก็ตกอยู่ในวังวน  น้ำเน่ากลายเป็นวัฏจักรต่อเนื่องมาหลายยุคสมัย การแก้ปัญหาจึงต้องอยู่กับปัจเจกบุคคลคือประชาชนอย่าไปรับสตางค์แลกกับการลงคะแนนหรือหากจะรับก็ได้แต่ให้เลือกคนที่ดีให้มีอำนาจทางการเมืองจึงจะแก้ไขได้.....จริงไหมครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat