posttoday

ทบทวนทิศทาง EEC…ขับเคลื่อนการจ้างงานในอนาคต

25 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สัปดาห์ที่ผ่านผู้เขียนเป็นวิทยากรสัมมนาออนไลน์ “EEC Moving Forward”  ให้กับหน่วยงานแห่งหนึ่งในโอกาส 4 ปีที่โครงการคิกออฟมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 จึงอยากแชร์ความคิดเห็นในประเด็นนี้ เริ่มจากขับเคลื่อน “อีอีซี” ที่ผ่านมาความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3  รองรับปริมาณตู้สินค้าจากปีละ 8 ล้านตู้/TEU เป็นประมาณ 18.1 ล้านตู้/TEU โดยบางส่วนจะเปิดได้ในปีพ.ศ.2568, โครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด, ขยายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติของภาคตะวันออก, ถนนมอเตอร์เวย์ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินที่ผู้ประมูลอ้างว่าวิกฤตโควิดทำให้ไม่สามารถชำระค่าสิทธิบริหารโครงการเป็นเงิน 10,672 ล้านบาทที่ต้องที่ชำระภายในสัปดาห์นี้ (24 ต.ค.64) จิ๊บจ๊อยแค่นี้ที่สุดคงตกลงกันได้

คำขอการลงทุนของ “อีอีซี” ที่ผ่านมาจนถึงกลางปีนี้มีมูลค่าประมาณ 1.512 ถึง 1.6 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอกชนและรัฐมีมูลค่า 633,401 แสนล้านบาทเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.26 ของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่คำขอส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นการจ้างงานจริงในพื้นที่มีมูลค่าประมาณ 878,889 ล้านบาทโดยร้อยละ 64 เป็นการลงทุนทางตรงของต่างชาติ (FDI) โครงการขับเคลื่อน “อีอีซี” เป็นอภิโปรเจคของรัฐบาลลุงตู่ซึ่งทับซ้อนลงไปในพื้นที่ของ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ที่เปิดโครงการมา 4 ทศวรรษ (พ.ศ.2525) เป็นจังหวะเหมาะสมที่ช่วงนั้นญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากกลุ่มประเทศตะวันตกกดดันให้มีข้อตกลง “Plaza Accord (1985)”  ทำให้เกิดวิกฤตค่าเงินเยนแข็งและถูกกีดกันทางการค้า มีการโยกการลงทุนครั้งใหญ่ออกนอกประเทศโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพราะช่วงเวลานั้นเป็นสงครามเย็นในภูมิภาคอาเซียนอยู่ระหว่างสงครามแม้แต่วันนี้การลงทุน “FDI” ผ่าน “BOI”  นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นเบอร์หนึ่งที่ยังใช้ไทยเป็นฐานลงทุนขณะที่เวียดนามนักลงทุนรายใหญ่คือเกาหลีใต้

การผลักดันลงทุนของ “อีอีซี” อยู่ในช่วงจังหวะที่ต่างออกไปเพราะจุดแข็งของไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง เช่นต้นทุนการผลิตสูง, แรงงานหายาก, ค่าจ้างสูงแต่ผลิตภาพแรงงานต่ำ, การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงการสูญเสียการเป็นศูนย์กลางขนส่งทางทะเลระดับภูมิภาคเพราะท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในอ่าวไทยเรือสินค้าเข้า-ออกต้องอ้อมแหลมญวน

ขณะที่ประเทศเวียดนามเบียดแซงหน้ากลายเป็นจุดหมายปลายทางลงทุนของโลกความได้เปรียบคือเป็นแหล่งลงทุนที่ต้นทุนต่ำ, มีแรงงานหนุ่ม-สาวจำนวนมากที่ค่าจ้างต่ำกว่าโดยเฉพาะความได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าพหุภาคี เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลง EU-FTA  ซึ่งเวียดนามเป็นสมาชิกทำให้ได้สิทธิประโยชน์ส่งออกโดยยกเว้นหรือลดภาษีเป็นข้อได้เปรียบและเป็นทางเลือกของนักลงทุน การขับเคลื่อน “อีอีซี” คงต้องสร้างจุดแข็งและทบทวนปรับกลยุทธ์ใหม่เพราะการยกเว้นภาษีนำเข้า-ภาษีนิติบุคคล 8-10 ปีหรือเช่าที่ดินระยะยาวแต่ละประเทศก็คล้ายๆ กัน

ประเด็นที่ควรทบทวนเกี่ยวกับทิศทางขับเคลื่อน “อีอีซี” ที่เกี่ยวกับการจ้างงานที่เป็นการขัดแย้ง เชิงนโยบายกันเอง กล่าวคือด้านหนึ่งระบุส่งเสริม “New S-Curve Industries” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เอไอ, หุ่นยนต์อัจฉริยะ, ระบบการผลิตออโตเมชั่น อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานน้อยประมาณเพียง 1 ใน 4 ของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีปานกลาง เพียงแค่ปรับใช้แขนกลอตุสาหกรรม (Robotic Arm) ตัวเดียวสามารถลดคนจาก 10 เหลือ 1 คนเท่านั้น แต่ในอีกด้านภาครัฐกลับประชาสัมพันธ์แบบสร้างภาพ “PR-IMAGE” ว่าภายใน 5 ปีจะจ้างงาน 4-4.5 แสนคน ความเป็นไปได้ลองเปรียบเทียบการจ้างงานของ “3 จังหวัดอีอีซี” ในช่วง 40 กว่าปีมาถึงวันนี้มีแรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ประมาณ 6.137 แสนคน หากต้องการให้อุตสาหกรรมไฮเทคที่ใช้คนน้อยให้คู่ขนานไปด้วยกันกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีปานกลางแต่ใช้คนจำนวนมาก จำเป็นต้องทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีความยืดหยุ่นกว่าที่เป็นอยู่คล้ายกับประเทศเวียดนาม

มีคำถามว่ากลยุทธ์ของผู้ประกอบการ “อีอีซี” ควรจะไปทางไหน ก่อนอื่นต้องแยกอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 7,483 โรงงาน ซึ่งไม่ได้ขอส่งเสริมกับอุตสาหกรรมไฮเทคประเภท “S-Curve” อุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติหรือเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่ เพราะหากไม่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีคงไม่สามารถขอส่งเสริมจาก “อีอีซี”  กล่าวคือพวกนี้เขามีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้วประเด็นคือการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็น SME ให้สามารถยกระดับศักยภาพในการเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไฮเทคใน “อีอีซี” ซึ่งจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สร้างแหล่งจ้างงานและเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ

เจตนารมณ์ของบทความนี้เพื่อนำเสนอให้เห็นว่าหากต้องการให้ “อีอีซี” เป็นหัวหอกขับเคลื่อนให้ไทยพ้นจากกับดักเป็นประเทศที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพและพ้นจากประเทศที่อัตราการขยายตัวอยู่ในลำดับท้ายๆ ของเอเชียทิศทางการพัฒนา “อีอีซี” จำเป็นต้องชัดเจนว่าจะ

มุ่งส่งเสริมเปลี่ยนเข็มทิศประเทศไปสู่ “Innovation & Technology 4.0 Driven”  ด้วยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและระบบโลจิสติกส์ออโตโมชั่นมีการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิตซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานจำนวนไม่มาก แต่ในอีกด้านหนึ่งการส่งเสริม “อีอีซี” กลับระบุว่าต้องการแรงงานใหม่ใน 4-5 ปีข้างหน้าคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนแรงงานใน 3 จังหวัด “อีอีซี” รวมกันหรือคิดเป็นร้อยละ 10.7 ของจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ภาวะไม่ชัดเจนของนโยบายจำเป็นต้องมีการทบทวนเพื่อให้ทิศทางของทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องสอดคล้องประสานกัน…ประเด็นนี้ต้องให้ชัดเจนครับ !      

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat