posttoday

รัฐบาลตรึงราคาดีเซล...รับมือน้ำมันโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี

18 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เพื่อให้ภาพชัดเจนของราคาน้ำมันโลกที่ในช่วงนี้ปรับราคาทำสถิติสูงสุดรายวัน จำเป็นต้องวิเคราะห์ราคาตลาดต่างประเทศซึ่งจะเป็นการชี้นำราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตลาดล่วงหน้าที่ใช้อ้างอิงราคาในระดับโลกมีหลายแห่งที่ยอมรับขอยกตัวอย่าง เช่น ตลาดสิงคโปร์ (Simex)  ส่วนใหญ่อ้างอิงราคาเทรดน้ำมันสำเร็จรูป ตลาดลอนดอนหรือ “Brent” เป็นน้ำมันคุณภาพสูงจากทะเลเหนือ ตลาดค้าน้ำมันที่ใหญ่สุดกำหนดราคาน้ำมันโลกคือ “Nymex” อยู่ที่นครนิวยอร์กหรือรู้จักในชื่อ “WTI: West Texas Intermediate” เป็นตลาดเก็งกำไรมีอิทธิพลต่อระดับราคาน้ำมันโลกมากที่สุด ในช่วงเกือบสิบเดือนที่ผ่านมาระดับราคาเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า เปรียบเทียบจากต้นปี (4 ม.ค.) ระดับราคาอยู่ที่ 47.62 USD/Barrel  ช่วง ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 82.03 USD/Barrel เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72.25 สูงสุดในรอบ 7 ปี (น้ำมันดิบซื้อขายเป็นเหรียญสหรัฐ : USD/ Barrel : BBL)

กรณีประเทศไทยอ้างอิงราคาตลาดน้ำมันดูไบ “DMEX : Dubai Market Exchange” เป็นน้ำมันจากแหล่งผลิตใต้ทะเลทรายแถบตะวันออกลาง เช่น เอมิเรตส์, ซาอุดิอะราเบีย, การ์ต้า, คูเวต โดยไทยนำเข้าปริมาณสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือนำเข้าจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนามสัดส่วนรวมกันร้อยละ 16 ที่เหลือสัดส่วนประมาณร้อยละ 34 ประเทศไทยพึ่งพาสัดส่วนนำเข้าจากรัฐเซียและตลาดจรอื่นๆ  ถึงตรงนี้คงทราบแล้วว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานนำเข้าจากตลาดดูไบ (Dmex) ในช่วงต้นปี 2564 ถึงปัจจุบันราคามีการปรับตัวสูงขึ้น 1.56 เท่า เปรียบเทียบระดับราคา ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 ราคาอยู่ที่ 50.61 USD/Barrel  ขณะที่ราคา ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 พุ่งสูงอยู่ที่ระดับ 80.95 USD/BBL เพิ่มขึ้น 30.34 เหรียญสหรัฐหรือสูงขึ้นร้อยละ 60 (เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบช่วงสิบเดือนสูงขึ้นร้อยละ 60-70)

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายว่าราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งซื้อขายด้วยสกุล USD ใช้หน่วยบาร์เรลกับราคาน้ำมันในประเทศที่ซื้อขายสกุลบาทใช้หน่วยเป็นลิตร (LTS)  โดย 1 Barrel ประมาณ 158.987 ลิตร หากอยากรู้ว่าช่วงเกือบสิบเดือนราคาน้ำมันดิบในเชิงเงินบาทสูงขึ้นเท่าใดก็ตัดทอนเป็นลิตรต่อเหรียญสหรัฐซึ่งจากการคำนวณราคาเพิ่มขึ้น 0.1908 USD/ลิตร หากอยากรู้เป็นเงินบาทก็เอาอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 33.201 บาท/USD คูณเข้าไปผลที่ได้คือช่วงต้นปีถึงปัจจุบันราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น 6.334 บาท/ลิตร ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าราคาข้างต้นเป็นน้ำมันดิบ “Crude Oil” เป็นราคาหน้าบ่อยังต้องมีค่าขนส่งอีกหลายทอดกว่าจะถึงปั้มน้ำมัน เช่น ค่าบรรทุกเรือน้ำมันหรือ “Bunker Carrier Vessel” มีขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทางถึงโรงกลั่นปลายทางและค่าใช้จ่ายของโรงกลั่นน้ำมัน

คราวนี้มาดูราคาน้ำมันค้าปลีกหน้าปั้มที่พวกเราควักกระเป๋าจ่าย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, เงินกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน (ปกติเก็บร้อยละ 1.4), ค่าการตลาดและภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ “VAT” ที่เก็บทุกขั้นตอนตั้งแต่หน้าโรงกลั่นจนถึงหน้าปั๊ม ช่วงที่ผ่านมา (ม.ค.-15 ต.ค. 2564) ราคาน้ำมันขายปลีกมีการปรับตัวหลายครั้งขึ้น-ลงตามระดับราคาน้ำมันโลกและครึ่งปีหลังมีการเร่งตัวของระดับราคา ขอยกตัวอย่างน้ำมันเบนซิน 95  ช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับ 23.25 บาท/ลิตร ปัจจุบันเป็น 31.15 บาท/ลิตรเพิ่มขึ้น 7.9 บาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ส่งผลต่อครัวเรือนที่ใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันที่ค่าน้ำมันสูงขึ้นถึง 1 ใน 3  ขณะที่ปีนี้ประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดแค่ไม่ถูกออกจากงานก็บุญแล้ว บางรายถูกลดเงินเดือนหรือ “Leave Without Pay”  

สำหรับน้ำมันดีเซลที่ใช้ในภาคขนส่งและรถบิ๊กอัพส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด รถบรรทุกส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล B10 ต้นปีราคาอยู่ที่ 24.19 บาท/ลิตร และวันนี้นโยบายรัฐเปลี่ยนสูตรเป็นดีเซล B7 และอุดหนุนต้นทุนประมาณ 1.39 บาท/ลิตรเพื่อควบคุมราคาไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ราคา ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ 28.89 บาท/ลิตร ราคาเพิ่มขึ้น 4.7 บาท (ราคาน้ำมันดีเซลของมาเลเซียประมาณ 19 บาท/ลิตร)  โดยทั่วไปรถบรรทุกใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่ใช้น้ำมัน B10 คือผสมน้ำมันปาล์มหรือ B100 สัดส่วนร้อยละ 10 ขณะที่น้ำมัน B20 (ดีเซล 80% : น้ำมันปาล์ม 20%) จะหนืดมากและมีควัน ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) นอกจากต้องแบกถังแก๊ส 8 ถัง น้ำหนักรวมแก๊สเต็มประมาณ 880 กิโลกรัมและยังมีปัญหาจากปั๊มหายาก, ค่าซ่อมบำรุงสูง, ใช้เวลาเติมแก๊สนามากทำให้หาคนขับยาก

โดยทั่วไปต้นทุนขนส่งจะมีสัดส่วนอยู่ในราคาสินค้าประมาณร้อยละ 10-15 ขึ้นอยู่กับระดับราคา, ขนาดคิวหรือปริมาตรของสินค้าและน้ำหนักของสินค้าโดยเฉพาะปัจจัยจากราคาสินค้าที่บรรทุกในเที่ยวนั้นๆ หากราคาสินค้าสูงต้นทุนขนส่งก็จะต่ำแต่หากราคาสินค้าถูก เช่น สินค้าเกษตรต้นทุนขนส่งต่อราคาสินค้าก็จะสูง หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มในช่วงต้นปีกับปัจจุบันเพิ่มขึ้น 4.7 บาท/ลิตรหรือร้อยละ 19.43 พบว่ามีผลต่อต้นทุนรวมขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.8-5.8  เมื่อนำมาคำนวณจะมีผลต่อระดับราคาสินค้าประมาณร้อยละ 1.0  สินค้าบางประเภทอาจสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวสินค้า อย่างไรก็ดีการปรับราคาภายใต้สภาวะตลาดหดตัวและการแข่งขันรุนแรงผู้ประกอบการขนส่งส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ปรับราคา ทั้งนี้การที่รัฐบาลตรึงราคาขนส่งด้วยการอุดหนุนด้านต้นทุนเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะช่วยไม่ให้ราคาสินค้าสินค้าอุปโภคปรับสูง

ล่าสุดจากรายงาน “2021 World Oil Outlook” ระบุปริมาณน้ำมันของแหล่งผลิตไม่เพียงพอสนอง   ตอบความต้องการของเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงความต้องการน้ำมันช่วงฤดูหนาวจะใช้พลังงานมากขึ้น อุปสงค์น้ำมันจะยังสูงต่อเนื่อง 2 ปีเป็นอย่างน้อย มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันภายใต้พลวัตรการฟื้นตัวเศรษฐกิจของโลกอาจทำสถิติปรับตัวสูงขึ้นไปอีก การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน   30 บาท/ลิตร อาจเป็นเพียงมาตรการหนึ่งแต่คงไม่พอที่จะรับความผันผวนของเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายจากโควิด อย่ามัวแต่เล่นการเมือง....ตั้งรับให้ดีนะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat