posttoday

ป้องกันการทุจริตด้วย “สี่เหลี่ยมทุจริต”

03 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง

โดย ดิลก ถือกล้า

ในช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายให้อยู่ในคณะกรรมการสอบสวนกรณีการเกิดการทุจริตฉ้อโกงในองค์กรที่เคยได้ร่วมงานอยู่บ่อยครั้ง

จนต่อมาภายหลังได้ถูกมอบหมายจากผู้บริหารให้หาแนวทางในเชิงป้องกันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการดำเนินการในเชิงรุกเพื่อลดการเกิดการทุจริตให้น้อยที่สุด จึงเป็นที่มาให้ผมได้ศึกษาเรื่องกรอบการทำความเข้าใจเรื่องบ่อเกิดการทุจริตแล้วนำมานำเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจและนำมาปรับใช้ นั่นคือกรอบ “สามเหลี่ยมทุจริต (Fraud Triangle)” มาสื่อสารกับคนในองค์กรให้เข้าใจและนำไปปรับใช้  

โดยต่อมาผมก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมแล้วได้ทราบว่าเกิดการเพิ่มปัจจัยให้กับ “สามเหลี่ยมทุจริต” กลายเป็น“สี่เหลี่ยมทุจริต (Fraud Diamond)” จึงได้นำเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจแล้วนำไปปรับเพื่อให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

แม้กรอบทั้งสองกรอบดังกล่าวเป็นกรอบที่ช่วยให้คนในองค์กรได้เข้าใจและตระหนักเรื่องการทุจริตได้อย่างเห็นภาพชัด  แต่ผมกลับไม่ค่อยได้เห็นว่าองค์กรในบ้านเราใช้เครื่องมือตัวนี้อย่างแพร่หลาย

ทั้งที่เป็นแนวคิดที่สามารถศึกษาและนำมาปรับใช้ได้ ผมจึงอยากนำกรอบนี้มานำเสนอ และอธิบายจากตัวอย่างการทุจริตที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ คือ กรณีนักพัฒนาสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้างานการเงินและบัญชี

ที่ข่าวในตอนแรกระบุว่าได้ทำการโอนเงินที่ใช้ดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เข้าบัญชีส่วนตัว เป็นจำนวนเงินกว่า 13 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนต่อมาภายหลังปรากฎว่า เงินไปจำนวน 13 ล้านบาทนั้น เป็นการขโมยเงินในส่วนของเงินค้ำประกันของเอกชน เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีพฤติกรรมตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 64 ทำการขโมยเงินไปจากบัญชี ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านโอนเข้าบัญชีตัวเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนไหน อยู่ในหรือนอกงบประมาณ การทุจริตก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นการทุจริตที่อธิบายได้อย่างชัดเจนด้วยกรอบ “สี่เหลี่ยมทุจริต”หรือ Fraud Diamond

อะไรคือ “สี่เหลี่ยมทุจริต”หรือ Fraud Diamond

เป็นกรอบความคิดที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงองค์ประกอบที่จะเอื้อให้เกิดการทุจริต เพื่อจะหาทางป้องกันแก้ไขได้อย่างตรงจุดและเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยกรอบความคิดนี้จะให้แนวคิดว่า การจะเกิดทุจริตใดๆขึ้นในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม จะถูกขับจากปัจจัย 4 ด้านเสมอ ปัจจัย 4 ด้านที่ว่านี้ประกอบด้วย

  • โอกาส (Opportunity) คือ มีช่องทางที่จะดำเนินการได้ เหตุการณ์ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการทุจริต จะเป็นสถานการณ์ที่เปิดช่องให้คนใดคนหนึ่งกระทำการทุจริตได้โดยที่เขารู้ว่าหรือเชื่อว่า เขาไม่มีโอกาสถูกจับได้หรือมีโอกาสน้อยที่จะถูกจับได้ องค์กรใดก็ตามที่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังที่จะป้องกันการทุจริตก็เท่ากับเปิดโอกาสหลายๆครั้งให้กับคนมีแนวโน้มจะทำการทุจริตได้
  • แรงจูงใจหรือแรงกดดัน (Pressure/Motivation) มาจากหลายรูปแบบ เช่น ปัญหาการเงิน หนี้สิน การพนัน ติดเหล้าหรือยาเสพย์ติด ชอบเที่ยวเตร่ มีค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ท่วมหัว ความละโมบโลภมาก ถือเป็นแรงผลักอย่างหนึ่ง และก็มีบางกรณีจะมาจากความรู้สึกว่า ตัวเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กร
  • การมีข้ออ้างให้ตนเอง (Rationalization) คนที่กระทำการทุจริต จะหาเหตุผลกับตนเองที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ ด้วยฐานความคิด(Mindset)ที่สนับสนุนการกระทำการทุจริต หาข้ออ้างที่ยกมาเพื่อให้ตนเองลดความรู้สึกผิดในการกระทำทุจริต เช่น เงินเดือนน้อย หัวหน้าไม่เป็นธรรม ใครๆก็ทำกัน เป็นต้น

ซึ่งในสามปัจจัยข้างต้นรวมเป็นกรอบที่ใช้วิเคราะห์การเกิดทุจริตที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมทุจริต” หรือ Fraud Triangle ซึ่งต่อมาภายหลัง ได้มีปัจจัยที่ 4 เข้ามาทำให้การวิเคราะห์แหลมคมขึ้น กลายเป็น “สี่เหลี่ยมทุจริต” ปัจจัยที่ว่านั้นคือ การมีศักยภาพที่จะทำได้ (Capability)

  • การมีศักยภาพที่จะทำได้ (Capability) เกิดจากการที่อยู่ในตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่จะควบคุมขั้นตอน กำหนดแนวทางการตัดสินใจ หรือมีคนที่ทำงานแบบนี้ได้น้อย หรือเป็นคนถือรหัสผ่านเข้าถึงเงินในบัญชี เป็นต้น

ซึ่งปัจจัยทั้งสี่ปัจจัยนั้น ปัจจัยใดก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรกๆได้ไม่ได้เรียงลำดับ เมื่อมีปัจจัยตัวใดเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะนำไปสู่การเกิดปัจจัยอื่นตามมา และยิ่งมีจำนวนปัจจัยเกิดขึ้นมากเท่าใดก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดทุจริตมากขึ้น

การนำสี่เหลี่ยมทุจริตไปวิเคราะห์กรณีทุจริตของข้าราชการพม.

หากดูจากกรณีทุจริตของข้าราชการพม.ที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เราจะสามารถนำ “สี่เหลี่ยนทุจริต” มาวิเคราะห์ได้ดังนี้

1.   การมีโอกาส (Opportunity): สำหรับกรณีนี้ชัดเจนมากว่า เขามีโอกาสเพราะเป็นหัวหน้างานบัญชี มีหน้าที่ดูแลเงินนอกงบประมาณที่มีช่องโหว่ในการควบคุม ได้เห็นการเดินทางเข้าออกของเงิน จึงมองเห็นช่องทางได้

2.   การเกิดแรงจูงใจ (Incentive): แม้โดยเนื้อหาข่าวจะไม่ชัดเจนว่ามีแรงจูงใจอะไร แต่โดยธรรมชาติของคนที่มีโอกาสดูแลเงินที่มีการควบคุมอย่างหละหลวมเช่นกรณีนี้ ย่อมทำให้เกิดความละโมลโลภมากที่เป็นแรงจูงใจให้ลงมือทุจริตได้

3.   การมีข้ออ้างให้ตนเอง (Rationalization): แน่นอนว่า เราไม่ได้รู้ว่าเขามีข้อ้อางกับตัวเองว่าอย่างไร แต่หากเราอ่านพฤติกรรมเช่นนี้ของเขาที่ค่อยโยกเงินเข้าบัญชีที่ละเล็กทีละน้อย ก็พอจะอนุมานได้ว่า เขาน่าจะบอกกับตัวเองว่า ทีละน้อยไม่น่าเป็นไร คงไม่มีใครจับได้

4.   การมีศักยภาพที่จะทำได้ (Capability): กรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่มีความชัดเจนว่าปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดโอกาสทุจริตเพราะข้าราชการคนนี้มีศักยภาพที่จะทำได้ด้วยมีอำนาจในการดำเนินการเพราะขาดกระบวนการที่มากลั่นกรองตรวจสอบ ทำให้เร่งการกระทำทุจริตได้ง่าย

แนวทางการป้องกันโดยกรอบสี่เหลี่ยมทุจริต

หากเราจะนำสี่เหลี่ยมทุจริตมากำหนดแนวทางการป้องกันกรณีทุจริตที่ผมยกมา เราจะได้แนวทางอย่างน้อยดังนี้

1.  ปิดหรือลดโอกาสในการเกิดการทุจริต ควรกำหนดให้มีขั้นตอนการตรวสอบเพื่อป้องปรามไม่ให้คนที่อยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องเงินมองเห็นโอกาส กำหนดให้การเบิกหรือโอนย้ายเงินทั้งในงบประมาณหรือนอกงบประมาณต้องมีขั้นตอนการอนุมัติ มีการหมุนเวียนงานไม่ให้คนที่อยู่ในตำแหน่งเกี่ยวกับเงินๆทองๆอยู่นานเกินไป รวมทั้งควรมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตอยู่เป็นระยะๆ

2.  ลดการเกิดแรงจูงใจ ด้วยการติดตาม สังเกตการใช้ชีวิต หรือเรื่องส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงไป หากเห็นพฤติกรรมที่ผิดสังเกตก็ควรเข้าไปสอบถามเพื่อให้ทราบความทุกข์ร้อนใจและให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งควรมีการตอกย้ำให้เห็นผลของการทุจริต รวมทั้งมีการกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจเพื่อสื่อสารและส่งเสริมให้เกิดชึ้นในองค์กร

3.  จำกัดเหตุที่จะทำให้พนักงานหาข้ออ้างให้ตนเอง : โดยปลูกฝังวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับพนักงาน พิจารณาการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม และมีการนำกรณีตัวอย่างผลของการทุจริตที่กระทบถึงพนักงานและครอบครัว

4.   ลดทอนการมีศักยภาพที่จะทำได้: ไม่ควรให้พนักงานคนใดคนหนึ่งผูกขาดการรู้เรื่องเนื้อ งาน กระบวนการทำงานเกี่ยวกับเรื่องเงินงานไว้เพียงคนเดียว ควรมีการสอนงาน ถ่ายทอดงานให้บุคคลอื่น วางระบบ Check and Balance ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงิน และควรหมุนเวียนคนที่อยู่ในตำแหน่งเสี่ยงทุก 3-4 ปี

แม้จะมีคนบางคนบอกว่า การทุริตเป็นนิสัยถาวรฝังรากในสังคมเอเชียและสังคมไทย เราไม่มีทางแก้ได้ แต่ผมกลับมีความเชื่อว่าเราแก้ไขได้ เราป้องกันได้

อย่างน้อยหากเราเดินตามแนวทางของ “สี่เหลี่ยมทุจริต” เราก็จะมีเครื่องมือที่รอบด้านไปใช้วิเคราะห์และวางมาตรการเชิงป้องกันการเกิดทุจริตได้อย่างมีประสิทธภาพ

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://www.agacgfm.org/Intergov/Fraud-Prevention/Fraud-Awareness-Mitigation/Fraud-Triangle.aspx 

https://digitalcommons.kennesaw.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=2546&context=facpubs 

_______________________________________________________________________________