posttoday

มาตรการพักชำระหนี้-เยียวยาล็อกดาวน์...ช่วยธุรกิจรอดไหม

19 กรกฎาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่ก่อนหน้านี้เมื่อมาเจอกับโควิดรอบใหม่ ทำให้คนป่วย-คนเสียชีวิตทำสถิติสูงเป็นรายวันจนต้องประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างแทบหมดลมหายใจ ทางออกของปัญหาคือมาตรการเยียวยาต้องคู่ไปกับฉีดวัคซีนซึ่งวันนี้สับสนมากๆ คนที่ฉีด “ยี่ห้อตกเกรด” ก็กังวลว่าจะเอาอย่างไร ส่วนคนที่ยังไม่ถึงคิวฉีดจากแนวโน้มวัคซีนอาจมาไม่ตามนัดก็ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่ทั้งหมอ-รัฐมนตรีพูดเรื่องเดียวกันแต่ประเด็นไม่เหมือนกันทำให้ประชาชนไม่รู้ชะตาว่าจะเป็นอย่างไร

ฉบับนี้ขอเจาะประเด็นสภาพคล่องของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาวะแทบจะไปต่อไม่ไหว จากข้อมูลกระทรวงการคลังหนี้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และ SME ที่อยู่ในมาตรการพักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนประมาณ 21,310 กิจการวงเงินหนี้ 87,948 ล้านบาท ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างมีจำนวนถึง 3.21 ล้านบัญชีวงเงินหนี้ 1.18 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาด แค่ช่วงปีเศษหนี้ของประชาชนสูงขึ้นถึง 1.158 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 9.0 สูงเป็นประวัติการณ์ ตัวเลขนี้เป็นหนี้สถาบันการเงินไม่รวมหนี้นอกระบบบ่งชี้ว่าวิกฤตรอบนี้เล่นงานทั้งงานภาคธุรกิจและประชาชนอย่างรุนแรง

กลับมาที่ภาคธุรกิจสภาพคล่องหรือเงินหมุนเวียนคือปัจจัยสำคัญว่าองค์กรจะไปต่อได้หรือไม่ในภาวะที่รายได้จากลูกค้าหายไปโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด อีกทั้งปัจจัยจากการจับจ่ายใช้สอยลดลงยิ่งทำให้รายได้ลดหายไปเมื่อมาเจอกับการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวยิ่งเป็นการซ้ำเติม ร้านค้า-ร้านอาหารระบุว่ารายได้ลดเหลือร้อยละ 20 ธุรกิจรายย่อยและบริการที่ปิดตัวหรือกำลังจะเจ๊ง ภาวะเช่นนี้จะยิ่งซ้ำเติมการว่างงานที่จำนวนเฉียดล้านคนและตัวเลขว่างงานแฝงมีไม่น้อยกว่า 1.27 ล้านคน

ล่าสุดกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือกับธนาคารต่างๆ ออกมาตรการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มจำนวน 10 จังหวัดคงไม่ต้องบอกว่าจังหวัดไหน  รู้กันอยู่แล้ว ที่ต้องเข้าใจการ “พักชำระหนี้” คือพักจ่ายเงินต้น-ดอกเบี้ยแต่ระหว่างพักชำระหนี้ดอกเบี้ยยังเดินต่อไม่หยุดต่างจากมาตรการ “พักหนี้” ที่จะหยุดคิดดอกเบี้ย เห็นว่าสองเดือนน้อยไปคงไม่ง่ายที่ธุรกิจหลัง  ล็อกดาวน์จะกดปุ่มฟื้นตัวได้ง่ายๆ อย่างน้อยควรจะเป็นเวลา 1 ปีให้เขาตั้งตัวได้และไม่ควรคิดดอกเบี้ยหรือลดครึ่งหนึ่งเป็นการประคับประคองธุรกิจในยามยาก ต้องเข้าใจว่าการฟื้นฟูให้ภาคเอกชนกลับมาเดินต่อด้วยตนเองเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอไม่เช่นนั้นจะมีการ “เทคนออกมา” กลายเป็นภาระที่รัฐบาลต้องแบกไม่    จบสิ้น

ได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารแบงค์ใหญ่ยอมรับว่าช่วงนี้ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษไม่ใช่เฉพาะ SME แต่ธุรกิจใหญ่ๆ เจอวิกฤตระลอกนี้ถึงกับเซกันมาก เกณฑ์พิจารณาสินเชื่อที่แบงค์ใช้ เช่น  ธุรกิจยังเปิดกิจการมีรายได้สม่ำเสมอธุรกิจไปได้ดีมีโอกาสได้สินเชื่อสูงแต่หลักประกันยังคงมีสำคัญพอๆ กัน หากปิดกิจการหรือหรือปิดๆ หยุดๆ คงปล่อยได้ยาก อีกทั้งพิจารณาความสามารถธุรกิจว่ารายได้พอชำระหนี้โดยใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า “DSR : Debt credit ratio” คือภาระผ่อนหนี้รายเดือน “หาร” ด้วยกำไรสุทธิเฉลี่ยในรอบเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติการชำระหนี้รวมถึงสภาพธุรกิจไม่อยู่ในวิสัย  ที่จะสามารถชำระหนี้ ต้องเข้าใจว่าสถาบันการเงินช่วงเวลานี้เจอหนี้เสียแฝงอยู่มากหนี้ที่ปรับโครงสร้างมีจำนวนถึง 1.26 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ประเภทโรงแรมและเกี่ยวกับท่องเที่ยวต้องยืดหนี้พักหนี้ 5-10 ปี    หรือมากกว่าเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย ณ วันนี้ไม่ใช่ลูกหนี้กลัวเป็น NPL แต่กลับเป็นแบงค์เอง 

ขอวกกลับมาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาธุรกิจ 10 จังหวัดที่ถูกล็อกดาวน์ที่ช่วยทั้งนายจ้างและลูกจ้างรายละเอียดคงทราบดีกันอยู่แล้ว ประเด็นคือเงื่อนไขว่าต้องเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทบ ได้รับการชี้แจงว่าพื้นที่ซึ่งประกาศล็อกดาวน์ถือว่าล้วนได้รับผลกระทบทำให้หมดสงสัยไปได้ในระดับหนึ่ง สำหรับเงื่อนไขไป   ผูกกับ 9 คลัสเตอร์ตามที่ครม.มีมติโดย 4 คลัสเตอร์แรก เช่น ก่อสร้าง, ที่พักแรม, ศิลปะ-บันเทิงและบริการอื่นๆ ทราบว่าสามารถใช้สิทธิได้แล้ว ส่วนที่เหลือ 5 คลัสเตอร์ที่เรียกเป็นทางการว่า “ประเภท” เข้าใจว่า    2-3 วันจากนี้ทางสำนักงานประกันสังคมจะออกประกาศแนวทางในการยื่นขอ สถานประกอบการรวมถึงลูกจ้างที่อยู่ในข่ายว่าจะได้เงินเยียวยาให้ไปดู “รายการประเภทกิจการ” ที่ธุรกิจของแต่ละรายไปขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม เช่น ประเภทขายส่ง-ขายปลีกจะอยู่ใน “หมวดใหญ่ G” หากเป็นขนส่ง-สถานที่เก็บสินค้าอยู่ใน “หมวดใหญ่ H” โดยแต่ละหมวดใหญ่จะมีรหัสของแต่ละธุรกิจซึ่งหนาเป็นปึก

มาตรการพักชำระหนี้ SME รวมถึงการเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างทั้งในระบบและนอกระบบ 9 คลัสเตอร์ในพื้นที่ซึ่งถูกประกาศล็อกดาวน์ดูตัวเงินแล้วก็ไม่น้อยสมมุตินายจ้างหากมีลูกน้อง 100 คนจะได้เงินไปสามแสนบาท ในยามยากก็คงพอช่วยอะไรได้บ้างแต่เม็ดเงินเพียงเท่านี้คงไม่ได้ช่วยทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอยู่รอดได้เพียงแค่ประทังต่อลมหายใจได้อีก 1-2 เดือน กรณีลูกจ้างสมมุติได้ค่าจ้าง 400 บาทต่อวันก็จะได้รับเงินเยียวยารวมกันประมาณ 8,500 บาทบางรายอาจถึงหมื่นบาทถือเป็น “แจ็คพอต” เหมือนได้โบนัสกลางปีจะใช้จ่ายอะไรก็ให้ระมัดระวัง

สำหรับผู้ที่ต้องการได้เงินเยียวยาทั้งตัวนายจ้างและลูกจ้างจะต้องขวนขวายหาข้อมูลเพิ่มเอาเองที่ผมระบุมาเป็นแค่ไกด์ไลน์หรือจะลองโทรไปคุยกับประกันสังคมในพื้นที่ (ช่วงนี้สายต่อยากมาก) เท่าที่ผมประเมินหากใช้เกณฑ์ที่กระทรวงแรงงานให้ข้อมูลโดยใช้ประเภทธุรกิจที่ไปจดทะเบียนกับประกันสังคมเป็นหลักก็น่า   จะเวิร์ค มาตรการเยียวยาครั้งนี้รัฐบาลใจถึงประเด็นคือเตรียมเงินไว้พอไหมหากใช้เกณฑ์ที่กล่าว “งบ 3 หมื่นล้านบาท” น่าจะเอาไม่อยู่ ที่ผมให้รายละเอียดได้เพราะได้รับการชี้แจงจากผู้บริหารของกระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่ประกันสังคมในพื้นที่ต้องขอชื่นชม....จริงๆ นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat