posttoday

ล็อกดาวน์พื้นที่สีแดง...สู้ระบาดโควิด มาก่อนเศรษฐกิจ

12 กรกฎาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ที่สุด “ศบค.” ชุดใหญ่ที่นายกฯ นั่งหัวโต๊ะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาประกาศมินิล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงกทม.และปริมณฑล ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทำสถิติ 9,276 คน ทำให้ช่วงเมษายนถึงปัจจุบันจำนวนคนติดเชื้อมากกว่า 3 แสนคนและเสียชีวิตมากกว่า 2,500 ราย  จนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกดดันให้รัฐบาลต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจพังกับชะลอการแพร่ระบาดจึงเป็นที่มาของมาตรการจำกัดการเดินทาง 14 วันมีผลบังคับใช้ไปแล้วแต่รัฐบาลยังไม่วายรักษาภาพพจน์ระบุว่าไม่ใช่ล็อกดาวน์และการจำกัดคนออกนอกบ้านหลัง 22.00-04.00 น. ไม่เรียกว่า “เคอร์ฟิว” เพราะการขอความร่วมมือประชาชนรายละเอียดต่างๆ คงรู้ไปหมดแล้วไม่ขอกล่าว

ปัญหาวัคซีนล่าช้าซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเพราะโยนกันไปมาและยังไม่รู้ถึงสาเหตุจะอ้างว่าไม่มีสตางค์คงไม่ใช่เพราะประเทศไทยไม่ได้ยากจนข้นแค้นมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.810 แสนล้านเหรียญสหรัฐสูงติดอันดับ 12 ของโลกเป็นรองประเทศเยอรมันเล็กน้อยทำให้สามารถออกพันธบัตรเพื่อไปกู้เงินได้อีกมาก ไม่ได้ยากจนขนาดนายกฯ และรัฐมนตรีหลายท่านยอมสละไม่รับเงินเดือนเพื่อมาใช้เยียวยาเศรษฐกิจ ปัญหาวัคซีนล่าช้าและขาดการวางแผนรับมือโควิดกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลวันนี้แก้ยังไม่จบยังมีคนที่จองผ่าน “ไทยร่วมใจ” ยังถูกเลื่อนคิวทำให้เป็นคำถามว่าบริหารทำกันอย่างไรจึงพาประเทศและคนไทยมาจนถึงจุดนี้ 

สะท้อนจากภาพคนป่วยล้นโรงพยาบาลขนาดโรงพยาบาลสนามเตียงยังไม่พอต้องใช้โรงแรมที่ปรับเป็น “Hospital” รองรับคนป่วยซึ่งก็ยังไม่พอเพียงอยู่ดี ทำให้คนติดเชื้อจำนวนมากรอคิว 4-5 วันที่บางรายถึงตายคาบ้านหรือต้องไปกางมุ้งรอข้างถนน คนป่วยก็เรื่องหนึ่งแม้แต่คนต้องการจะตรวจหาเชื้อหรือที่เรียกว่า “สวอป” (Swab) ถึงจะยอมจ่ายสตางค์เป็นหลัก 2-3 พันบาทแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่รับตรวจเพราะเงื่อนไขไปผูกว่าต้องรับรักษาซึ่งโรงพยาบาลทั้งรัฐ-เอกชนเต็มทั้งนั้น บางโรงพยาบาลของรัฐรับตรวจแต่ต้องไปรอตั้งแต่หัวค่ำเพื่อตรวจตอนเช้า ที่สำนักงานของผมวันที่เขียนบทความทางประกันสังคมแจ้งว่าให้ไปฉีดวัคซีนได้พนักงานต่างโห่ร้อง  ดีใจภาพเล่านี้สะท้อนถึงอะไร

ผลกระทบอย่างที่ทราบกันท่องเที่ยวกระทบหนักสุดมีความพยายามนำร่อง “ภูเก็ตแซนบล็อก” คงต้องมีการประเมินว่าหลังรัฐบาลประกาศโควิดระบาดระลอก 4 มีการ “มินิล็อกดาวน์และกึ่งเคอร์ฟิว” จะมีผลกระทบอย่างไรต่อการฟื้นท่องเที่ยว ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งแก้ยากมากๆ คือสภาพคล่องทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่เจอพิษโควิดต่อเนื่องมากว่า 16 เดือน ที่เห็นชัดเจนคือร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ร้านทำผม-เสริมสวย บริการต่างๆ นวดแผนโบราณและนวดข้างอ่างรวมถึงแม่ค้าหาบเร่-แผงลอย อาชีพอิสระที่เศรษฐกิจปิดๆ เปิดๆ มาเจอล็อกดาวน์รอบนี้ถึงจะเปิดให้แผงอาหารสามารถขายของได้แต่ยังติดเคอร์ฟิวไม่เกิน 4 ทุ่มลูกค้าคงหายไปมาก ภาวะของธุรกิจรายย่อยและ SME เงินหมดกระเป๋าจะไปกู้แบงค์ก็ยากต้องไปกู้นอกระบบ หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นหนี้ผ่านสถาบันการเงินพุ่งสูงสุดในรอบหลายปีแม้แต่อาชีพบันเทิงก็กระทบ ดารา-ซีเล็ปเปิดหน้าออกมาโวย

ความเห็นผมต้องยกเครื่องปัดฝุ่นมาตรการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูตามพรก.จำนวนเงิน 2.5 แสนล้านบาท ช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปลายเดือนมิถุนายนปล่อยได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 16 เหตุพราะแบงค์ต่างๆ ในเวลาเช่นนี้เขาระวังตัวมากเพราะหนี้เสียแฝงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับโครงการพักหนี้หรือ “Asset Warehouse” ช่วงสามเดือนมีผู้เข้าโครงการเพียง 7 รายจำนวนเงินที่ปรับโครงสร้างหนี้จำนวนเงิน 922 ล้านบาทสัดส่วนแค่ร้อยละ 0.92 คงต้องไปดูช่องว่างว่าอะไรเป็นปัญหา อยากรู้ว่าปัญหาของธุรกิจและหนี้ประชาชนหนักหนาแค่ไหนคงต้องไปส่องกล้องลูกหนี้แบงค์กำลังรอปรับโครงสร้างอีก 3.23 รายวงเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทเห็นตัวเลขนี้แล้วน่าตกใจว่าทั้งธุรกิจและประชาชนอยู่ในสภาพอย่างไร

รัฐบาลเข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีแต่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของภาคเอกชนการเข้าช่วยเหลือทำได้อย่างจำกัดที่ทำได้และใช้เงินไปมากคือเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผ่านโครงการต่างๆ ใช้เงินไปแล้วใกล้ล้านล้านบาทที่กำลังทำอยู่คือมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบใช้เงิน 8,500 ล้านบาทซึ่งคงช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ระดับหนึ่ง

มาตรการที่ผ่านมาเป็นแค่การซื้อเวลาไม่ได้แก้ที่โครงสร้างพองบประมาณหมดก็กลับไปเหี่ยวเหมือนเดิมคงต้องเตรียมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งต่อไปเพียงแต่ว่าจะมีงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้นานเพียงใด ทางที่ดีต้องให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวโดยเฉพาะสภาพคล่องไปดูว่าทำไมจึงไม่สามารถปล่อยเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ได้ อีกทั้งต้องไม่ออกมาตรการอะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้เอกชนค้าขายได้ยากเพราะโควิดก็แย่อยู่แล้ว ในเวลาเช่นนี้หน่วยงานของรัฐและข้าราชการทุกระดับต้องช่วยชาติด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเดินหน้าไม่ใช่คอยแต่จ้องหาเรื่องจับผิดแล้วชาติบ้านเมืองจะไปรอดได้อย่างไร

การล็อกดาวน์กทม.และปริมณฑลหรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากปล่อยไประบบสาธารณสุขจะพังมากกว่าที่เป็นอยู่ แน่นอนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนวนมากที่ทรงๆ ทรุดๆ สถานประกอบการและธุรกิจต่างๆ รวมถึงอาชีพอิสระ ร้านค้า แผงลอยซึ่งอาการล่อแล่อยู่แล้วจะทนได้แค่ไหน เกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมากซึ่งเฉียด 1 ล้านคนเป็นผู้ว่างงานไปก่อนแล้วยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เรียกว่า “เสมือนว่างงาน” ที่ทำงานในธุรกิจเหล่านั้นซึ่งประเมินว่ามีประมาณ 3-4 ล้านคนจะวิกฤตแค่ไหน การล็อกดาวน์จึงต้องมีมาตรการเยียวยาคู่ขนานให้เขาเหล่านั้นยังมีลมหายใจรวมถึงแรงงานกลุ่มเปราะบางยังมีรายได้เลี้ยงปากท้องครอบครัว

อีกทั้งจะต้องเตรียมมาตรการบริหารความเสี่ยงรับมือหากล็อกดาวน์แล้วยังคุมโควิดไม่อยู่แถมเศรษฐกิจทรุดตัวหนักกว่าเดิม ที่สำคัญ “Work From Home 100%” หากให้ได้ผลต้องให้หน่วยราชการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ยังเป็นลักษณะ “ขอความร่วมมือ” จะได้  ผลมากน้อยเพียงใดที่สำคัญจะควบคุมอย่างไรไม่ให้ประชาชนทั้งที่ถูกล็อกดาวน์และให้ทำงานที่บ้านไม่ให้เคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาเหมือนกับครั้งที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นการซ้ำเดิมสถานการณ์ให้ซ้ำซ้อนหนักกว่าเดิม ทั้งหมดล้วนเป็นโจทย์หินท้าทายภาวะผู้นำประเทศ....หมดกระดาษจบดื้อๆ ครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat