posttoday

ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทย....อัดฉีดงบเยียวยา 7 แสนล้านฟื้นไม่ฟื้น ?

24 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ก่อนตอบคำถามสัปดาห์ที่แล้วครม.ไฟเขียวพรก.เยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 7 แสนล้านบาทจะสามารถฉุด เศรษฐกิจไทยพ้นก้นเหวได้หรือไม่ ก่อนอื่นขอเลียบเคียงเพื่อให้ภาพภูมิทัศน์เศรษฐกิจว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องกู้เงินรอบ ใหม่ เริ่มจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานเศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 2.6 เป็น การหดตัวบนฐานติดลบจากปีที่แล้วซึ่งเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 1.8 มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่จากเดิมคาด ว่าจะขยายได้ร้อยละ 3 เหลือค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.0 มีแต่ภาคส่งออกที่ยังขยายตัวส่วนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ยังบ่งบอก ถึงอาการไม่สู้จะดีโดยเฉพาะกำลังซื้ออ่อนแอขนาดได้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมาช่วยยังหดตัวถึงร้อยละ -0.5

ที่พอเห็นเริ่มเห็นแสงสว่างคือการลงทุนเอกชนไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสเห็นได้จากตัวเลขนำเข้าสินค้าทุน-เครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 7.24 และการนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวได้ร้อยละ 26.3 อาจทำให้กำลังการผลิตกลับมาขยายตัวและเป็นปัจจัยบวกต่อชั่วโมงการทำงานให้ดีขึ้น ข้อมูล จากกระทรวงแรงงานสถานประกอบการต่างๆ จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จากเวลาทำงาน เต็ม 48 ชั่วโมงขณะที่ “TDRI” ระบุว่าคนที่ทำงาน 20-39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีประมาณถึง 10 ล้านคน

ที่รัฐบาลและภาคเอกชนกังวลคือความไม่เสถียรของการจ้างงานสะท้อนได้จากการนำข้อมูลของรายงาน ภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 1/2564 จัดทำโดยกระทรวงแรงงานสามารถวิเคราะห์ถึงภาวะการจ้างงานที่มี ความไม่แน่นอนสูงเห็นได้จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งระบบเปรียบเทียบปลายปีพ.ศ.2563 กับเดือนมีนาคมปีนี้มีแรงงาน หายไปถึง 1.18 ล้านคนหรือลดลงร้อยละ 3 จำนวนผู้ว่างงานจาก 5.9 แสนคนเพิ่มเป็น 7.58 แสนคนหรือช่วง 3 เดือน มีคนว่างงานในระบบเพิ่มขึ้น 1.68 แสนคนคิดเป็นร้อยละ 28.5 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 77.6 เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงาน มาก่อน อีกทั้งยังพบว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันมีจำนวนถึง 4.38 ล้านคนถือเป็น ผู้เสมือนว่างงานหรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ว่างงานแฝง หากเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้วมีผู้ว่างงานแฝงแค่ 2.35 ล้านคน แสดงว่าแค่ 3 เดือนมีผู้ว่างงานแฝงเพิ่มมากขึ้นถึง 2.03 ล้านคนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจคิดเป็นร้อยละ 86.4

ที่กล่าวข้างต้นเพื่อให้เห็นว่า GDP ไตรมาสแรกที่หดตัวมาจากภาคเศรษฐกิจจริงหรือ “Real Sector” ที่มี ปัญหาจากผลกระทบจากวิกฤตโควิดโดยสะท้อนออกมาให้เห็นถึงภาวะการทำงานของประชากรที่มีความเปราะบาง และไม่แน่นอนในระดับสูง นอกจากนี้รายงานผลสำรวจธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงมกราคม-มีนาคมพบว่าเศรษฐกิจที่หดตัวสะท้อนถึงสภาพที่เป็นจริงของภาคธุรกิจโดยผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 63 ระบุว่าจะไม่มีการจ้างงานเพิ่ม ส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเร็วอาจเป็นไตรมาส 2 ของปีหน้า ด้านผลกระทบแตก ต่างกัน เช่น ภาคการค้ารายได้หายไปร้อยละ 16 เหตุจากผู้บริโภคฐานรากส่วนใหญ่ไม่มีสตางค์จับจ่ายใช้สอยดำรงชีพ อยู่ได้จากเงินใน “แอพเป๋าตัง” ที่รัฐบาลใส่เงินมาเป็นระยะๆ ด้านอุตสาหกรรมการผลิตยังพอไปได้แต่รายได้ยังหดตัว ร้อยละ 7

ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยภาคส่วนที่ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวได้ในปีนี้คือภาคท่องเที่ยวที่รายได้หดตัวไปถึงร้อยละ 88 เป็นตัวเงินทั้งระบบเทียบกับปีพ.ศ.2562 เม็ดเงินภาคท่องเที่ยวหายไปถึง 2.64 ล้านล้านบาทจึงไม่แปลกใจว่าทำไม เศรษฐกิจจึงหดตัวและชาวบ้านจึงไม่มีสตางค์ การฟื้นตัวคงใช้เวลาเป็นปีเห็นได้จากประเทศในอาเซียนยังติดโรค งอมแงมแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นยังสู้รบกับโควิดไม่จบโอลิมปิกเกมส์มีโอกาสสูงอาจถูกยกเลิก แม้แต่โครงการ “Travel Bubble” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยที่เตรียมผลักดันภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโมเดลอาจทำได้แค่เตรียมความพร้อม การกลับมาของภาคท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับปัจจัยวัคซีนของ “หมอตู่” จะต้องฉีดให้ประชาชนให้ได้ร้อยละ 70 เพื่อสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่และการระบาดต้องหมดไปจากโลกแล้วค่อยมาว่ากันใหม่

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 มีผลกระทบอย่างแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่อ่อนแอ เป็นทุนอยู่แล้วให้ทรุดตัวลงไปอีก ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงขณะนี้รัฐบาลใช้เงินจากพรก.เยียวยาเศรษฐกิจบวกกับเงิน งบประมาณขาดดุลและเงินประกันสังคมรวมกันประมาณร้อยละ 12.7 ของจีดีพีส่วนใหญ่เป็นการใส่เงินเข้าถึงมือกลุ่ม เปราะบาง หลังเงินเยียวยาเกือบหมดเศรษฐกิจก็ยังแค่อยู่ได้ระดับประคองตัวหรือทรุดตัวไปกว่าเดิมจนต้องปรับลดการ เติบโตทางเศรษฐกิจ การที่ออกพรก.กู้เงินรอบใหม่เจ็ดแสนล้านบาทในยามที่เศรษฐกิจอ่อนแอสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะ SME ส่วนใหญ่กำลังใกล้เจ๊งมีแรงงานว่างงานแฝงหรือเสมือนว่างงานกว่าสี่ล้านคน หากจะเดินหน้าฟื้น เศรษฐกิจคงไม่มีทางเลือกโดยรัฐบาลต้องทำตัวเป็นเจ้าภาพ ข้อสังเกตุเงินกู้ตามพรก.ฉบับใหม่งบที่ใช้ด้านสาธารณสุข และเพื่อจัดหาวัคซีนตั้งงบประมาณไว้แค่ 3 หมื่นล้านบาท อันที่จริงวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นฟูวิกฤตแต่ทำไม จึงใช้เงินเพียงแค่สัดส่วนร้อยละ 4.4 เท่านั้น

ประเด็นซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญคือเงินกู้จำนวนมากซึ่งเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้ต้องให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมาย อย่างช้าปลายมิถุนายน เงินมีจำกัดอย่าใช้วิธีสะเปะสะปะหรือเหวี่ยงแหเป็นเบี้ยหัวแตกต้องช่วยกลุ่มที่อ่อนแอและ ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ข้อเท็จจริงคนไทยไม่ใช่จนไปหมดกลุ่มคนที่ช่วยตัวเองได้ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เช่น ราชการ-ลูกจ้างรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ทำงานกับบริษัทส่งออกหรือธุรกิจใหญ่ๆ ตลอดจนเจ้าของ กิจการที่จดทะเบียนธุรกิจกว่า 7-8 แสนรายกลุ่มประชากรนี้รวมๆ กันน่าจะเกิน 3.5-4.0 ล้านคน หากจะกระตุ้นเร่งให้ ใช้จ่ายเงินอาจใช้ “Voucher” หรือคูปองชดเชยก็น่าจะเพียงพอ

งบกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่รวมกับเงินเดิมที่ยังพอเหลืออยู่น่าจะมากพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ระดับหนึ่ง แต่จะให้ฟื้นได้จริงอย่างยั่งยืนต้องให้ธุรกิจยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเศรษฐกิจไทย เช่น ส่งออก, ท่องเที่ยว, ค้าปลีก, บริการ อิงอยู่กับเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงมากการฟื้นตัวกลับไปเหมือนก่อนหน้านี้คงอยู่อีกห่างไกล สำหรับมาตรการเพื่อ รักษาการจ้างงานที่ต้องเร่งเข้าไปดูคือเงินกู้เสริมสภาพคล่อง 2.7 แสนล้านบาทเพื่อให้ธุรกิจที่พอไปได้สามารถเดิน หน้าต่อ ปัญหาคือนโยบายชัดเจน เงินมี ดอกเบี้ยก็ถูกแถมบสย.เข้ามาค้ำประกันทำไมผ่านมาเดือนเศษปล่อยสินเชื่อได้ นิดหน่อย ดูเหมือนว่ารอบนี้สถาบันการเงินอืดอาดวิกฤตเศรษฐกิจทรุดตัวแรงจึงเข้มงวดกอดเงินไม่ค่อยอยากจะปล่อย สินเชื่อมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจที่ผมรู้จักและไม่รู้จักหลายรายฝากมาถามว่าขนาดธุรกิจยังดี-หลักประกันมี แต่ก็กู้ไม่ผ่าน....กระทรวงการคลังหรือผู้ที่รับผิดชอบช่วยชะโงกไปดูบ้างนะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sora