posttoday

ภูมิทัศน์การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานหลังพ้นวิกฤตจากโควิด...จะก้าวผ่านได้อย่างไร

17 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ฉบับนี้ขอวิเคราะห์ตลาดแรงงานหลังพ้นวิกฤตว่าภูมิทัศน์จะเป็นอย่างไรทั้งรัฐบาล-เอกชน-มนุษย์เงินเดือนหรือแรงงานจะต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด ความเห็นของผู้เขียนการเข้ามาของเทคโนโลยีอัจฉริยะในรูปแบบต่างๆ จะมีบทบบาทต่อทุกอณูของระบบเศรษฐกิจมีพลวัตรต่อการจ้างงานรวมถึงลักษณะของอาชีพจะเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

มีการคาดการณ์ว่าถึงแม้ไวรัสโคโรนายุติ ซึ่งคงไม่ได้เห็นในเร็วๆ นี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาใกล้เคียงหรือเท่ากับปีพ.ศ.2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดอย่างน้อย 3 ปี อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้อาจเร็วไปที่จะสามารถบ่งชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะยุติลงได้เมื่อใด เพียงแต่อยากให้ข้ามช็อตมองอนาคตข้างหน้าเพื่อให้เห็นภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการกลับมาดำเนินชีวิตเพื่อการก้าวผ่านอย่ามัวไปติดอยู่กับอดีตจนไม่เห็นอนาคต

บริบทหลังวิกฤตจะเห็นการเร่งตัวของสมาร์ทเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนทำให้เกิด “Smart Society” ที่จะเห็นชัดเจนคือรูปแบบการทำงานและการจ้างงาน ซึ่งไม่ต้องเข้าสำนักงานจะกลายเป็นกระแส อาชีพอิสระประเภท “Gig Worker” จะกลายเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่และ/หรือผู้ที่ต้องถูกออกจากงานหรือหางานทำไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ทั้งนายจ้างและตลาดแรงงาน แนวโน้มเริ่มเห็นชัดเจนในหลายประเทศ  รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนไทยเริ่มนำมาใช้อย่างเงียบๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนสถานะของลูกจ้างประจำไปเป็นเอ้าท์ซอร์ซ อีกทั้งช่วงก่อนวิกฤตผู้ประกอบการที่ขยายธุรกิจหรือลงทุนใหม่ได้นำเทคโนโลยีก้าวหน้าเข้ามาลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดพึ่งพาการใช้มนุษย์

ปัจจัยตัวเร่งมาจากกระแสความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเดิมอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่วิกฤตโควิดทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศเคยชินสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจ่ายเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด, อี-วอลแลต, แอพเป๋าตังเพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล เทคโนโลยีไฮเทคเหล่านี้กลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ระดับชาวบ้านและเกษตรกร  รวมถึงผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรม-บริการ-ค้าปลีกต้องแข่งขันเพื่อปรับเปลี่ยนสนองตอบมีเดิมพันเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ

เทคโนโลยีใหม่จะมีบทบาทและผลกระทบต่อตลาดแรงงานเนื่องจากเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของมิติดิจิทัลกับมิติการดำเนินชีวิตจริงอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ผู้บริโภคแม้แต่ระดับชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสินค้า-บริการโดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลัก เช่น สื่อพิมพ์หรือทีวีเหมือนในอดีต อีกทั้งไม่ต้องพึ่งพาระบบการจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบของช็อปปิ้งที่ต้องสัมผัสและเห็นสินค้าจริง แม้แต่ภัตตาคาร-ร้านอาหารหากต้องการอยู่รอดจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านจะน้อยลงโดยหันมาใช้บริการผ่านออนไลน์ในรูปแบบของแกร๊บ, ไลน์แมน, แพนด้าฟู้ด ฯลฯ

หลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจ้างงาน การเร่งตัวของสมาร์ทคอมพิวเตอร์จะถูกเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ด้วยผลิตภาพและต้นทุนที่ดีกว่าหลายเท่า การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งในอดีตเป็นทั้งโอกาส-ภัยคุกคามและหายนะทึ่เห็นอยู่ในขณะนี้เป็นแค่การเริ่มต้น หลังยุคโควิดได้สร้างบทเรียนให้กับภาคธุรกิจด้วยการลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคนในสถานประกอบการ ซึ่งมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยแวดล้อมที่คาดไม่ถึง เทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นทางเลือกที่ดีของภาคเอกชนทั้งด้านประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากกฎหมายแรงงานที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รูปแบบการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปที่เห็นชัดเจน เช่น สถาบันการเงินมีการปรับลดพนักงานจำนวนมากจากการใช้เทคโนโลยีฟินแทค ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสมาร์ทโรบอทและระบบออโตเมชั่นจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในสัดส่วนที่สูงขึ้น นอกจากนี้อี-คอมเมิร์ซจะกลายเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์ค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องปรับลดแรงงานจำนวนมากและอนาคตจะมากกว่าเดิม

ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับโลกแห่งหนึ่งระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดโควิดอาจต้องไปถึงปีพ.ศ.2567 ซึ่งเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวได้ประมาณร้อยละ 80 โดยใช้ตัวอย่างของกรณีศึกษาวิกฤตการเงินโลกหรือซัพไพร์มในปีพ.ศ.2551 ทุกครั้งวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อจบลงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบของธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคมีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน คำถามคือประเทศไทย ซึ่งเป็นพหุสังคมประกอบด้วยธุรกิจซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลมีจำนวน 7.898 แสนกิจการ (มี.ค.2564) ในจำนวนนี้เป็น SME มีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ขณะที่บริษัทมหาชนมีประมาณ 1,287 กิจการคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.16 คำถามคือภายใต้สังคมพีระมิดที่มีความเหลื่อมล้ำมีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากจะสามารถก้าวผ่านได้อย่างไร อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ถูกล็อคไว้ในรัฐธรรมนูญ ผ่านมา 5 ปียังคงทันสมัยตอบโจทย์อนาคตและจะยังสามารถรับมือการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ได้หรือไม่

ความท้าทายมาจากตลาดแรงงานที่เปราะบางประกอบด้วยแรงงานไร้ทักษะและกึ่งทักษะจำนวนมาก ขณะที่แรงงานใหม่ประมาณ 5 แสนกว่าคนที่เข้ามาเสริมทุกปีเป็นผู้จบระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการการจ้างงานยุคใหม่ ที่สำคัญตลาดแรงงานของไทยประกอบด้วยแรงงานสูงวัยหรือ “High Aged Labours” อายุ 50 ปีขึ้นไปรวมกันประมาณ 9.52 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.4  ขณะที่แรงงานอายุระหว่าง 40-49 ปีมีสัดส่วนพอๆ กัน สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งปัจจุบันไทยมีประชากรสูงวัยรวมกันประมาณ 11.7 ล้านคนส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพารายได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ภายใต้ภูมิทัศน์ “Post Covid-19 Crisis” ซึ่ง ณ วันนี้อาจเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าจะยุติลงเมื่อใด การดำเนินชีวิตในสังคมรวมถึงการจ้างงานอาจไม่เหมือนเดิม รูปแบบการทำงานที่บ้านด้วยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอาจทำให้งานบางตำแหน่งหมด

ความจำเป็น ในภาคธุรกิจจะลดขนาดพื้นที่สำนักงาน-ใช้คนน้อยลงแต่เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า   งานประเภทฟรีแลนซ์หรือพาร์ทไทม์และอาชีพอิสระจะเป็นทางเลือกของแรงงานใหม่หรือผู้ที่ถูกออกจากงาน การแข่งขันสตาร์ทอัพธุรกิจใหม่จะกลายเป็น “New Normal” แต่ยังมีความกังขาเกี่ยวกับความยั่งยืนอาชีพ การเปลี่ยนแปลงหลังยุควิกฤตโควิด-19 ประเด็นคือคนกลุ่มด้อยโอกาสเหล่านี้จะปรับตัวมีวัคซีนคุ้มกันก้าวผ่านได้มากน้อยเพียงใด เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือทั้งระดับประชากรแรงงาน-นายจ้าง-องค์กรที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงาน ภาคการเมือง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งเปลือกนอกเป็น “Digital Government” แต่ไส้ในรูปแบบการทำงานและแนวคิดยังติดกับดักก้าวไม่พ้นยุคอนาล็อก......ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบครับ !

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat