posttoday

เยียวยารอบใหม่...ธุรกิจ-เศรษฐกิจ-การจ้างงานฟื้นไหม ?

10 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจที่แนวโน้มดิ่งลงเป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่มีการคุมเข้มทั้งกทม.-ปริมณฑลและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากรายได้ลดลงไปจนถึงไม่มีรายได้โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวและต่างชาติมีความดิ้นรนพยายามเข็นโครงการทดลองเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวที่เรียกว่า “Sandbox Model” รวมถึงโครงการแทรเวลบับเบิลที่แพ็คเกจทัวร์กับฮ่องกงและสิงคโปร์

ต้องยอมรับว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ออกมาเพื่อหยุดการแพร่ระบาดเป็นสิ่งที่ต้องทำแต่ผลข้างเคียงที่ต้องเยียวยาคือธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับทั้งในประเทศและต่างชาติ ตัวเลขจำนวนคนเข้าพักโรงแรมเหลือประมาณร้อยละ 5-10 ธุรกิจพวกนี้ลมหายใจแทบจะไม่มีแล้ว อีกทั้งค้าปลีกรายเล็กรายใหญ่รายได้หดตัว 1 ใน 4 ร้านอาหารถึงจะขายออนไลน์  แต่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยหรือผู้ขายแผงลอยลูกค้าหายจนถึงต้องปิดกิจการมีการสำรวจพบว่ารายได้ของประชาชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบรายได้ลดลงร้อยละ 56 บางส่วนอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ ประเมินว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจจริงเสียหายไปกว่า 9.0 แสนล้านบาท

ล่าสุดรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแพ็คเกจใช้เงินกว่า 2.259 แสนล้านบาทอัดฉีดเงินเข้าสู่มือประชาชนประมาณ 93.32 ล้านสิทธิ/คน หวังว่าจะเยียวยาเงินในกระเป๋าให้สามารถจับจ่ายใช้สอยเพื่อเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างน้อยให้พอต่อลมหายใจรอเวลาวัคซีนเข้ามาและฉีดให้ประชาชนตามเป้ากำหนดไว้ร้อยละ 70 ภายในสิ้นปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

หากชำแหละมาตรการรัฐเพื่อรับมือโควิดระลอกใหม่อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ใช้เงิน 8.554 หมื่นล้านบาทมีโครงการเราชนะและโครงการเรารักกันช่วยเหลือผู้ประกันสังคมมาตรา 33 สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกรกฎาคมถึงกันยายนใช้เงินมากสุด 1.210 แสนล้านบาทประกอบด้วยโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และ e-Voucher จ่ายเงินผ่านแอพเป๋าตัง สุดท้ายโครงการที่จะจ่ายเงินจริงช่วงสิงหาคม-ธันวาคมใช้เงิน 1.938 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการสังคมและกลุ่มที่ต้องช่วยพิเศษและยังมีโครงการย่อยๆ  

อีกหลายโครงการ จะเห็นได้ว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้เงินออกมาเป็น 3 ช่วงครอบคลุมไปจนถึงสิ้นปีโดยส่วนตัวมองว่าอาจไม่พอเพียงเพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยอาจต้องไปถึงปีหน้า จำเป็นจะต้องเตรียมเงินก้อนใหม่สำหรับการอัดฉีดช่วงปลายปีและครึ่งปีแรกของปีหน้า

ที่กล่าวข้างต้นสอดคล้องกับ “กนง.” หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินและธปท. ซึ่งเห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจึงคงนโยบายดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 และปรับเป้าหมายจีดีพีลดลงจากเดิมร้อยละ 3 โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดิ่งตัวลงจากโควิดระลอกใหม่ให้น้ำหนักเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือทรุดตัวขึ้นอยู่กับความสามารถการเข้าถึงวัคซีนของประชากรเป็นสำคัญ

กรณีดีสุดหากสามารถกระจายวัคซีนได้ 50 ล้านคนหรือสัดส่วนประมาณร้อยละ 75.5 ของประชากรเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ทำให้สิ้นปีจำนวนคนว่างงานและเสมือนว่างงานรวมกันประมาณ 2.7   ล้านคน หากฉีดวัคซีนได้ล่าช้า 32.3 ล้านคนเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5

และหากกรณีเลวร้าย “Worst Case Scenario” ฉีดวัคซีนต่ำกว่านี้จีดีพีจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 ประเมินว่าจะมีคนตกงานและว่างงานแฝงรวมกันประมาณ 2.9 ล้านคน สมมุติฐานข้างต้นของ “ธปท.” ยังไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาลหากนำมารวมโดยใช้ “Best Case Scenario” อาจทำให้จีดีพีขยายตัวได้ร้อยละ 2.71 เกี่ยวข้องกับปัจจัยส่งออกและการจับจ่ายใช้สอยรวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญ

ประเด็นที่ค่อนข้างกังวลคือการจ้างงานซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง จากข้อมูลเศรษฐกิจแรงงานที่อัพเดทสุดเดือนมีนาคม 2564 ระบุว่าจำนวนผู้ประกันตนสังคม (มาตรา 33) ลดลง 639,620 คนหรือหายไปร้อยละ 5.45 ลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน สอดคล้องกับจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนว่างงานในเดือนดังกล่าวมีจำนวนสูงถึง 3.459 แสนคน หากเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 1.03 เท่า ขณะเดียวกันจำนวนคนถูกเลิกจ้างอัพเดทสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วสูงขึ้นถึง 2.97 เท่า ที่น่าสนใจแม้แต่แรงงาน ต่างด้าวจำนวนลดลงถึง 7.963 แสนคนหรือลดลงถึงร้อยละ 27.08

จำนวนการว่างงานของไทยจำเป็นที่จะต้องบูรณาการกับผู้ว่างงานแฝงหรือเสมือนว่างงานซึ่งน่าจะมีจำนวนประมาณ 1.27 ล้านคนส่วนใหญ่กลับไปภูมิลำเนากลายเป็นส่วนหนึ่งของครัวเรือนเกษตรกร หากมองในแง่ดีคนเหล่านี้มีความรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีออนไลน์ได้ดีอาจเป็นการยกระดับภาคเกษตรแต่ข้อเท็จจริงภาคเกษตรไทยเกี่ยวข้องกับราคาและดินฟ้าอากาศที่มีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะเขาเหล่านั้นจะมีความสามารถปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด

ข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ว่าอยู่ในสภาพใด หากอยู่ในกทม.หรือเมืองใหญ่จะเห็นว่าถนนเงียบเหมือนเป็นวันหยุดยาวเหตุเพราะส่วนหนึ่ง “Work From Home” และ/หรือกลับไปภูมิลำเนา ภาพที่เห็นประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยบางตาอย่างชัดเจน ร้านค้า-ร้านอาหารถึงแม้จะขายออนไลน์ได้ก็ไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปโดยเฉพาะช่วงระบาดรุนแรงครั้งนี้บวกกับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ประชาชนแทบไม่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านหรือไปทำงานแล้วก็รีบกลับบ้านภาพเช่นนี้คงสามารถสะท้อนเศรษฐกิจจริงได้ระดับหนึ่ง

มาตรการของรัฐใช้เงินก้อนใหญ่และดูเหมือนจะเป็นเงินก้อนสุดท้ายออกมาเป็นแพ็คเกจ ถามว่าเงินสองแสนกว่าล้านบาทที่อัดฉีดครั้งนี้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ไหม คำตอบคือคงแค่ช่วยต่อลมหายใจได้ระยะหนึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องกับความสามารถในการกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายและเร็วที่สุด

ช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ภาวะผู้นำจึงสำคัญการที่เข้ามานั่งหัวโต๊ะสั่งการเองทุกเรื่องก็ถูกต้องระดับหนึ่ง แต่วิกฤตครั้งนี้กินวงกว้าง ใช้เวลายาว เดิมพันสูงมีหลายมิติและมีปัญหาที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง สั่งการเด็ดขาดเหมาหมดคนเดียวอาจใช้ได้กับบางสถานการณ์แต่ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับปากท้องของชาวบ้าน 66.2 ล้านคนและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของชาติมากกว่า 16 ล้านล้านบาทเป็นเดิมพันจำเป็นที่ต้องหาคนเก่งเข้ามาช่วย ที่สำคัญต้องทำงานเป็นทีมไม่ใช่ชี้นิ้วหรือทำหน้ายักษ์คนรอบข้างไม่กล้าเข้าใกล้หรือไม่กล้าให้ข้อมูลหรือปัญหาที่แท้จริง ผลเสียก็จะเกิดกับประเทศ...งานนี้ต่อให้เป็น “ซุปเปอร์แมน” ก็ยากครับ