posttoday

 90 วัน ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง

09 เมษายน 2564

คอลัมน์ Great Talk

เวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว เป็นคำที่ได้ยินมาจนคุ้นหู นี่ต้นปีไม่นานจะถึงกลางปีอีกแล้ว ทำอะไรไม่ทันเลย เวลาผ่านไปเร็วหรือว่าช้า ผมว่าขึ้นอยู่กับ เราทำอะไรไปมากแค่ไหนในแต่ละวัน เพราะแต่ละคนมีเวลาเท่ากัน คือ 24 ชม.

พิมพ์ไปพิมพ์มา ก็คุ้นเคยกันอีกนั้นแหล่ะกับประโยค “เพราะแต่ละคนมีเวลาเท่ากัน คือ 24 ชม” ดังนั้น อะไรล่ะที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราบริหารเวลาหรือชีวิตของเราอย่างสูญเปล่าหรือไม่?

ตัววัดนั้นคือ “ผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำไงครับ” หากเรามองเรื่องของการทำงานช่วงเวลาสามเดือนแรกคือ ช่วงทดลองงาน เป็นช่วงเวลาที่ได้รับการวิจัยทางจิตวิทยามนุษย์ว่า หากคนเราจะต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะยาว

ช่วงเวลา 90 วันจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เช่น หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงนิสัยขี้เกียจอ่านหนังสือ ให้คุณบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือ วันละเล็กน้อย แต่ให้มีความต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วันต่อเนื่อง

หลังจากระยะเวลา 90 วัน คุณจะสามารถอ่านหนังสือได้เองโดยไม่ต้องถูกบังคับ และจะมีนิสัยที่รักการอ่านไปโดยอัตโนมัติ และช่วงการทำงานเมื่อครบเวลาหนึ่งปี จะเป็นช่วงของการประเมินผลงาน เพื่อพิจารณาโบนัส

คนทำงานทุกคนย่อมต้องอยากได้รางวัลชีวิตที่ตนทุ่มเททำงานมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งทางบริษัทก็จะมีนโยบายแตกต่างกันในการให้โบนัสประจำปี ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่าย ยอดขายหรือกำไรของบริษัท และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ ประสิทธิภาพการทำงานของเรา

ซึ่งข้อสุดท้ายนี้คือ ผลลัพธ์ในการทำงานของเรานั้นเอง และขึ้นอยู่ว่า ตัวเรานั้นสามารถผลิตผลงานได้มากหรือน้อย และเข้าตาเจ้านายได้มากน้อยแค่ไหน

ผมจะมีวิธีการประเมินตัวเองแต่ละปีอย่างละเอียด ไม่เพียงแต่เรื่องงานแต่ยังรวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตอีกด้วย พร้อมกับตั้งคำถามว่า ปีที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง

สิ่งที่ทำดีแค่ไหน และประสบผลสำเร็จขนาดไหน สิ่งที่ทำมีคนรอบข้างได้ผลประโยชน์ หรือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะหากผลลัพธ์จากการประเมินตัวเราออกมาน้อยเหลือเกิน เราคงต้องปรับรูปแบบระบบความคิดหรือการใช้ชีวิตใหม่ ตัวอย่างเช่นหากเรามีแพลนที่อยากออกกำลังกาย เพราะเป้าหมายคือ อยากมีสุขภาพหรือร่างกายที่ดูสมส่วนแข็งแรง

หากเรามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง โดยมีเหตุผลมากมายอ้างว่าต้องทำงานเยอะมากกว่าจะเลิกงานก็เป็นเวลาดึกดื่น ไม่มีเวลาคุณเองก็อย่าหวังว่าจะมีร่างกายแข็งแรง

คุณจะได้แต่คิดว่า “ดูคนนี้สิดูสุขภาพดีจังเลย” “คนนั้นหุ่นดีจังเลย ดูตัวเราสิอ้วนลงพุงเชียว” เราน่าจะออกกำลังกายบ้างนะจะได้ดูดีเหมือนคนนั้นบ้าง หรือบางท่านมีเป้าหมายเพื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติม เช่น ต้องการพัฒนาความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ

หากคุณมัวแต่หาเหตุผลไม่ยอมลงมือทำซะที…ผ่านไปอีกกี่ปีคุณก็ยังคงเป็นคนเดิมที่ยังไม่พัฒนา…จากในอดีตเมื่อยามที่คุณมองตัวเองย้อนกลับไป

นอกจากรอคอยโบนัสประจำปีของการทำงาน ว่าได้จำนวนกี่เดือนเป็นเงินเท่าไหร่ ลองประเมินโบนัสชีวิตประจำปีของตัวคุณเองว่าได้อะไรเป็นโบนัส “ชีวิต” ประจำปีนี้

ตัวคุณได้รับความสุข จำนวนกี่เดือน และความสุขมากมายขนาดไหน…หากมากพอลองแบ่งให้คนรอบข้างคุณดูบ้างนะครับ…