posttoday

สงครามกลางเมืองเมียนมาร์เกิดจากมัวเมาหลงอำนาจ...ดูเขาไว้อย่าให้เกิดในไทย

22 มีนาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

กล่าวได้ว่าสถานการณ์ประเทศเมียนมาร์หรือ “พม่า” ขณะนี้อยู่ในขั้นเลวร้ายการต่อต้านรัฐบาลทหารและจลาจลลุกลามไปทั่วประเทศตั้งแต่เมืองมะริด-ทวายที่อยู่เมืองตอนใต้ไปถึงเมืองคะฉิ่น ทางเหนือเมืองสำคัญ เช่น มัณฑะเลย์, พะสิน, พะโค ฯลฯ ล้วนอยู่ในสภาพวุ่นวาย รัฐบาลทหารพม่าหรือ “ตะมะดอ” ประกาศกฎอัยการศึกในหลายพื้นที่แต่ประชาชนยังออกมาต่อต้าน ข้อมูลอัพเดทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงักสัญญาณอินเตอร์เน็ตถูกตัดบางที่ระเบิดเสาสัญญาณ หลังการเผาโรงงานจีนจำนวนเกือบ 40 แห่ง ที่นครย่างกุ้งทำให้โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ปิดกิจการทำให้มีคนว่างงานจำนวนมาก

จุดปะทะหนักสุดอยู่ที่เขตลันตาย่าซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ย่างกุ้งคล้ายๆกับเขตลาดกระบังของไทยมีการปราบปรามรุนแรงทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องมา 3 วันประชาชนเสียชีวิตเฉพาะที่นี่อย่างน้อย 80 คน ส่งผลให้นครย่างกุ้งและเมืองสำคัญกลายเป็นเสมือนสมรภูมิรบมีการยิงและระเบิด สร้างเครื่องกีดขว้างถนนหนทาง มีการเผาสะพานบุเรงนองเสียหายบางส่วนคนพม่าออกเสียง “บาเยงนอง” หรือ “บะยิ่นเหน่าว์” คนพม่าเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านที่ไม่ร่วมประท้วงก็ไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะอาจตายฟรีจากกองกำลังทหารที่ยิงไม่เลือกประชาชนอพยพย้ายออกกลายเป็นเมืองร้าง วันศุกร์ที่ผ่านมามีการปะทะอย่างหนักที่จังหวัดเมียวดีติดกับอำเภอแม่สอดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คนสินค้าจากไทยเข้าพม่าถูกรื้อค้นตรวจสอบว่ามียุทธปัจจัยแอบซ่อนหรือไม่

ข้อมูลภายในระบุว่ามีคนเสียชีวิตเฉียด 250 คนมีผู้ถูกจับขังคุกมากกว่า 2,200 คนบางส่วนถูกอุ้มขึ้นรถทหารหายไปอีกมาก จำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มเป็นเท่าตัวจากการรุกฮือจากประชาชนทั่วประเทศบวกกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น รัฐชาน มะกเว กะฉิ่น ว้า กะเหรี่ยงกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการแยกตัวจากสหภาพเมียนมาร์ได้จังหวะผสมโรง สถานการณ์ที่ต้องติดตามจากที่สังฆมหานายกสมาคมเมียนมาร์ที่พม่าออกเสียง “มหานายาก้า อะติน”    คล้าย ๆ กับมหาเถระสมาคมของไทย ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลทหาร “ตะมะดอ” ยุติการปราบปรามประชาชนถือเป็นสัญญาณแตกหักกับรัฐบาลทหารที่เคยอุ้มไว้ ต้องเข้าใจว่าเมียนมาร์เป็นเมืองพุทธที่เคร่งครัดกว่าไทยพระสงฆ์มีความสำคัญต่อประชาชนร่วมถึงทหารและตำรวจ หากพระสงฆ์องค์เจ้าออกมาร่วมประท้วงอาจทำให้สถานการณ์พลิกกลับ

ด้านเศรษฐกิจที่นครย่างกุ้ง ธนาคาร ร้านค้าและธุรกิจปิดทำการ การเบิกเงินผ่านตู้เอทีเอ็มซึ่งเบิกได้อย่างจำกัด โรงงานร้อยละ 80 ปิดตัว เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่าและเขตติละวาซึ่งเป็นพื้นที่ลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะนี้เรือสินค้าระหว่างประเทศกลัวอันตรายไม่เข้าเทียบท่าเรือสำคัญ 3 แห่งของย่างกุ้งไม่มีกิจกรรมการขนย้ายสินค้าเข้าใจว่าในเวลาอีกไม่นานจะเกิดการขาดแคลนอาหารและพลังงานอย่างรุนแรง แม้แต่ธุรกิจของผู้เขียนที่ไปลงทุนอยู่ที่นครย่างกุ้งต้องปิดตัวมาร่วมเดือนเพราะพนักงานไม่กล้าออกจากบ้านมาทำงาน คนไทยที่ทำงานที่ย่างกุ้งส่วนใหญ่ย้ายออกกลับมาไทยยกเว้นคนจีนที่ยังอยู่เฝ้าโรงงานหรือร้านค้าโดยทหารเมียนมาร์คุ้มครองเป็นพิเศษ

คนพม่าส่วนใหญ่ไม่ชอบคนจีนเป็นทุนอยู่ก่อนแล้วเนื่องจากประวัติศาสตร์รบพุ่งกันตลอดมา พอรัฐบาลจีนมีท่าทีสนับสนุนกองทัพทำให้คนพม่ายิ่งไม่ชอบแต่ปฏิเสธว่าผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นคนเผาโรงงานจีน อ้างว่าทางทหารเป็นผู้สร้างเรื่องเองบางข้อมูลที่ฟังเขามาอีกทอดหนึ่งกล่าวว่าคนจีนค้าขายขาดทุนเลยเผาโรงงานเพื่อเรียกร้องเงินประกันหรือเงินชดเชย

ขณะนี้ประชาชนเมียนมาร์แบนไม่ซื้อสินค้าจีนแม้แต่เมืองชายแดนเช่นเมืองมูเซติดกับเมืองรุ่ยลี่ของจีนอยู่ทางเหนือก็ไม่นำเข้าสินค้าจากจีนทำให้สินค้าไทยได้อานิสงค์ แต่การนำเข้าข้ามแดนมีความเสี่ยงสินค้าไปตกค้างอยู่ที่ศูนย์ขนส่งเมียวดีจำนวนมาก 

ด้านการเมืองกลุ่มส.ส.พรรค “NLD” ของดอว์ซู เล่นเกมส์รุกตั้งรัฐบาลคู่ขนานมีการตั้งสภาแห่งสหภาพ (CRPH : Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw) มีผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น รัฐคะยา กลุ่มชาติ   ตะอ่าง ฯลฯ มอบให้ดร.ซา ซ่า เป็นผู้แทนในองค์กรสหประชาชนหรือ “UN” องค์กรนี้จะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว และขอให้ยูเอ็นและชาติตะวันตกรวมถึงประเทศต่าง ๆ รับรอง เป็นการช่วงชิงเกมส์การยอมรับจากนานาชาติแต่คง   ไม่ง่ายเพราะการรัฐประหารหากชนะก็จะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาลคล้ายกับกรณี “คสช.” ของไทย

คงต้องติดตามการหารือของรมต.ต่างประเทศระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะมีประเด็นเกี่ยวกับเมียนมาร์ที่ รัฐอลาสก้าเร็ว ๆ นี้ว่าจะมีท่าทีอย่างไร เนื่องจากจีนมีผลประโยชน์มหาศาลในเมียนมาร์ทั้งด้านการค้าการลงทุน และเส้นทางสายไหมทางใต้มีการสร้างท่าเรือจ้าวผิวและท่อส่งแก๊ส-น้ำมันดิบจากรัฐยะไข่ไปมณฑลยูนนานของจีนขณะที่สหรัฐฯ “ยุคโจ ไบเดน” ต้องการเข้ามามีบทบาทหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก “CPTPP” โดยที่เมียนมาร์อยู่ทางด้านตะวันตกติดชายแดนจีนพันกว่ากิโลเมตร สหรัฐฯ ต้องการกลับมามีบทบาทในอาเซียนอีกครั้ง

สำหรับท่าทีของสหประชาชาติโดยนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส ซึ่งเป็นเลขาธิการออกโรงให้ลูกน้องยกสายคุยกับนายพล มินอ่องหล่าย ให้ยุติการกวาดล้างประชาชน มีการออกแถลงการณ์เตือนทำนองกดดันพร้อมทั้งให้สื่อมวลชนและกลุ่มประท้วงในพม่าส่งเอกสารภาพถ่ายการเข่นฆ่าประชาชนมีความเป็นไปได้อาจให้ศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮกพิจารณาผู้เกี่ยวข้อง

การเมืองในเมียนมาร์ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรแต่ที่แน่ๆ เศรษฐกิจพังพินาจบวกกับกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 การฟื้นตัวต้องใช้เวลานานหลายปี การเมืองที่ยังไม่พัฒนากองทัพผูกขาดความรักชาติไม่อยู่ในวินัยออกมาเป็นอัศวินม้าขาวส่วนใหญจบที่กลายเป็นทรราช ผลคือประชาชนเดือดร้อนขาดแคลนสินค้าราคาข้าวของและเชื้อเพลิงพุ่งสูง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทำให้คนว่างงานจำนวนมากการลงทุนทั้งในประเทศและทางตรง (FDI) หยุดชะงักที่สุดมหาอำนาจก็เข้ามาแทรกแซง

กรณีของเมียนมาร์ขอให้เป็นกรณีศึกษาเพราะการเมืองไทยก็ไม่พัฒนาช่วงตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ.2475 มีการปฏิวัติรัฐประหารถึง 13 ครั้ง รัฐสภาเล่นเกมส์ยื้อแก้รัฐธรรมนูญซึ่งออกแบบแยบยลให้แก้ไม่ได้ หากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดประชาชนไม่ยอมรับประเทศชาติจะเดินหน้าได้อย่างไร ผู้ที่เมาหลงอำนาจขอให้ดูวิกฤตสงครามกลางเมืองของเมียนมาร์เป็นตัวอย่าง...อย่าให้มีในไทยก็แล้วกันครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )