posttoday

นองเลือดเมียนมาร์...จุดยืนไทยบนเวทีโลก

08 มีนาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ประเด็นการรัฐประหารของเมียนมาร์ที่จับและยัดเยียดสารพัดข้อหานางออง ซาน ซูจี ผู้นำเงาของรัฐบาลประชาธิปไตยที่พรรค NLD  ซึ่งนางเป็นหัวหน้าพรรคร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ และกลุ่มชาติพันธุ์ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วกวาดที่นั่งในรัฐสภาจนพรรค USDP ที่กองทัพหนุนหลังแทบไม่มีที่ยืนจนนำไปสู่การยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ (2 ก.พ. 64)  โดยไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญเพราะมีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายคนที่ร่างถือเป็นขั้นเทพเทียบเคียงคล้ายกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีรัฐธรรมนูญแบบพิสดารพอๆกัน

คนเมียนมาร์หรือพม่าถือว่า“ซูจีหรือดอซู่”เป็นทั้งแม่ของแผ่นดินและวีรสตรีทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านและจลาจลไปทั่วประเทศมีการปราบปรามอย่างรุนแรงเสียชีวิตกว่าครึ่งร้อย นานาประเทศออกมาประณามให้ปล่อยนางซูจีขณะที่องค์การสหประชาชาติหรือ “UN” ประกาศจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าทางการพม่าจะไม่ค่อยสนใจเท่าใด

มาดูกันว่าประเทศมหาอำนาจมีท่าทีอย่างไรต่อการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาร์ เริ่มจากประเทศจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอยู่ทางภาคเหนือตั้งแต่รัฐกะฉิ่นจนถึงรัฐชานหรือไทใหญ่ ทางการจีนออกแถลงการณ์แบบประนีประนอมเนื่องจากมีผลประโยชน์มหาศาลทั้งด้านตลาดส่งออก-สัมปทานขุดพลอยและหยกรวมถึงแหล่งน้ำมัน-แก๊สธรรมชาติ สัมปทานท่าเรือจ้าวเปี้ยว รัฐบาลปักกิ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี โดยไม่ได้มีการประณามการทำรัฐประหารเพราะลึกๆแล้วจีนสามารถเข้าถึงได้ทั้งผู้นำกองทัพขณะเดียวกันก็โปรนางออง ซาน ซูจี เพราะมีความยืดหยุ่นดีกว่านายพล มิน อ่อง หล่าย

ประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีป้ายแดง “โจ ไบเดน”เป็นที่ทราบดีกว่าพรรคเดโมแครตเน้นค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนประกาศจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่บทเรียนที่ผ่านมามาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้นำหรือกลุ่มอำนาจในกรุงเนปิดอว์กลับทำให้ประชาชนอดอยากและจงเกลียดจงชังสหรัฐ ครั้งนี้จึงเน้นที่คว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการทำรัฐประหาร ขณะที่ท่าทีของสหภาพยุโรปหรือ “EU” ก็มีความระมัดระวังในการออกแถลงการณ์หรือมีมาตรการที่จะกดดันทางเศรษฐกิจกับเมียนมาร์

กลับมาดูท่าทีอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรใกล้ชิดกับเมียนมาร์ การรัฐประหารในประเทศสมาชิกอาจเป็นเรื่องที่คุ้นเคยดังเช่นกรณีประเทศไทยจึงเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการภายใน การประชุมออนไลน์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนัดพิเศษเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “เสียงแตก” ไม่สามารถลงรอยออกคำแถลงการณ์ออกมาได้เพราะแต่ละประเทศมีผลประโยชน์ต่างกัน เช่น กรณีสิงคโปร์-บรูไนต้องการให้ออกแถลงการณ์กดดันกองทัพเนื่องจากนางออง ซาน ซูจี เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจได้ดีกว่า

ขณะที่ประเทศไทยมีพรมแดนยาวจากภาคเหนือยาวจรดภาคใต้ระยะทาง 2,400 กิโลเมตรติดกับประเทศเมียนมาร์มีแรงงานคนพม่ากว่า 1.75 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศ ปีที่แล้วการค้าระหว่างประเทศไทย-เมียนมาร์มีมูลค่า 205,056 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นการค้าชายแดนทางถนนด่านสำคัญ เช่น แม่สอด, แม่สาย, ระนอง ฯลฯ  ผลประโยชน์ของไทยยังมีโครงการสำรวจน้ำมัน-แก๊สที่ปตท.ได้รับสัมปทาน

หากถามว่ารัฐบาลทหารเมียนมาร์มีปฏิกริยาอย่างไรต่อการที่ถูก “UN” และชาติตะวันตกกดดันที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ คำตอบคือกองทัพเดินมาจนถึงจุดนี้คงต้องเดินหน้าให้จบโดยไม่สนใจปฏิกริยาที่จะออกมากดดันใดๆเมียนมาร์ในอดีตปกครองโดยกองทัพเป็นส่วนใหญ่อย่างยาวนานและฝังรากลึกผลประโยชน์ของทหารคือประชาชนจะอดอยากหรือจะต้องปราบปรามตายเท่าไรไม่สำคัญขอให้มี“อำนาจที่จะอยู่ยาว” เป็นประเทศที่ล้าหลังย้อนยุคและยากจน การเมืองในประเทศไม่มีความเป็นเอกภาพแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีอิสระในการปกครอง  มีกองทัพ มีธงชาติและวันชาติเป็นของตนเองเต็มไปด้วยแม่ทัพ-ขุนศึกแยกอิสระ บางครั้งก็รบกันเองหรือรบกับรัฐบาลกลางแม้แต่ขณะนี้ที่เมืองก็อกกะเร็กติดกับเมืองมะละแหม่งกองทัพกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) กำลังรบกับทหารเมียนมาร์ ดังนั้นการกดดันจากนานาชาติจึงไม่มีผลอะไรกับเมียนมาร์และอาจนำไปสู่การปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง

สถานการณ์ในประเทศขณะนี้ที่จังหวัดเมียวดีติดกับเมืองแม่สอดของไทยรถบรรทุกขนส่งสินค้ายังเข้า-ออกได้แต่รถบรรทุกขนาดใหญ่จะไม่เข้าไปที่ย่างกุ้งต้องมาซอยเป็นรถบรรทุกหกล้อ การขนส่งทางทะเลทั้งที่ท่าเรือทิลาวา และท่าเรือย่างกุ้งจำนวนเที่ยวเรือลดน้อยลงแต่การขนถ่ายสินค้าล่าช้าเพราะมีคนทำงานน้อย โรงงานต่าง ๆ ทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่นครย่างกุ้งส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ปิดทำการเนื่องจากมีแรงงานน้อยส่วนใหญ่ไปประท้วงและหากเปิดทำการก็จะถูกประจานในโซเซียลมิเดีย ถึงแม้รัฐบาลจะสั่งปิดอินเตอร์เน็ตแต่ก็สามารถใช้ระบบ“Unblock VPN” ซึ่งไม่สามารถระบุ IP Address ของผู้ใช้ได้

ผู้เขียนมีการลงทุนอยู่ในเมียนมาร์สามารถติดต่องานที่สำนักงานย่างกุ้งผ่านทางโทรศัพท์โดยใช้ “Viber”เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้โทรคุยและแชทข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนได้ดี ซึ่งทางการพม่ายังไม่ปิดหรือปิดไม่ได้ตรงนี้ไม่ทราบทำให้ ผู้ประท้วงในพม่าใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารนัดแนะในการประท้วง

ขณะนี้เศรษฐกิจภายในของเมียนมาร์ถือว่าอยู่ในสภาพที่ลำบากถึงแม้สินค้าจะไม่ขาดแคลนแต่ราคาแพงขึ้นร้อยละ 10-20 เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ปิดและการขนส่งค่อนข้างลำบากและไม่แน่นอนมีมาตรการเคอร์ฟิวและค่าเงินสกุลจ๊าดอ่อนค่าลงมากจนทำให้ประชาชนแห่ไปถอนเงินจนหมดแบงค์ ธนาคารเอกชนส่วนใหญ่ปิดทำการเปิดได้เฉพาะธนาคารของรัฐ เช่น อจิรวดีแบงค์และอินวาแบงค์ ประชาชนสามารถถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มจำกัดได้แค่วันละ 30,000 จ๊าดหรือประมาณ 630 บาท เศรษฐกิจของพม่าทั้งการนำเข้า-ส่งออกพึ่งพาไทยและจีนเป็นหลักโดยเฉพาะเงินที่คนพม่าที่ทำงานในประเทศไทยส่งกลับเป็นปีละหลักแสนล้านบาท

ท่าทีของไทยต่อการนองเลือดและรัฐประหารในเมียนมาร์ ท่ามกลางแรงกดดันภายในประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลแสดงจุดยืนด้วยการประณามรัฐบาลทหารให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจีและคืนประชาธิปไตย ขณะที่อาเซียนเสียงแตกไม่มีแถลงการณ์ด้วยผลประโยชน์ต่างๆ ไทยมีและความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารอีกทั้งการเมืองของเมียนมาร์ยังไม่นิ่งว่าเกมส์อาจจะพลิกกลับหรือไม่ ท่าทีของไทยจึงต้องรอบคอบเดินตามเกมส์ของอาเซียนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด...จริงไหมครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )