posttoday

เดินหน้าเศรษฐกิจหลังรัฐบาล...ไฟท์บังคับปรับครม.

01 มีนาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

อภิปรายไม่ไว้วางใจจบไปแบบเงียบ ๆ แต่ก็ไม่ถึงกร่อยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอยลำผ่านโหวตแบบไม่ต้องลุ้นถึงจะออกมาเบรกข่าวลือไม่มีการปรับครม. แต่ 3 รัฐมนตรีหลุดเก้าอี้ศาลอาญาตัดสินคดี “กปปส.” ชัตดาวน์นอนคุกอย่างไรก็ต้องปรับครม.แรงกระเพื่อมจะมีมากน้อยคงต้องติดตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ในปัจจุบันการอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีให้กระทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและให้มีการอภิปรายแบบไม่มีการลงมติคือแค่พูดแล้วจบหนึ่งปีทำได้ 1 ครั้ง ผลคือรัฐบาลบิ๊กตู่หากไม่ยุบสภาด้วยตนเองก็จะอยู่แบบสบาย ๆ ไปจนถึงครบสมัยเดือนมีนาคม 2565 เป็นรัฐบาลที่อยู่ต่อเนื่องนานที่สุดของไทย

มองทางบวกการที่รัฐบาลมีเสถียรภาพผลคือเศรษฐกิจจะสามารถเดินหน้าไม่สะดุด สามารถทำอะไรทั้งโครงการใหม่ โครงการที่สานไว้ไม่จบได้อีกมากมาย โดยเฉพาะโครงการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการแทรกประชาชนนิยมโดยเฉพาะโครงการได้ใจประชาชนคือการเข้าถึงวัคซีน ปีนี้จะมีคนได้รับการฉีดอย่างน้อย 30 ล้านคน คาดว่าปลายปีไปจนถึงก่อนเลือกตั้งปีหน้าการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งของไทยและของโลกน่าจะยุติและจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่อเครดิตของบิ๊กตู่ ข้อเขียนฉบับนี้คงไม่วิเคราะห์ยาวไปจนถึง  ขนาดนั้น

ประเด็นที่อยากนำเสนอคือเศรษฐกิจระยะสั้นหลังจากนี้จะเห็นภาพอะไรบ้าง เริ่มจากด้านดี ๆ คือการลงทุนเอกชนในปีที่ผ่านมาบอกได้เลยว่า “Not Bad” คือไม่ได้เลวร้ายจากตัวเลขของ “BOI” ถึงแม้เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะหดตัวแต่นักลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติยังมองปัจจัยพื้นฐานของไทยเป็นบวก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน, การเป็น     โซ่อุปทานการผลิตของโลกหรือ “GVC : Global Value Chain” แรงงานของไทยที่มองว่าเป็นรองเพื่อนบ้านอาเซียนแต่ต่างชาติเขาให้เครดิตว่ามีคุณภาพดีกว่าหลายประเทศ

จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปีพ.ศ. 2563 ในเชิงปริมาณขยายตัวร้อยละ 13 แต่มูลค่าเม็ดเงินหดตัวถึงร้อยละ 30 น่าจะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาเกิดกับทุกประเทศในโลก   ตัวเลขที่น่าสนใจคือการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเชิงมูลค่าขยายตัวถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าสูงโดยสัดส่วนร้อยละ 55.7 เป็นการลงทุนในประเทศที่เหลือเป็นของต่างชาติตรงนี้เป็นข้อดีที่ไทยพึ่ง “FDI” น้อยลง

หากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามที่ตัวเลขการลงทุนสูงกว่าไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างชาติ (FDI)  ทำให้ผลกำไรในรูปเงินตราต่างประเทศไหลออกไปอยู่ในมือของต่างชาติหรือนอกประเทศ เห็นได้จากเงินทุนสำรองของเวียดนามอยู่ลำดับที่ 27 ของโลก ขณะที่ของไทยอยู่ลำดับที่ 13 ของโลกและเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์)  มูลค่าเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งวัดความมั่งคั่งของประเทศของไทยสูงกว่าเวียดนามถึง 2.89 เท่า

ด้านการพึ่งพานำเข้าวัถตุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมีสัดส่วนร้อยละ 28 ต่อจีดีพี ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วน สูงถึงร้อยละ 47 ของจีดีพีแสดงว่าภาคการผลิตและการส่งออกของเวียดนามพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากนอกประเทศเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิต ทางเดินของประเทศไทยคือการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในจึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้องถึงแม้ตัวเลขส่งออกอาจลดลงซึ่งต้องเข้าใจว่าต้นทุนการผลิตของไทยสูงผู้ส่งออกส่วนหนึ่งก็ย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ ด้านจีดีพีที่มีความกังวลว่าเวียดนามจะแซงหน้าไทยต้องดูข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จีดีพีของไทยอยู่อันดับ 22 ของโลก มีขนาดใหญ่กว่าเวียดนามที่อยู่อันดับ 44 ของโลกถึง 2 เท่า      หากช่องว่างหรือ “GAP” ยังคงเป็นเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีจึงจะสามารถแซงหน้าไทย

คราวนี้ลองมาดูภาคส่วนเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัวได้ง่าย ๆ คือภาคการท่องเที่ยวมีผู้ถามผมว่าหลังการเข้ามาของวัคซีนล็อตแรก 3.0 แสนโดสและจะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ภาคท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยเพียงใด ความเห็นคงแตกต่างกันแล้วแต่มุมมอง ความเห็นของผมคิดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของประชากรโลกที่เป็นลูกค้าท่องเที่ยวของไทยว่าหายเจ็บ-หายป่วยหรือยัง เงินในกระเป๋ามีไหม ความเชื่อมั่นกลับมาหรือยัง

ขณะที่สถานประกอบการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น โรงแรม แหล่งท่องเที่ยวที่ร้างผู้คนเป็นปีจะกลับมาเหมือนเดิมได้อย่างไรเป็นกลุ่มที่น่ากังวลมากสุด ตัวเลขเป็นหนี้อยู่ในระบบ 4 แสนล้านบาทส่วนใหญ่เป็น “NPL” หรือปรับโครงสร้างหนี้ขาดเม็ดเงินที่จะเข้าไปฟื้นฟูธุรกิจเป็นโจทย์ยากและความเสี่ยงของรัฐบาลที่จะเข้าไปเยียวยา

ภาคส่วนที่ยังมีความเปราะบางคือกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ได้เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล รอบนี้ใช้เงินไปเกือบ 3 แสนล้านบาทอีกสองเดือนเงินหมดแล้วจะทำอย่างไร รัฐบาลยังไม่ได้บอกว่าจะมีมาตรการอะไรมาเพิ่มเติม เกี่ยวข้องกับค้าปลีก-ค้าส่ง-อุตสาหกรรมการผลิตและบริการตลอดจนการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันการฟื้นตัวค่อนข้างช้าสะท้อนจากวันหยุดยาว เช่น ตรุษจีนการใช้จ่ายต่ำสุดในรอบ 13 ปีแม้แต่วันหยุดมาฆบูชาติดกัน 3 วัน ผู้คนก็แทบจะไม่ใช้จ่าย ความหวังคือวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นได้หรือไม่ซึ่งเห็นว่ายังเร็วไปที่จะสรุปได้เช่นนั้นแต่อย่างน้อยการเข้ามาของวัคซีนมีผลต่อความเชื่อมั่นที่กลับมาเป็นบวก

จากข้อมูลของหน่วยงานรัฐทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีคนที่มีรายได้ต่ำแทบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากกว่า 14 ล้านคน ถึงแม้ตัวเลขว่างงานดูเหมือนว่าต่ำ แต่มีคนว่างงานแฝงล้านกว่าคนและหรือทำงานไม่เต็มเวลาทำให้มีรายได้น้อยไม่พอใช้จ่าย ธุรกิจส่วนใหญ่ซึ่งเป็น “SME” อยู่ไปวัน ๆ มองไม่เห็นอนาคตสะท้อนจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าปัจจุบันหนี้ธุรกิจและประชาชนที่อยู่ในภาวะปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินมีจำนวนถึง 8.37 ล้านบัญชีคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 4.83 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่เปราะบางอยู่ใน “State 2” คือค้างชำระหนี้ติดต่อกัน 2 เดือนมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นหนี้เสียหรือ “NPL” สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 6.62 ทำให้การแก้ปัญหาซับซ้อนยากขึ้น

การเดินหน้าเศรษฐกิจไทยในช่วงรอยต่อของการเข้าถึงวัคซีนซึ่งน่าจะทำให้ยุติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรณีการที่ 3 รัฐมนตรีเจอคดีอาญาศาลสั่งจำคุกทำให้เป็นไฟท์บังคับที่จะต้องมีการปรับครม. โดยเฉพาะ ทีมเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หรือ “เทคโนแครต”  ซึ่งยอมรับว่าเก่งแต่ภาวการณ์ต่างกันเหมือนนกที่อยู่ในกรงทองหากินเองไม่เป็นหากเศรษฐกิจปกติคงไม่เป็นไร ควรหาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมือถึงที่เป็นตัวจริง เข้าใจเศรษฐกิจจริงและปากท้องชาวบ้านเข้ามาแก้ปัญหา...เถอะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )