posttoday

อภิปรายไม่ไว้วางใจ...ประเด็นไม่สำคัญอยู่ที่มือใครมากกว่ากัน

22 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

จบไปแล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมีรัฐมนตรี 10 ท่านที่ถูกนำมาชำแหละกลางรัฐสภาเป็นครั้งที่สองของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเมื่อเดือนเดียวกันของปีก่อนเคยถูกอภิปรายมาครั้งหนึ่งแล้ว ช่วงนั้นปริ่มน้ำยังไม่แน่นปึ๊กยังผ่านได้    ครั้งนี้ส.ส.ซีกรัฐบาลท่วมท้นจนไม่ง้อพวกปัดเศษทศนิยมซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ อภิปรายครั้งนี้จึงไม่ต้องลุ้นเพราะคะแนนผ่านฉลุย ในระบอบรัฐสภาแบบไทย ๆ

ประเด็นที่นำมาซักฟอกรัฐมนตรีจะดี-มีมูลหรือมีแผลเหวะหวะแค่ไหนไม่สำคัญขึ้นอยู่กับมือของส.ส.ซีกรัฐบาลที่จะยกมือผ่านตั้งแต่ยังไม่เปิดอภิปรายด้วยซ้ำไป ขณะที่ส.ส.ภาคร่วมฝ่ายค้านก็จะยกมือไม่ให้ผ่านโดยไม่สนใจเหตุผลหรือคำแก้ต่างของรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหา เป็นเกมส์การเมืองที่ยึดพวกมากเป็นใหญ่หากยังอยู่ในบ้านเมืองนี้ก็ต้องยอมรับกติกา

เท่าที่ติดตามแบบกระท่อนกระแท่นเห็นว่าการเมืองไทยพัฒนาดีขึ้น การอภิปรายแต่ละฝ่ายทำการบ้านและเตรียมข้อมูลได้ดีมีการใช้เครื่องมือและคลิปภาพประกอบการอภิปราย ขณะที่การตีรวนหรือประท้วงแบบไร้เหตุผลน้อยลงกว่าทุกครั้ง อาจมีส.ส.บางคนที่ยังตกยุคเล่นบทน้ำเน่าแบบเดิม ๆ เพียงไม่กี่คนส่วนใหญ่ก็เป็นหน้าเดิม ๆ เล่นการเมืองแบบเก่า ๆ มาใช้กับประชาชนยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายแม้แต่ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่อยู่พื้นที่ชนบทห่างไกลสามารถดูข้อมูลย้อนหลังผ่านสื่อโซเซียลออนไลน์ที่มีการคอมเม้นท์ให้มุมมองต่าง ๆ 

คนไทยยุคโควิด-19 ยกระดับกลายเป็นมนุษย์ดิจิทัลเข้าถึงแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งเงินช่วยเหลือสวัสดิการแห่งรัฐรวมถึงเบี้ยคนชราล่าสุดโครงการไทยชนะและเราชนะมีการใช้กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์แม้แต่แม่ค้า-พ่อค้าหาบเร่แผงลอยมีคิวอาร์โค้ดผ่านโครงการคนละครึ่ง ผลพลอยได้เป็นการยกระดับ   คนไทยเกินครึ่งประเทศสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต “IoT” ติดลำดับต้น ๆ ของโลกที่สำคัญชาวบ้านเสพข้อมูลที่เป็น “Real Time” นักการเมืองที่ยังเล่นบทลิเกแบบเก่า ๆ จะสูญพันธุ์

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ตั้งใจที่จะพุ่งเป้าไปที่พี่น้อง 3 ป. โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศูนย์กลางซึ่งแน่นอนต้องเล่นงานตรงหัวใจของรัฐบาลคือตัวนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ควบคุมตัวเองได้ดีไม่ตกหลุมพรางฝ่ายค้านจน “ของหลุด” เหมือนครั้งก่อน ๆ การที่ฝ่ายค้านยกประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งรอบแรกและรอบสองโยนให้เป็นความผิดของรัฐบาล ประเด็นนี้ผมเห็นต่างออกไปเพราะไปเล่นงานจุดแข็งของรัฐบาลที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ต่างชาติให้ไทยเป็นประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีติดลำดับ 4 ของโลกจาก 98 ประเทศ   ทั่วโลก

กรณีอภิปรายกล่าวหาว่ารัฐบาลบกพร่องจากการควบคุมแรงงานเมียนมาร์ผิดกฎหมายจนทำให้เกิดการ แพร่ระบาดรอบใหม่มาจาก “ส่วยแรงงาน” ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงแต่ในระดับชาวบ้านเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่สามารถเป็นหมัดน็อคล้มรัฐบาลได้ อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการกล่าวหาดองวัคซีนหรือการนำเข้าวัคซีนล่าช้าคนไทยได้ฉีดช้ากว่าประเทศอื่น ๆ หรือมีการผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขออกมาโต้กลับมีไทม์ไลน์ที่จะฉีดให้กับประชาชนชัดเจนแถมดิสเครดิตฝ่ายค้านโดยนำทีมแพทย์ขนวัคซีนตัวอย่างออกมาโชว์และแถลงข่าวที่รัฐสภาตรงนี้ถือว่าแก้เกมส์ได้ดี

ด้านเศรษฐกิจที่ทรุดตัวภาคท่องเที่ยวพังพินาศคนตกงานทั้งทางการและแฝงเป็นหลักล้านคน ประเด็นเศรษฐกิจน่าจะเป็นจุดอ่อนของพลเอกประยุทธ์ฯ เนื่องจากปีที่แล้วเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 6.2 เงินเฟ้อ, การบริโภคของประชาชน, การส่งออกและดัชนีวัดเศรษฐกิจทุกตัวล้วนติดลบ แต่ประเด็นนี้กลับ “ไม่ฮอต” เจาะไม่เข้าเนื่องจากผ่านจุด “Peak” หรือจุดสูงสุดของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ประชาชนมีการรับรู้ผ่าน สื่อว่าเศรษฐกิจหดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นกันทั้งโลกขณะที่ของไทยการแพร่ระบาดยังคุมได้และมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

ประการสำคัญรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านแอพเป๋าตังผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านการถ่ายทอดทางทีวีไม่ค่อยได้รับความสนใจจากชาวบ้านเนื่องจากกำลังสาละวนกับการไปยื่นเข้าแถวรับเงินจากรัฐบาลที่ได้สิทธิ์แล้วมัวแต่ไปใช้เงินจนแอพล่ม ประมาณว่ารัฐบาลใช้เงินซื้อใจประชาชนครั้งนี้ประมาณ 3.0 แสนล้านบาทให้กับประชาชน 30-31 ล้านคนสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือ 4,000-7,000 บาท แต่เงินเท่านี้คงเป็นเพียงแค่ ยาหอม-ยาดมพอประทังชีวิตได้อีก 2 เดือนซึ่งดีกว่าไม่ได้ อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของไทยเพราะเศรษฐกิจของเราอาศัยภาคท่องเที่ยวและส่งออกเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังขาดความชัดเจน

การอภิปรายครั้งนี้อาจไม่สามารถน็อครัฐบาลแต่ก็ต้องขอชมฝ่ายค้าน เช่น คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกลที่เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนล่าช้าแต่ข้อเท็จจริงผู้เขียนไม่ทราบวิจารณ์แค่ลีลาของผู้พูดเท่านั้น อีกคนหนึ่งที่ต้องชมคือคุณจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่อภิปรายชำแหละเปิดเบื้องหลังล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีการเตรียมสไลด์นำเสนอได้ดีหลายประเด็นทำให้มีความกังขาในความโปร่งใสส่วนข้อจริงหรือข้อเท็จในเนื้อหาชาวบ้านตาดำ ๆ อย่างผมไม่รู้ ตรงนี้ถือว่าการเมืองไทยมีการพัฒนาไประดับหนึ่งไม่ใช่แค่พูดแบบน้ำไหลไฟดับหรือพูดเอามันส์อย่างที่ผ่านมาในอดีต

ดังที่กล่าวแต่ต้นการอภิปรายครั้งนี้ภาพรวมดีขึ้นอาจมีส.ส.หน้าเดิม ๆออกมาประท้วงแบบ“ลูกน้องพิทักษ์นาย” ใช้วิธีแบบการเมืองน้ำเน่าต้องไม่ลืมว่าเป็นการถ่ายทอดสดและสามารถดูย้อนหลังในสื่อออนไลน์ ชาวบ้านใน   ยุคนี้พัฒนาการรับรู้ไปมากไม่ใช่มาหลอกหรือบิดเบือนข้อมูลที่สำคัญสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ถึงจะมีการซื้อ-ขายเสียงช่วงเลือกตั้งที่กลายเป็นประเพณีนิยมของการเมืองแบบไทย ๆ แต่ชาวบ้านเขามีวิธีพิจารณาผู้แทนของพวกเขาว่าควรจะเป็นอย่างไร ตรงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยที่ตกหลุมตกบ่อย่ำอยู่กับที่มากว่า 70 ปี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบไปแล้วรัฐบาลมีมือส.ส.ท่วมท้น รัฐมนตรีคงอยู่ได้ครบหน้าอยู่ในทำเนียบต่อไปได้อีกยาว ปัญหาเศรษฐกิจ-ชาวบ้านไม่มีสตางค์-หนี้ครัวเรือนสูงทำลายสถิติรวมถึงเข้าถึงวัคซีนอาจทำให้การรับรู้ทางการเมืองและคอรัปชั่นลดน้อยลงเพราะปัญหาปากท้องสำคัญกว่า ใครจะดี-ใครจะชั่วไม่สำคัญแค่ว่าวันนี้เงินน้อยนิดจากมาตราการเยียวยาที่รัฐบาลจะมาใส่ในกระเป๋าสตางค์ก็พอแล้ว...เศร้าครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )