posttoday

โควิดรอบใหม่...ความหวังอยู่ที่การเข้าถึงวัคซีน

25 มกราคม 2564

เศรษฐกิจรอบทิศ

เร็ว ๆ นี้มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างโอดครวญถึงสถานการณ์ที่ประสบอยู่ในขณะนี้อยู่ในขั้นแสนสาหัสทั้งจากอุปสงค์ความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงหรือหายไปเกือบหมด เมื่อมาเจอการประกาศพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุดถึงจะไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์แต่กิจกรรมต่าง ๆ แทบกระดิกตัวไม่ได้ การปลดล็อกบางธุรกิจในกทม.ให้กลับมาสามารถทำธุรกิจรวมไปถึงกำลังพิจารณาคลายล็อกจังหวัดภาคตะวันออกและพื้นที่สีแดงอื่น ๆ ถึงจะมีความเสี่ยงแต่ก็มาถูกทางเพราะหากเศรษฐกิจหยุดชะงักจะเป็นโดมิโนทำให้สถานการณ์จะรุนแรง ที่ผ่านมาธุรกิจทั้งรายเล็ก-รายย่อยโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวแทบอยู่ไม่ได้ขาดสภาพคล่องแต่ละวันมีแต่ถูกทวงหนี้รายได้ลดลงมากบางรายหายไปหมดไม่รู้ว่าปลายอุโมงค์จะมีสภาพอย่างไรหรือกลายเป็นปากเหวหนักกว่าเดิมไม่สามารถคาดเดาธุรกิจตัวเองว่ารอดหรือไม่รอด

ปัญหาผลกระทบและการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจขึ้นอยู่กับว่าอยู่ตรงภาคส่วนใดซึ่งสภาพแตกต่างกัน ธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพาต่างชาติเป็นหลักปีที่แล้วที่ว่าแย่นักท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคนเหลือ 6.9 ล้านคนเชิงปริมาณลดลงร้อยละ 82.7 ปีนี้จะหนักกว่าคาดว่านักท่องเที่ยวอาจลดเหลือเพียง 5.5 ล้านคนจะหาทางออกอย่างไร

ด้านโรงแรม-ที่พัก-รีสอร์ท-โซ่อุปทานที่พึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศเดิมทำท่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวพอมาเจอโควิดรอบ 2 กลับทรุดหนักกว่าเดิมทั้งที่ช่วงนี้เป็น “ไฮ-ซีซัน” ถูกยกเลิกการจองไล่เรียงจากที่พัก, ตั๋วเครื่องบินแม้แต่รถไฟเกือบทุกสายแทบว่างทุกขบวน

ล่าสุดสายการบินแอร์เอเชียโลว์คอสต์รายใหญ่สุดของประเทศผู้โดยสารแทบไม่มีประกาศลดพนักงานมากถึง 3 ใน 4 ให้หยุดงานโดยไม่มีค่าจ้างเป็นเวลา 4 เดือนและ/หรือให้พนักงานเข้าร่วมโครงการหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without pay)เป็นบางตัวอย่างของภาคท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดโซ่อุปทานเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากมายมีแรงงานในระบบประมาณ 2.9 ล้านคน

สำหรับภาคค้าปลีกปีที่แล้วได้รับผลกระทบทั้งจากนักท่องเที่ยวที่หายไปและถูกล็อกดาวน์แถมผู้บริโภคไม่มีสตางค์รายได้หดตัวสูงถึงร้อยละ12 คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 5-6 แสนล้านบาทปีนี้คงต้องลุ้น ภาคส่วนที่พอเป็นความหวังคือการส่งออกที่ปีที่แล้วทั้งปีหดตัวประมาณร้อยละ 6.9 แต่แนวโน้มการติดลบลดลงปีนี้ประเมินว่าอาจเป็นบวกร้อยละ 5.7 ขึ้นอยู่กับภาวะอุปสงค์ตลาดโลกว่าจะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด

สภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่เป็นการทำลายความฝันและความหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเดิมมีโครงการจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มพิเศษแต่สถานการณ์เช่นนี้หลายประเทศกลับทยอยล็อกดาวน์รอบใหม่ลดการเดินทาง แม้แต่โครงการไทยเที่ยวไทยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศก็พลอยซบเซา ไปด้วย นักวิชาการบางคนซึ่งมีโอกาสได้ร่วมวงสนทนามองโลกในแง่ดีว่ารัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปมาก ๆ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ภายในครึ่งปีแรก เนื่องจากยังติดยึดกับทฤษฎีแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเคนส์ (Keynesian Economics) เป็นคัมภีร์กว่า 90 ปีซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์วิกฤตที่มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มีคนติดเชื้อทั้งโลกกำลังจะใกล้ร้อยล้านคนและคนเสียชีวิตทะลุเลย 2 ล้านคน

โดยภาพรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาปีที่แล้วและไตรมาสแรกปีนี้น่าจะใช้เงินใกล้ๆ หนึ่งล้านล้านบาทไม่รวมเงินซอฟต์โลนและประกันสังคมรวมถึงการทยอยคลายล็อกพื้นที่สีแดงจะทำให้เศรษฐกิจพอจะเดินหน้าคงต้องไปดูจีดีพีไตรมาสแรกจะเป็นบวกหรือยังหดตัว ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือหลังเดือนมีนาคมหลายโครงการจะสิ้นสุดเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรหรือจะต้องหาสตางค์มาอัดฉีดอีกรอบหรืออีกหลายๆรอบ

รัฐบาลควรจะประเมินรับมือสภาพเลวร้อยสูงสุดหรือ “Worst Cast Scenario” เพราะเศรษฐกิจปีนี้คงไม่ได้ฟื้นตัวได้ง่าย ๆ คงต้องหาเงินก้อนใหญ่ไว้รองรับ กรณี “รมว.คลัง” เปรยว่าจะปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่มั่นคงเวลาอย่างนี้ภาคธุรกิจจะเอาเงินมาจากไหน

ความท้าทายของรัฐบาลนำโดยบิ๊กตู่และทีมเศรษฐกิจซึ่งคงกล่าวไม่ได้ว่าเป็น “Dream Team” เพราะมองไม่เห็นใครที่โดดเด่นว่าจะเป็นอัศวินม้าขาวกู้เศรษฐกิจ ขาดมืออาชีพและความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่เป็นเทคโนแครตซึ่งเป็นอดีตข้าราชการหรืออดีตผู้บริหารบรรษัทซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด

ขณะที่เอกชนที่เข้าไปช่วยงานรัฐบาลซึ่งเขาก็ไม่ค่อยให้ช่วยเท่าใดหรือ “ไม่มีกึ๋นพอ”ก็ไม่ทราบได้คอยแต่พยักหน้าเชียร์หรือขออะไรซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหวังพึ่งคงไม่ได้ แนวโน้มเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนจะยังทรงตัวการฟื้นตัวเป็นลักษณะ “K-shaped Recovery” ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอนและยืดเยื้อ

ล่าสุดแบงค์ชาติระบุว่าโควิดรอบใหม่จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยการฟื้นตัวไปถึงปลายปีพ.ศ. 2565 มีการปรับการเติบโตทางเศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงพร้อมทั้งวิตกถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาคแรงงานซึ่งคาดว่าแรงงานประมาณ 4.7 ล้านคนอาจมีความเสี่ยงทั้งจากรายได้ลดลง-การถูกออกจากงานหรือกลายเป็นผู้เสมือนว่างงานคือเป็นพวกที่ทำงานไม่ถึงครึ่งของชั่วโมงการทำงานปกติ สอดคล้องกลับผลการประชุม “Thailand Economic Monitor 2021” เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งระบุว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้ปีที่แล้วคนยากจนของไทยซึ่งอยู่ใต้เส้นความยากจนของธนาคารโลกเพิ่มจาก 3.7 ล้านคนเป็น 5.3 ล้านคน (ตัวเลขคนรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐมีถึง 14 ล้านคน) พร้อมทั้งระบุว่าปัญหาการว่างงานของไทยจะมีอัตราที่สูงขึ้น

ทางออกของประเทศคือวัคซีนซึ่งหลายประเทศรวมทั้งเพื่อนบ้านเขาเริ่มฉีดกันแล้วแต่ของไทยยังเถียงกันไม่ลงตัว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าได้พิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศอิตาลีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเป็นเอกสารเกือบหมื่นหน้าก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมากมายขนาดนั้น เดือนหน้าจะเริ่มทยอยเข้ามา

ประเด็นวัคซีนขณะนี้ชาวบ้านสับสนต้องให้ข้อมูลชัดเจนโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งก็มีหลายหน่วยงานจะต้องบูรณาการข้อมูลและมีกระบวนการอย่างไรที่จะให้ประชาชนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศสามารถเข้าถึงและเมื่อใด...สุดท้ายขอฝากคาถาสู้โควิดหากเป็นนายจ้าง “สู้ ๆ” หากสู้ไม่ไหวต้องอึดให้นานที่สุดหากเป็นชาวบ้าน-มนุษย์เงินเดือนทำอะไรไม่ได้รอเงินช่วยจากรัฐบาลอย่างเดียว...ครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )