posttoday

นายจ้าง-ลูกจ้างจะอยู่รอดได้อย่างไร...ภายใต้วิกฤตโควิดรอบใหม่

11 มกราคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เศรษฐกิจปีนี้แรงเริ่มต้นด้วยการกลับมาระบาดรอบใหม่ของไวรัสโคโรน่าอย่างไม่ทันตั้งตัวรอบใหม่นี้กล่าว ตรงกันว่าจะหนักกว่า การระบาดก่อนหน้านี้มาจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาแพร่เชื้อลามไปถึง แพปลา-ตลาดสด ต่อมาเป็นการแพร่ระบาดจากบ่อนการพนันแถบภาคตะวันออกพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนควบคุม การเข้า-ออกพื้นที่ 5 จังหวัดซึ่งยังไม่รู้ว่าจะรับมืออยู่ได้หรือไม่

ขณะนี้เริ่มเห็นการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลแต่ละโรงงานมีคนต่างด้าวเป็นหลักพัน บางแห่งเป็นหมื่นคนจากข้อมูลแรงงานที่ถูกกฎหมายมีประมาณ 2.397 แสนคนแต่จำนวนจริงต้องเอา 2 คูณ

ที่น่าห่วงมาก ๆ คือการแพร่ระบาดในโรงงานซึ่งไม่ได้เจาะจงเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งแรงงานไทยและ แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมาร์มีทั้งถูกกฎหมายและหลบเข้ามา ซึ่งในสายการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ประมงแปรรูปแรงงานเหล่านี้ทำงานปะปนกันวันหนึ่งอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงภายใต้อาคารปิดและพื้นที่เปียกชื้น เนื่องจากต้องล้างทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา พอพักเที่ยงก็ใช้โรงอาหารเดียวกันซึ่งแออัดมาก ๆ รวมถึงใช้ห้องน้ำมี การสัมผัสวัสดุ-อุปกรณ์ต่างๆ เรื่องการเว้นระยะห่างด้วยลักษณะการทำงานคงไม่ต้องพูดถึง

ประเด็นนี้รัฐบาลต้องให้ความสนใจโดยควรเข้าไปตรวจหาเชื้อ 100% ในโรงงานที่มีความเสี่ยงซึ่งทางเอกชน คงให้ความร่วมมือและน่าจะช่วยด้านค่าใช้จ่ายบ้าง เพราะหากการแพร่ระบาดที่มาจากโรงงานหรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะที่ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากหากเกิดแล้วแก้ยากและจะลามไปอย่างเร็ว หากถึงขั้นต้องปิดโรงงานอาจ กระทบไปถึงด้านการว่างงาน

ที่จะตามมาและอาจจะเริ่มเห็นในสัปดาห์หน้าคือการติดเชื้อซึ่งเป็นผลจากวันหยุดยาว ช่วงปีใหม่ประชาชนจำนวนมากแห่กันกลับบ้านทั้งไปเที่ยวเยี่ยมญาติพี่น้อง นอกจากใช้พาหนะส่วนตัวส่วนใหญ่ใช้รถสาธารณะโดยเฉพาะรถตู้ รถทัวร์ รถไฟที่แออัดเป็นการแลกเปลี่ยนลมหายใจการเว้นระยะห่างทำยาก พบว่าการแพร่ระบาดกินวงกว้างและโอกาสทั่วประเทศสูง 

การใช้วัคซีนเป็นเพียงแค่เริ่มต้น ในยุโรปเช่น ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อังกฤษใช้มาตรการล็อกดาวน์แรงให้ออกจากบ้านไม่เกินรัศมี 1.5 กิโลเมตรและห้ามพูดคุยกับ บุคคลภายนอกในเอเชียทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกำลังเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ เวลาเช่นนี้บางหน่วยงานรัฐจึงไม่ควรมา พะวงเกี่ยวกับการลงทุนในอีอีซีว่าจะไม่เข้าเป้า

ภาคเอกชนบางหน่วยงานก็ยังหนุนให้เปิดรับนักท่องเที่ยวรอบใหม่รวม ไปถึงให้รัฐบาลเร่งเจรจาการค้า เช่น “อาร์เซ็ป” (RCEP) ควรพักหรือเพลา ๆ ไว้ก่อนเอาไว้ปราบโควิดอยู่ค่อยว่ากัน

กลับมาการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่หรือเฟส 2 ทั้งนายจ้าง-เจ้าของธุรกิจและมนุษย์เงินเดือนจะรับมือ กันอย่างไร ผลกระทบและพิษสงจากปีที่แล้วยังหลอกหลอน มาตรการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจที่ใช้เม็ดเงินอัดฉีด เป็นหลักล้านล้านบาท พึ่งค่อย ๆ ฟื้นตัวเริ่มได้เห็น แต่ที่ยังไม่ฟื้นตัวไปแล้วไม่กลับยังมีอีกมากที่ชัดเจนคือธุรกิจที่ เกี่ยวกับท่องเที่ยว

รวมถึงโซ่อุปทาน เช่น โรงแรม, รถทัวร์, ไกด์, ร้านอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ปีที่แล้ว ภาคท่องเที่ยวเสียหายไปไม่น้อยกว่า 2.178 ล้านล้านบาท ปีใหม่นี้รัฐบาลเตรียมโครงการช่วยภาคท่องเที่ยว เช่น คนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกันและกระตุ้นเยียวยาเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เตรียมงบประมาณไว้ 6.1 แสนล้านบาท หลายโครงการต้อง พักไว้ก่อน ด้านอุตสาหกรรมกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาถึงระดับร้อยละ 64.8 ด้านภาคบริการ ค้าปลีก-ค้าส่ง เริ่มเห็น แสงสว่างมีรายได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีสตางค์ออกมาจับจ่ายใช้สอย พอเจอระบาดรอบใหม่ เหมือนน็อคทั้งยืนทั้งมึนและงงไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร

สำหรับภาคแรงงานที่ผ่านมามีจำนวนประมาณ 2.838 ล้านคน ที่ตัวเลขทางการยอมรับว่ามีเพียงเจ็ดแสนคน ที่เป็นผู้ว่างงานที่เหลือจึงกลายเป็นเสมือนผู้ว่างงานส่วนใหญ่กลับไปต่างจังหวัดใช้ชีวิตแบบพออยู่ไปวัน ๆ นานเข้าก็จะ สาบสูญไปจากสถานะคนที่เคยมีงานทำ ผลกระทบจากวิกฤตโควิดปีที่ผ่านมาเล่นงานตลาดแรงงานอย่างรุนแรงมากสุด

ในรอบสองทศวรรษสะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) เปรียบเทียบเดือนมกราคมกับตุลาคม 2563 มีจำนวนลดลงถึง 6.135 แสนคนหายไปถึงร้อยละ .26 และมีผู้ว่างงานไปขอชดเชยประกันสังคมเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา 4.916 แสนคนสูงสุดเท่าที่เคยมีแต่เดือนพฤศจิกายนเริ่มลดลงเล็กน้อยอาจเป็นสัญญาณว่าผลกระทบ ว่างงานอาจถึงจุดสูงสุดแต่ ณ เวลานี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปจึงยังเร็วไปที่จะกล่าวเช่นนั้น

การแพร่ระบาดรอบใหม่นี้เป็นโจทย์ยากรอพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้เพราะที่ผ่านมามาตรการต่างๆ เป็นเพียงระดับยาหอมหรือน้ำเปล่าแก้กระหายแม้แต่ซอฟต์โลนปล่อยกู้เอสเอ็มอียังเหลืออยู่อีก 3 แสนล้านเศษเพราะใช้ หลักประกันและความเป็นไปได้ของธุรกิจมาประเมินทำให้ธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยและธุรกิจที่เปราะบางเข้าไม่ถึง ปีนี้จะ นำมาใช้อีกโดยให้กู้ได้ 2 รอบดอกเบี้ยต่ำและไม่ต้องส่งต้น 6 เดือน  แต่หากไม่เปลี่ยนวิธียังใช้แบบเดิมๆ ก็คงเหมือนเดิม

ส่วนที่จะระบุว่าจะให้มีตัวกลางเครดิต (Credit Mediator) เข้ามาดูแลหรือธุรกิจที่เคยถูกปฏิเสธสินเชื่อไปก่อนแล้วจะ กลับมากู้ใหม่จะทำอย่างไรล้วนแต่เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบทั้งนั้น ในภาวะที่ไม่แน่นอนสำหรับมนุษย์เงินเดือนจะอยู่อย่างไร หากทำงานรับราชการ-รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทขนาด ใหญ่คงอยู่ได้เพราะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็อยู่สบายๆ ไม่ต้องดิ้นรนแต่ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในธุรกิจประเภทเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานเกือบร้อยละ 70 ภายใต้การระบาดรอบใหม่ทำให้เกิดความหวั่นวิตกและไม่แน่นอนของอนาคต สำหรับลูกจ้างที่กังวลมากที่สุดคือการตกงาน

ขณะที่นายจ้างที่เป็นเอสเอ็มอีวิตกมากสุดคือ “กลัวเจ๊ง” อนาคตและความหวังของประชาชนจึงฝากไว้กับ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะผู้นำประเทศจะ สามารถควบคุมเอาอยู่ได้เมื่อใด ช่วงนี้คงต้องประคองตัวและปรับตัวให้อยู่รอดหากเป็นลูกจ้างจะยังทำตัว้อยู่ไปวัน ๆ ไม่ได้ อย่าทำตัวเป็นส่วนเกินที่นายจ้างเขาจะเทออก ในภาวะเช่นนี้รัฐบาลต้องไม่กลัวเปลืองกระสุนมีอะไรงัดออกมา ต้องมีรูปแบบไม่ซับซ้อนให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงที่สำคัญต้องทำกันเป็นทีม ไม่ใช้เช้าพูดอย่างพอตกบ่ายอีกคน มาเบรกชาวบ้านสับสน....อย่างนี้ไม่เอานะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )