posttoday

วันนี้เศรษฐกิจไทยหายป่วยแล้ว...จริงไหม?

23 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ 'เศรษฐกิจรอบทิศ'

ขอพักเกี่ยวกับรัฐสภามีมติแก้รัฐธรรมนูญเบื้องต้นต้องผ่าน 2 ร่างจากนี้ไปเดินหน้านับหนึ่งแต่หนทางยังอีกไกล  ขณะที่ม็อบเพิ่มดีกรีวุ่นวายไม่รู้ว่าจะลงตัวหรือจบได้อย่างไร แต่ในช่วงที่วุ่น ๆ มีข่าวดีแทรกเข้ามาบ้างเกี่ยวกับ  สภาพัฒนฯ หรือ “สศช.” เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดเหลือติดลบร้อยละ 6.4 จากที่ไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ในช่วงล็อกดาวน์เศรษฐกิจหดตัวสูงถึงร้อยละ 12.2 ทำให้ช่วงมกราคม-กันยายนจีดีพีหดตัวร้อยละ 6.7  อาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวติดลบต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าอาจจะหดตัวถึงร้อยละ 7.8  ขณะเดียวกันปีหน้าซึ่งเหลืออยู่แค่เดือนเศษจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 4 แต่เศรษฐกิจจะยังไม่กลับมาเหมือนก่อนโควิดอย่างน้อยต้องไปถึงปีหน้า

คำถามเห็นตัวเลขนี้แสดงว่าเศรษฐกิจไทยที่เดิมคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายประเทศต่าง ๆในอาเซียนจะกลับมาฟื้นตัวได้แล้วหรือ สำหรับผมคงตอบว่าเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 3 อาการป่วยลดลงแต่ยังไม่หาย  แต่มีสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาเป็นบวกสะท้อนจากเดือนกันยายนมูลค่าส่งออกเชิงเหรียญสหรัฐหดตัวร้อยละ 3.86 ต่ำสุดในรอบหลายเดือน การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 10.7 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่หดตัวร้อยละ15  เซกเตอร์บริการยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคท่องเที่ยววัดจากการบริโภคขั้นสุดท้ายติดลบถึงร้อยละ 49.6 ด้านกำลังผลิตอุตสาหกรรม (CPU) เดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 63.07 ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรล่าสุดยังหดตัวร้อยละ 9.08 เห็นได้ว่าเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มมีการปรับตัวอย่างช้า ๆ แต่ยังอยู่ในโซนติดลบแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของการจ้างงานอย่างน้อยไปถึงกลางปีหน้าจะยังไม่กลับมา

ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือมาตรการพักหนี้ซึ่งปิดโครงการไปแล้วมีการประเมินว่ามีลูกหนี้สถาบันการเงินถึงร้อยละ 40 ที่เข้าร่วมโครงการยืดหนี้ยังคงเข้าข่ายต้องพักหนี้ต่อไป ในจำนวนนี้ประเมินว่ามีหนี้ที่ไม่อาจกลับคืนสภาพปกติมีสูงถึงร้อยละ 10 ตัวเลขนี้ยังไม่รวมลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อหายตัวหรือปิดธุรกิจไปแล้วคาดว่ามีสูงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 6 ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในเดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ร้อยละ 4 อาจเกี่ยวข้องกับโครงการเสริมสภาพคล่องหรือการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ปัญหาสภาพคล่องเกี่ยวข้องกับหนี้ครัวเรือนซึ่งพบว่ามี 1.14 ล้านครัวเรือนอยู่ในสภาพเปราะบางเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบที่ขาดความสามารถในการชำระหนี้ ประเด็นสภาพคล่องและหนี้ครัวเรือนเป็นกับดักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ได้แพร่ระบาดลามจากภาคธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานรากสะท้อนจากรายได้ของครัวเรือนลดลงขณะที่จำนวนหนี้เปรียบเทียบไตรมาสสองปีนี้กับปีที่แล้วพบว่ามูลหนี้ประชาชนสูงขึ้นถึง 5.02 แสนล้านบาท จากการสำรวจของหน่วยราชการแห่งหนึ่งพบว่าประชาชนยากจนมากกว่าเดิม มีการเปรียบเทียบว่าวิกฤตเศรษฐกิจครัวเรือนครั้งนี้ผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา จากการสำรวจคนยากจนในเมืองรายได้หดตัวสูงอาชีพอิสระรายได้ลดลงประมาณร้อยละ 30 หากเป็นอาชีพ  ด้านท่องเที่ยวรายได้หายไปสูงถึงร้อยละ 60 เคยสอบถามแท๊กซี่รายได้จากผู้โดยสารหายไปถึง 1 ใน 4 ขณะที่กลุ่มรับจ้างกินเงินเดือนโอทีหรือค่าล่วงเวลาแทบไม่มีสะท้อนจากกำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังมีส่วนเกินสูงบางแห่งทำงานไม่เต็มเวลาหรือให้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างบางส่วนมีจำนวนเป็นหลักแสนคน (มาตรา 75) ที่โชคร้ายอาจถูกให้ออกจากงานทั้งเลิกจ้างและ/หรือสมัครใจลาออกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 6.13 แสนคน

ผลจากการสำรวจดังกล่าวยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นแรงงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน, ค่าผ่อนรถ, ค่าผ่อนบ้านหรือแม้แต่ค่าเล่าเรียนลูกตลอดจนตัวเลขการนำข้าวของไปจำนำมีจำนวนสูงขึ้น ข้อมูลที่กล่าวนี้ไม่ได้โมเมได้มาจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2563 ของสศช. จากที่กล่าวอนุมานได้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่อเค้าไปในทางบวกแต่สภาวะสังคมยังมีความเปราะบางสูงจากความยากจนและหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น ๆ แต่ที่ต้องตระหนักรู้เศรษฐกิจปีพ.ศ.2564 จะปรับตัวเป็นบวกดีกว่าปีนี้แน่นอนไม่มีใครเถียง แต่ต้องเข้าใจว่าการฟื้นตัวหรือเศรษฐกิจที่เป็นบวกเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขปีนี้เกิดวิกฤตสาธารณสุขรุนแรงสุดในรอบร้อยปี ทำให้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจทุกตัวล้วนหดตัว “ปีหน้าการขยายตัวเป็นบวกไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจไทยหายป่วย” แต่เป็นอาการไข้ที่ลดลงและกำลังซื้อของประชาชนยังคงอ่อนแรง

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น “จ่ายคนละครึ่ง”ที่การลงทะเบียนมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเงินที่จ่ายสมทบให้กับแม่ค้า-พ่อค้าสามารถเข้าถึงได้ในวันรุ่งขึ้นทำให้มีความมั่นใจทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายต่างแฮปปี้มีเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน โครงการคล้าย ๆ เช่นนี้คงต้องทำต่อเนื่องเพราะจะหวังพึ่งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในระยะสั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การหวังว่าการลงทุนใหม่หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติจะแห่กันมาเหมือนก่อนโควิดระบาดยังเป็นเรื่องห่างไกลอย่างน้อย 2 ปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ควรออกเป็นแบบแพ็คเกจไม่ใช่ “ทำไปคิดไป” อาจทำให้เงินที่มีน้อยกระจัดกระจายที่สำคัญต้องใส่เงินให้ตรงจุดกลุ่มเปราะบางไม่ใช่เหวี่ยงแหอย่างที่เป็นอยู่

สำหรับมนุษย์เงินเดือนจากนี้ไปอย่างน้อยจนไปถึงกลางปีหน้าคงต้องประคองตัวให้ดีทำตัวเองให้มีคุณค่าอย่าเป็นคนตกยุค-ตกสมัยที่นายจ้างเขาจะโละทิ้ง แม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ช่วงนี้เขาปรับฐานมีโครงการ “ER” หรือสมัครใจลาออกเอาคนออกทีเป็นร้อย พิษสงของวิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ยังคงไม่หมดไปง่าย ๆ ปัญหาขณะนื้ คือรายได้ของแรงงานทั้งในระบบ-นอกระบบรวมถึงเกษตรกรลดน้อยลงขณะที่รายจ่ายคงเดิมทำให้เงินไม่พอใช้หนี้ครัวเรือนจึงสูงขึ้น มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์แห่งหนึ่งทำการสำรวจการปรับค่าจ้าง-โบนัสปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้าพบว่าธุรกิจที่ยังสามารถปรับค่าจ้างโดยเฉลี่ยอัตราร้อยละ 2.5 ของฐานรายได้ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 62 ของแบบสำรวจระบุว่ายังไม่ตัดสินใจว่าจะมีความสามารถในการจ่ายโบนัสได้หรือไม่ สำหรับธุรกิจที่ยังจ่ายโบนัสระบุว่าจะจ่ายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เอาว่าในเวลาเช่นนี้มนุษย์เงินเดือนที่ยังมีงานทำการปรับเงินเดือนหรือโบนัสจะได้หรือไม่ได้หรือได้น้อยกว่าเดิมคงไม่ใช่สาระ...ที่สำคัญธุรกิจที่เราทำงานปีหน้ายังไม่เจ๊งหรือยังมีงานทำก็บุญโขแล้วครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )