posttoday

โจ ไบเดน...ความหวังผ่อนคลายการค้าโลก

09 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ต่างกับที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะคนอเมริกันที่ออกมาใช้สิทธิมากสุดเป็นประวัติการณ์แม้แต่คนทั่วโลกให้ความสนใจติดตามการล้มแชมป์อย่างคุณทรัมป์ฯ ซึ่งดูเหมือนโพลก่อนเลือกตั้งว่าคะแนนจะทิ้งห่างแต่เอาเข้าจริงกลับไม่หมู ตลอด 4 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบทบาทของทรัมป์ฯโผงผางดำเนินนโยบายสุดโต่งคนอเมริกันมีทั้งชอบและไม่ชอบก้ำกึ่งกัน เป็นการต่อสู้ของคนยุค 1940 แสดงว่าสังคมสหรัฐฯ เลือกผู้นำโดยให้ความสำคัญกับวัยวุฒิและประสบการณ์มากกว่าการเป็นคนหนุ่ม-สาวที่เป็น “New Generation” การเลือกตั้งชาวโลกรวมถึงคนไทยเป็นข่าวดังทั้งสื่อกระแสหลักและออนไลน์ต่อเนื่องกันหลายวัน แม้แต่คู่อริอย่างประเทศจีนสื่อหลักแทบไม่ปรากฏข่าวเหมือนกับไม่มีอะไรแต่คนจีนหลายร้อยล้านคนติดตามจากโซเชียลมีเดีย “WeChat” ออกไปทางเชียร์คุณโจ ไบเดน ว่าจะลดดีกรีสงครามการค้ากับจีน สหรัฐอเมริกาในบริบทของไทยเป็นลูกค้าส่งออกรายใหญ่ที่สุดมูลค่าส่งออกปีนี้คาดว่าประมาณ 33,810 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัวถึงร้อยละ 7.4 ขณะเดียวกันยังเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของจีน, ญี่ปุ่น, ยุโรปและอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็เป็นตลาดใหญ่ของไทย ซัพพลายเชนโลกเชื่อมโยงกันหากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยฟื้นตัวตามไปด้วย หากติดตามการเปลี่ยนแปลงการเมืองสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อนโยบายต่างประเทศจะเห็นว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากพรรคไหนส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายที่คล้ายกันคือการสืบทอดการเป็น “World Superpower” หรืออภิมหาอำนาจเป็นผู้นำทางทหารของโลกขณะเดียวกันจะยังคงรักษาผลประโยชน์ของประเทศและลดการขาดดุลการค้า 

การอ่านไพ่คุณโจ ไบเดน หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะเข้าพิธีสาบานตนในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้าจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ที่มีอายุมากสุดหากอยู่ครบเทอมจะมีอายุถึง 81 ปี การดำเนินนโยบายคงคล้ายกับสมัยประธานาธิบดีโอบามาที่ดูว่าจะนุ่มนวลผ่อนคลายแต่ไทยก็ถูกอัดพอสมควร พรรคเดโมแครตเน้นให้ความสำคัญกับการค้าแบบเสรีนิยม (Liberalism) ทั้งด้านการค้าเสรี, ทุนนิยม, สิทธิมนุษยชน, ความเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ต้องเข้าใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ชูนโยบาย “The American First”  ขณะที่คุณโจ ไบเดน ช่วงหาเสียงชูนโยบาย    “Buy American” ซึ่งนัยไม่ได้แตกต่างกันคือเน้นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

สิ่งที่ต้องติดตามสหรัฐอเมริกาจะผูกการค้าเข้าไว้กับเสรีนิยมทั้งเศรษฐกิจและสิทธิทางประชาธิปไตยในการแสดงออกอย่างเสรีของประเทศที่จะค้าขายกับเขาจะเป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งประเด็นนี้เป็นจุดอ่อนของไทยสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือคือการกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนการผลิกฟื้นการเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเดโมแครตซึ่งประเทศที่จะต้องค้าขายกับอเมริกาจะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งหลายประเด็นเป็นข้อเสียเปรียบ แต่หลายประเทศโดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งการค้าและการลงทุนทางตรงได้เข้าเป็นสมาชิกเรียบร้อยและหลายประเทศในอาเซียนกำลังต่อคิว ตรงนี้เราคงไม่สามารถนิ่งตกขบวนไม่สามารถแข่งขันได้กลายเป็น “Trade Block” แม้แต่การถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ “GSP” จำนวน 231 รายการที่พึ่งถูกตัดสิทธิ์จะมีผลปลายปีนี้การเจรจาคงไม่ง่าย  

ขอเปลี่ยนประเด็นมาคุยเรื่องการเมืองในประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งเรียกร้องประชาธิปไตยต้องดูแลอย่าให้มีความรุนแรงต้องให้มีการคุยกันให้รู้เรื่อง มิฉะนั้นจะทำให้สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของพรรคเดโมแครตซึ่งเน้นเรื่องมนุษยชนเข้ามากดดันเหมือนกับที่เคยเกิดกับฮ่องกงโดยใช้กลไกการค้าซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้บอบช้ำ ทางออกของการแก้ปัญหาจากการที่รัฐสภาเห็นชอบให้มีกรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหาความขัดแย้งส่อเค้าว่าจะกลายเป็นมวยล้มเพราะแค่เริ่มต้นสามอดีตนายกรัฐมนตรีที่คุณชวน หลีกภัย ไปเชิญมาให้เป็นกรรมการฯ กลับถูกคนใกล้ชิดของรัฐบาลซึ่งเป็นถึงส.ส.กทม.ออกมาอัดว่า “ควรเอาไปดองเค็ม” อย่าลืมว่าส้มตำใส่ปูดองดังไปทั่วโลกและ ผัดคะน้าใส่ปลาเค็มปรุงรสดี ๆ เป็นเมนูระดับภัตตาคารใหญ่และโรงแรมหรู ควรมีวุฒิภาวะอย่าไปดูถูกดูแคลนกันเพราะจะสะท้อนถึงความคิดภายในของรัฐบาล

ขณะที่กลุ่มชูสามนิ้วประกาศไม่ร่วมเจรจาซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมเนื่องจากการออกมาชุมนุมก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การเจรจาต้องลอมชอมและยืดหยุ่นจะชุมนุมยืดเยื้อไปเพื่อประโยชน์อะไรขนาดการทำสงครามยังต้องมีการเจรจาเป็นระยะ ๆ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนเรียนกันสูง ๆ จึงต้องมีจิตสำนึกโดยเฉพาะพวกที่เรียนนิติศาสตร์และหรือรัฐศาสตร์รู้เรื่องประชาธิปไตยดีตั้งแต่ยุคกรีกต่อเนื่องมาจนถึงสงครามกลางเมืองอังกฤษเมื่อ 378 ปีในสมัยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ถึงวันนี้อังกฤษก็ยังมีสถาบันกษัตริย์ แม้แต่คำว่า “Demos” ในภาษากรีกซึ่งเป็นรากศัพท์ของ “Democracy” คือการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ใช่อนาธิปไตย การเจรจาภายใต้กรรมการสมานฉันท์จึงเป็นทางออกที่ดีให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตามค่อนข้างผิดหวังจากท่าทีของกลุ่มขัดแย้งทั้งส.ส.จากซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงส.ว.และกลุ่มราษฎร์ต่างมีจุดยืนของตนเอง พวกที่อยู่อำนาจก็พยายามยืดให้นานที่สุดที่มาจากฝ่ายค้านก็เล่นเกมส์การเมืองต่างคนต่างอ้างความรักชาติซึ่งหากรักจริง ๆ ไม่ต้องอยู่ยาวจนชาติพัง ยอมถอยบ้างอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ละท่านล้วนเป็นผู้อาวุโสมีวัยวุฒิ-คุณวุฒิอายุถึงปูนนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ยั่งยืนไปงานศพมานับไม่ถ้วนยังไม่รู้จักคิด วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าก็หนักอยู่แล้วอย่าให้วิกฤตการเมืองเข้ามาซ้ำเติม เศรษฐกิจขณะนี้เปราะบางมากทุกฝ่ายต้องช่วยกัน....สงสารประเทศไทยเถอะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )