posttoday

5 เทคนิคเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพรีเซนต์...ให้เวิร์ค

01 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ Great Talk

ผมมีคำถามว่า ทำอย่างไรที่เราจะสามารถสื่อสารหรือพูดให้คนอื่นฟังแล้วเขาสนใจได้ครับ เวลาผมต้องพรีเซนต์โปรเจคของบริษัทไม่ค่อยมีความมั่นใจเลยครับ

จาก เจด พนักงานบริษัท

หนูมีข้อสงสัยว่า ทำไมเวลาหนูออกไปพูดหน้าห้องทีไร สิ่งที่เตรียมมาทั้งหมด มันอันตธานหายไปหมดเลย คือหนูลืมหมดเลยค่ะ อาจาร์ย มีวิธีอย่างไรไม่ให้ลืมไหมค่ะ

จาก มด

ผมประสบปัญหาการพรีเซนต์งานหรือการสื่อสารหน้าชั้นมาตั้งแต่เด็กเลยครับ ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเพราะมัวแต่ฟังคนอื่นที่บอกว่าเราไม่มีค่าและที่สำคัญสุดคือผมพูดไม่รู้เรื่องครับ

การพูดไม่รู้เรื่องของผม มักจะเกิดจากผมคิดเยอะมาก คิดหลายอย่าง คิดหลายด้านเกินไป

กลัวเขาจะไม่อยากฟัง กลัวเพื่อนล้อเลียน กลัวพูดผิด ความผิดพลาดลุกลามไปถึงไม่รู้จะเอามือไว้ตรงไหน

กลายเป็นยืนหน้าชั้นเอามือล้วงกระเป๋า พูดไปล้วงกระเป๋าซ้ายขวา พอคนเอาไมค์ยื่นมาให้ คราวนี้ สับสนไม่รู้ว่าจะเอามือไหนใส่กระเป๋าหรือเอาไมค์ใส่กระเป๋ากางเกงไปเลย

ด้วยความที่ผมถูกกดดันไปเรื่อยๆ ตอนเรียนก็ไม่เท่าไหร่ พอทำงานนี่หนักเลยเพราะต้องโดนกดดันจากหัวหน้า กลายเป็นว่าพูดไม่ได้ ก็ทำงานที่นั้นไม่ได้

ชีวิตเราเมื่อไม่มีทางให้หนีก็มีแต่ต้องสู้กับปัญหาอย่างเดียวล่ะครับผมจึงค้นหาความรู้ทั้งหมดของการพรีเซนต์และปรับใช้กับความรู้เฉพาะทางของผมเองเป็นหลักการได้ดังนี้ครับ

1.ต้องเข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูด เราเองถูกฝึกให้ท่องจำ เพื่อสอบเก็บคะแนน สำหรับทำข้อสอบแบบเลือกตัวเลือก แต่สำหรับบางคนจะทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ

เมื่อโดนพลิกแพลง อย่างเช่น ข้อสอบปลายเปิดหรือไม่มีผิดถูกจะเริ่มสับสนเพราะคุ้นเคยกับคิดแบบ ลงตัวเป๊ะๆ การสื่อสารก็เช่นกันครับ เราต้องเข้าใจเนื้อหาที่เราจะสื่อสารก่อน

2.จดหัวข้อที่จะพูด เราใช้วิธีจดหัวข้อที่จะพูด แล้วนอกนั้นคำสร้อยเราก็ ใช้ความเข้าใจของเราอธิบายต่อ เพื่อให้มีความรู้สึกร่วมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง

3.สร้างประเด็นให้ชัดเจนในหัวของเรา ประเด็นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการพูดแบบไม่มีสคริปท์ให้อ่าน เวลาที่เราพูดไปเรื่อยๆ เราจะหลงประเด็น ที่เราต้องการสื่อสารทำให้ ผู้ฟัง หลุดจากสิ่งที่สำคัญที่เราต้องการสื่อ

4.ลองหัดพูดคนเดียว พูดให้เพื่อนฟัง และพูดในใจ สามขั้นตอนนี้ คือการฝึกสร้างภาพในหัวของเรา เพื่อให้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

5. ขั้นนี้คือขั้นสุดยอดของการสื่อสาร คือ การเล่าประสบการณ์ที่แท้จริงของเรา เพราะว่าหากเรา รู้จริง ทำเป็นจริง มีประสบการณ์จริง เราเองจะสามารถสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกร่วมและเราจะสามารถเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟังได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ