posttoday

ธุรกิจ-ประชาชนขาดสภาพคล่องหนักสุด...กับดักฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

29 มิถุนายน 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฟส 4 ต่อเนื่องไปเฟส 5 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ได้เดินหน้าประชาชนมีที่ทำมาหากินมาถูกทางแล้ว ความเสี่ยงจากการติดเชื้อมีแน่นอนแต่ที่ผ่านมาทีมแพทย์ทำได้ดีมีผู้เสียชีวิต 58 รายเปรียบเทียบกับแต่ละเดือนมีผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการสัญจรทางถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,900 รายหรือคนที่ตายจากการจมน้ำเฉลี่ยเดือนละ 334 ราย

ที่ยกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าชีวิตประจำวันต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ไม่ใช่เอาแต่คุมโปงอยู่ที่บ้าน ที่ต้องทำควบคู่กันไปคือมีมาตรการคุมเข้มด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงการที่จะให้มี              “Travel Bubble” ต้องมีมาตรการรองรับให้ดีเพราะเป็นการเสี่ยงพอๆกับการเปิดผับและบาร์

การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเป็นทางเดินของประเทศและอีกหลายประเทศจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนแต่ละอาชีพต่างทำไปตามหน้าที่เช่นทีมแพทย์ช่วงยังไม่มีวัคซีนต้องออกมาแนะนำมาตรการต่างๆที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีการระบาดรอบใหม่เมื่อมีคนป่วยติดโรคก็ต้องรักษา

ขณะที่ประชาชนต้องดูแลตนเองเพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องของปากท้องต้องให้ทุกอาชีพกลับมาทำมาหากินเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถเลี้ยงคนในประเทศกว่า 66 ล้านคน

ผู้คนขณะนี้เดือดร้อนมาก ยกเว้นผู้ที่ทำงานกินเงินเดือนของรัฐหรือมีอาชีพที่ถูกส้มหล่นจากช่วงโควิดระบาด เช่น หมอ, พยาบาล, ร้านสะดวกซื้อดังๆ ข้างบ้าน อุตสาหกรรมถุงมือยาง-ถุงมืออนามัยและหน้ากากอนามัยต่างๆ ฯลฯ   

สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างลำบากมากๆ แม้แต่ CEO สายการบินใหญ่ลำดับ 2 รองจากการบินไทยออกมาระบุว่ารอบนี้ไม่รู้ว่าจะสรรหาคำพูดอะไรที่จะสื่อสารว่า “หนักหนาสาหัสสุดๆ”

ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจหลายรายออกมาในทางเดียวกันว่า “ธุรกิจแย่แค่ประคองตัวให้รอดก็แทบไม่ไหวแล้ว” ธุรกิจส่งออกคำสั่งซื้อไตรมาส 3 ยังไม่มาส่วนใหญ่เป็น “Short Order”  เพราะในต่างประเทศเศรษฐกิจสาหัสกว่าไทย

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาหลายโรงงานยังไม่เปิดมีการทำ “Work from home” อยู่กับบ้าน ของที่ส่งไปก็ไม่มีคนไปรับที่ท่าเรือ การเปิด L/C ในต่างประเทศช่วงนี้ค่อนข้างยากหากขายเทอมประเภท T/T มีการยืดหนี้ออกไป 2-3 เดือน

ผลที่สะท้อนออกมาเห็นได้จากส่งออกเดือนพฤษภาคมหดตัวถึงร้อยละ 21 ต่ำสุดในรอบหลายปี คาดว่าเดือนถัดๆ ไปจากนี้การส่งออกจะยังทรุดตัวต่อเนื่องทำให้ทั้งปีอาจติดลบร้อยละ -10.3 เป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 7.857 แสนล้านบาทเงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ

หากเจาะลึกการส่งออกเดือนพฤษภาคมพบว่าคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรม        3 ใน 4 หดตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25.5 ที่อาการหนักสุดๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวถึงร้อยละ -62.5, ยางพารา -42.02, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเหล็ก -35.12, เครื่องใช้ไฟฟ้า -26.74, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ฯลฯ 

ด้านส่งออกภาคเกษตรก็หนักพอกันทั้งข้าว, ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, น้ำตาลทรายล้วนหดตัวทั้งสิ้นทำให้กำลังการผลิตและชั่วโมงการทำงานของสถานประกอบการต่างๆลดลงแรงงานในภาคส่วนเหล่านี้มีความเปราะบางขณะที่การจ้างงานใหม่จะยังไม่กลับมา

นอกจากนี้ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะคลายล็อกไปมากแล้วแต่ความบอบช้ำทั้งนายจ้างและคนที่ตกงานไปก่อนหน้านี้ การกลับมาเป็น “New Normal” ไม่เหมือนเดิมเพราะกำลังซื้อไม่มีทำให้ทั้งห้างค้าปลีก ร้านค้าย่อย ผู้ให้บริการต่างๆ ลูกค้าหายไปไม่น้อยว่า 1 ใน 3 แม้แต่ตลาดสดแผงลอยหายไปตั้งแต่คนมาจับจ่ายใช้สอยไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

มีการประเมินว่าระบบค้าปลีกที่ผ่านมาเสียหายไปไม่น้อยกว่า 3.3 แสนล้านบาท           

ด้านท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติรายได้หายไปประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.3 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะเหลือเพียง 8 ล้านคนลดลงจากปีที่แล้วที่เข้ามาเที่ยวจำนวนถึง 40 ล้านคน

เห็นตัวเลขนี้แล้วคงเข้าใจได้ว่าภาคท่องเที่ยวและแรงงานที่เกี่ยวข้องได้รับความเดือนร้อนเพียงใด ก่อนคลายล็อกเดือนมีนาคม-มิถุนายนจำนวนคนว่างงานมีมากมายรัฐบาลต้องกู้เงินเข้าไปเยียวยาใช้เงินไปไม่น้อยกว่า 6.0 แสนล้านบาท

โดยภาพรวมเศรษฐกิจจริงยังไม่รวมเงินเยียวยาของรัฐบาลอาจหายไป 3.515 ล้านล้านบาทตัวเลขนี้ยังไม่รวมความเสียหายจากภาคบริการและภาคเกษตรตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจครั้งนี้หนักหนาเพียงใด

ปัญหาที่ตามมา คือ สภาพคล่องธุรกิจจะมีความเปราะบางสูงเห็นได้จากหนี้เสีย “NPL” ของสถาบันการเงินขณะนี้มีประมาณ 4.9 แสนล้านบาทและเริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงอย่างเป็นนัยของลูกหนี้ซึ่งอยู่ใน “Stage 2” จำนวนเงิน 1.254 ล้านล้านบาท

จำนวนนี้เป็นหนี้ของภาคธุรกิจเอกชนสัดส่วนร้อยละ 71.3 ซึ่งส่วนใหญ่มีการยืดหนี้ไปปลายไตรมาส 3 หากเลยจากนี้จะกลายเป็น “NPL” เงินที่หมดหน้าตักจะทำให้ธุรกิจทยอยปิดกิจการ

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ระบุว่าไตรมาส 2 การหดตัวทางเศรษฐกิจจะทำสถิติสูงสุด คาดว่าอาจมีผู้ว่างงานตกค้างประมาณ 2-3 ล้านคนตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร

ขณะเดียวกันสภาพคล่องของประชาชนอยู่ในอาการหนักเห็นได้จากหนี้ครัวเรือนแค่ปีเดียวขยายตัวร้อยละ 4.78 เป็นเม็ดเงิน 6.433 แสนล้านบาทยังไม่รวมเงินกู้ซอฟท์โลนให้ภาคธุรกิจ 5.3 แสนล้านบาทและเงินกู้ภายใต้พรก.การเงินที่จะนำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านบาท

ปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังกำลังซื้อภายในจะหายไปการจ้างงานจะยังไม่กลับมาเหมือนปกติแต่คนไทยยังชอบเที่ยวช่วงปลายมิถุนายนพอคลายล็อกสถานท่องเที่ยวต่างๆเต็มไปด้วยผู้คน

โรงแรมแถบพัทยา-หัวหินเต็มแต่จะเป็นแค่ชั่วคราวเพราะฉลองเด็กใกล้จะเปิดเทอมหรือไม่ต้องติดตาม

สำหรับพวกที่ “สตางค์ไม่ค่อยมีแต่ใจถึง” ยังชอบเที่ยวหรือรูดบัตรเก่ง ยังไม่ตกงานก็ยังใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่จะตามมาหลังโควิด-19 คือความเปราะบางของการจ้างงานควบคู่ไปกับวิกฤตสภาพคล่องทั้งของนายจ้างและประชาชน

แต่สถาบันการเงินรอบนี้กอดเงินแน่นไม่ชัวร์ไม่ปล่อยเงินง่ายๆ แถมมาตรการของธปท.ไม่ให้แบงก์จ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นกู้จะทำให้เงินตุงแบงก์ซึ่งจะทำให้ระบบสถาบันการเงินของไทยมีความแข็งแกร่งต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปีพ.ศ.2541

สภาพคล่องของประเทศจะเป็นกับดักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นโจทย์ยากรอทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเป็นชุดเก่าหรือชุดใหม่มาแก้

นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศต้องกล้าตัดสินใจว่าโจทย์เศรษฐกิจครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

ในยามที่ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีใกล้เจ๊งขาดสภาพคล่องคนไม่มีงานทำที่ทำงานอยู่แล้วล้วนมีความเสี่ยงประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสตางค์จับจ่ายใช้สอย

หากจะทำอะไรก็เร่งทำแต่พวกโปรเจคขายฝัน...ไม่เอานะครับ