posttoday

WFH คือตัวชี้วัดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรบุคคล

28 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง

โดย ดิลก ถือกล้า

มาถึงวันนี้ คำว่า WFH หรือ Work From Home คือการปฏิบัติงานจากที่บ้านไม่ใช่คำที่แปลกใหม่สำหรับโลกการทำงานของบ้านเราอีกต่อไป

เพราะการทำงานทางไกลจากที่บ้าน กำลังกลายเป็น New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่ที่เจ้าไวรัส COVID-19 มาช่วยจัดแจงให้เกิดขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

บางคนเริ่มชิน ปรับตัวได้ สร้างประสิทธภาพในการทำงานได้อย่างไม่ตกหล่นเหมือนกับทำงานอยู่ที่ทำงานปกติ ในขณะที่บางคน กลับเจอสภาวะงุนงง จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่สามารบริหารเวลาที่ไม่มีหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาจนไม่สามารถทำงานออกมาได้เต็มศักยภาพ

สิ่งที่ผมมองจากการที่องค์กรต่างๆได้มีการทำ WFH มาได้ระยะเวลาร่วมสองเดือน ผมมองเห็นสิ่งที่ WFH ได้มีบทบาทโดยธรรมชาติของตัวมันเอง คือ การเป็นตัวชี้วัดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรบุคคล เหตุผลที่ผมมองอย่างนี้เพราะผมเห็นว่า การทำงาน WFH ได้ทำให้เห็นอะไรบางอย่างที่ชัดเจนขึ้นในการทำงานที่เราอาจจะไม่ได้เห็นจากการทำงานสำนักงานแบบปกติ

โดยผมมองว่า ปัจจัยที่เป็นตัวกรองความจำเป็นของการใช้ทรัพยกรบุคคลที่มองเห็นได้เมื่อทำ WFH

ประกอบด้วย

1. การได้ผลลัพธ์ (Output) การทำงานในที่ทำงานปกติจะเกิดบรรยากาศแบบช่วยๆกันทำ

งานบางงานจะมีคนอ้างว่ามีส่วนในการทำให้เกิดผลงานหรือผลลัพธ์ออกมาได้หลายคน จึงทำให้คนที่ทำงานแบบ Free Rider หรือทำงานแบบพิงเพื่อน

ยังดูเหมือนมีผลงานให้เห็น แต่เมื่อการทำงานเป็น WFHคนเหล่านี้จะไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาได้

2. การแสดงความรับผิดชอบ ( Accountability) การทำงานแบบ WFH จะต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนได้รับมอบหมายสูงมาก มีการติดดาม การต้องทำให้สำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งหากคนที่ขาดความรับผิดชอบแล้ว การทำงานแบบ WFH จะชี้ได้เห็นชัดเจนขึ้น

3. การมีวินัยอยู่ในตัว (Self-Discipline) การทำงานแบบไม่มีใครกำกับ สอดส่อง ไม่มีบรรยากาศที่ต้องเกรงใจหัวหน้า หรือเกรงใจเพื่อนร่วงาน เป็นธรรมดาที่จะทำให้คนที่ไม่มีวินัยในตัวเองจะแกว่ง และไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ทำงานที่ตนรับผิดชอบได้

4. ความคิดสร้างสรรค์ (Initiatives) ในการทำงานมักต้องการการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือมุมมองใหม่ๆในการทำงานเสมอ การทำงาน WFH จะเป็นตัววัดได้อย่างดีว่า ใครสามารถรังสรรค์ความคิด วิธีการทำงานที่บรรเจิดออกมาได้ 

เพราะในสถานการณ์ WFHจะไม่มีโอกาสจะหยิบจับรับฟังความคิดของเพื่อนร่วมงานมาแปลงเป็นของตัวเองได้

5. การทำงานเป็นทีม (Team Player) แม้ว่าการทำงานแบบ WFH จะมีความห่างทางกายภาพกับเพื่อนร่วมงานทำให้การได้ทำงานแบบเป็นทีมเหมือนจะทำได้ยาก

แต่ผมกลับมองว่าในสถานการณ์แบบ WFH จะเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่จะบอกได้ว่าใครเป็นคนทีทำงานเป็นทีมได้ดี เพราะเขาต้องจะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานโดยไม่ได้เจอกัน แต่จะต้องให้ได้งานโดยที่เพื่อนร่วมงานก็เต็มใจที่จะทำให้

6. ภาวะผู้นำ (Leadership) การบริหารทีมที่ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ผู้นำจะต้องอาศัยภาวะผู้นำที่ครบเครื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การติดตามแบบ Check In ทุกวันการสร้างความชัดเจนในเป้าหมายการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องการสร้างบรรยากาศให้เกิดความกลมเกลียวแม้จะอยู่ไกลกันก็ตาม

ดังนั้น WFH ไม่เพียงแต่เป็นตัวกรองพนักงานทั่วไป แต่ยังเป็นตัวกรองภาวะผู้นำของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

การที่ผมยก 6 ปัจจัยนี้ขึ้นมากล่าวว่า เป็นตัวชี้วัดความจำเป็นในการในการใช้ทรัพยากรบุคคลนั้น อาจจะฟังดูรุนแรง 

แต่ถ้าหากเรามองด้วยใจที่เปิดกว้าง เราจะเห็นว่าแม้ไม่มีเรื่อง WFH องค์กรก็จะมองปัจจัยเหล่านี้ในการวัดหรือประเมินศักยภาพของคนในองค์กรอยู่แล้ว

เพียงแต่เมื่อมี WFH เข้ามา ทำให้ปัจจัยเหล่านี้ชัดเจนขึ้น เท่านั้นเอง

WFH คือตัวชี้วัดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรบุคคล