posttoday

ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการจ้างงานครึ่งปีหลัง

01 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เดือนมิถุนายน ที่ย่างกรายเข้ามาเป็นเดือนสุดท้ายของครึ่งปีแรก หลังจากที่นานาชาติเผชิญการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีการประกาศพรก.ฉุกเฉิกทั่วประเทศมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และ ติดใจขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

การประกาศล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้คนตกงานมากมาย ล่าสุดสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแจงว่าอาจมีจำนวนถึง 8.4 ล้านคน

พลเอกประยุทธ์ฯ มีการออกพรก.การเงินจำนวน 3 ฉบับใช้เงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเหตุให้ปลายสัปดาห์ที่แล้ว

ฝ่ายค้านออกมาถล่มในสภาผู้แทนราษฎร์ซึ่งในภาวะที่ซีกฝ่ายค้านมีความอ่อนแอแถมส่วนใหญ่เป็นมือรองคงทำได้แค่คันๆ เท่านั้น

หากจะพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจ 2-3 เดือนข้างหน้า จะไปทางไหนดูได้จากตัวเลขนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำเข้าเครื่องจักรติดลบสูงถึงร้อยละ -26.75

อันที่จริงการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้แต่ 4 เดือนแรกของปีนี้ตัวเลขเฉลี่ยยังติดลบ

ขณะเดียวกันการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำเข้ามาผลิตขายในประเทศและส่งออกล้วนอยู่ในสภาพเดียวกันหดตัวสูงถึงร้อยละ 14.4 เป็นสัญญาณชัดเจนว่าอย่างน้อยไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 3

ภาคการผลิตยังอยู่ในช่วงหด ตัวสอดคล้องกับดัชนีกำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) อยู่ที่ร้อยละ 51.84 ของกำลังการผลิตทั้งหมด เป็นอัตราต่ำสุดนับแต่ปีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อพ.ศ.2554

ตัวเลขข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยไม่ใช่พึ่งมาแย่จากเหตุการระบาดของไวรัสฯ เพียงปัจจัยเดียว การนำเข้าเครื่องจักรที่หดตัวอย่างน้อย 16 เดือนต่อเนื่อง บ่งบอกว่าภาคเอกชนยังไม่กล้าการลงทุน เมื่อมาเจอกับวิกฤตโควิด-19

สถานการณ์จึงเลวร้ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ประเด็นสำคัญ ที่ต้องการชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนานและเป็นการเร็วไปที่จะด่วนสรุปว่าหลังคลายล็อกเศรษฐกิจจะกลับเหมือนเดิม

ต้องเข้าใจว่าการขยายตัวหรือหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ มีผลโดยตรงต่อการจ้างงานซึ่งตัวเลขจีดีพีที่ลดลงทุกร้อยละ 1 มีผลโดยตรงต่อการจ้างงานใหม่ที่หดตัวร้อยละ 0.795

เศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอแสดงให้เห็นถึงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวร้อยละ -1.8 คาดว่าไตรมาส 2 อาจหนักกว่าเดิมติดลบประมาณร้อยละ -10 เป็นสัญญาณชี้ว่าการจ้างงานจะเข้าสู่สภาวะชะงักงัน “Employment Stagnation” เป็นครั้งแรกของไทยในรอบสองทศวรรษ

ภูมิทัศน์ครึ่งปีหลังของภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ ล้วนอยู่ในช่วงชะลอตัวเพียงแต่จะมากน้อยแตกต่างกัน

ภาคท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่ยังไม่เห็นเวลาการฟื้นตัวถึงแม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้มีแพ็จเกจท่องเที่ยวในประเทศ แต่ด้วยสภาวะการตกงานจำนวนมากทำให้กำลังการจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น

ขณะเดียวกันความไม่เชื่อมั่นและวิตกกังวล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไทยเที่ยวไทยเพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ด้านอุตสาหกรรมการผลิตดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ผ่านมาติดลบหดตัวถึง 2 หลักบวกกับกำลังการผลิตที่อยู่เพียงแค่ครึ่งเดียวทำให้หลายอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงลำบาก แม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์เดือนเมษายนหดต่ำสุดในรอบ 30 ปี

หลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในโซ่อุปทาน ทำงานวันเว้นวันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะ “Over Supply” มีสต๊อกมากกว่า 1.7 แสนยูนิตมูลค่ากว่า 7.65 แสนล้านบาท

นอกจากกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งงานลดน้อยลงไปมากยังต้องระวังการผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันภาคการค้าปลีกถึงแม้จะได้คลายล็อกดาวน์ไปก่อนหน้านี้ แต่ร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์มีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 20-30 หากยังเป็นเช่นนี้หลายกิจการอาจต้องกลับมาปิดตัว

ปัญหาของนายจ้างที่ประสบอยู่ในขณะนี้ คือ ดีมานด์ความต้องการสินค้าและบริการลดน้อยลง ขณะที่ภาคท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด

กลุ่มธุรกิจที่คลายล็อกไปแล้วเผชิญกับความท้าทายที่ตลาดเงียบเพราะกำลังซื้อไม่มี บางส่วนเลือกที่จะไม่เปิดเพราะไม่คุ้มทุน หลายธุรกิจล้มแล้วไม่ฟื้น โดยพฤตินัยเจ๊งไปแล้ว

การคลายล็อกพื้นที่ ถึงช้าหน่อยแต่ก็ดีกว่าไม่กล้าตัดสินใจ เพราะหากจะตั้งการ์ดสูงป้องกันโควิดแต่ร่างกายผอมเหลือแต่กระดูกคนจนเต็มบ้านเต็มเมือง ประจักษ์พยานเห็นได้ชัดว่าคนจนเต็มไปหมดขโมยแม้แต่ถุงใส่อาหาร

คนไม่มีแม้แต่อาหารกินต้องเข้าแถวรับบริจาครายวัน เร็วๆ นี้ที่เมืองพัทยาภาพของกลุ่มคนจำนวนมากที่มารอคิวรับบริจาคสิ่งของตั้งแต่ตีหนึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม

ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงส่งผลให้ตลาดแรงงานจะหดตัว ธุรกิจต่างๆ จะลดขนาด (Down sizing) ใช้คนเท่าที่จำเป็น

หันไปใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจและ/หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อที่จะให้ใช้คนให้น้อยที่สุด

กลุ่มแรงงานเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบระดับต้นๆ คือ แรงงานใหม่ที่พึ่งจบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะหางานยากมากๆ ที่ตามมาเป็นแรงงานแรกเข้าที่พึ่งเข้าทำงานไม่เกินสองปี ยังไม่มีประสบการณ์หากให้ออกจากงานค่าชดเชยยังจ่ายไม่มาก

อีกพวกหนึ่งจะเป็นแรงงานส่วนเกิน จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต หรือ ธุรกรรมการค้าที่ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสูง ทำให้มีคนเหลือต้องถูกให้ออกจากงานภายใต้ “โครงการสมัครใจลาออก” ในรูปแบบต่างๆ

กลุ่มที่มีความเสี่ยงยังเป็นกลุ่มแรงงานสูงวัยหรือคนที่ไม่สามารถปรับตัวเอง ให้สอดคล้องกับ “New Normal” กลุ่มเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยง

ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกอย่างรุนแรงอันเป็นผลจากโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายร้อยปี ทำให้ไม่มีทฤษฎีหรือแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือ มาตรการต่างๆ จึงเป็นการลองผิดลองถูกและไม่รู้ว่าเมื่อใดการระบาดจะสิ้นสุดลง

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการจ้างงานซึ่งจะต้องเข้าใจถึงปัญหาเพื่อการวางแผนและมาตรการรับมือระยะยาว

หลังรัฐสภาผ่านรับรองพรก.กู้เงินแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการปรับครม.และต้องบูรณาการดึงกระทรวงแรงงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกล้าทำคือการเปลี่ยนคนที่เหมาะสมไม่ใช่ใช้พวกเพ้อฝันหรือคร่ำครึเป็นสนิมมาแก้วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้....จริงๆ นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com