posttoday

รับมือโควิด-19 ต้องยาแรง...เจ็บทีเดียว เอาอยู่

23 มีนาคม 2563

ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสของไทยพุ่งพรวดจากวันละไม่กี่ราย พฤหัสบดีที่แล้ววันเดียวถึง 60 กว่ารายเป็นเรื่องที่ น่าวิตกว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จะเอาอยู่หรือไม่

ดูจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงข่าว 2 วันติดต่อกันนอกจากไม่ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อมาตรการรับมือการแพร่ระบาดกลับกลายเป็นเรื่องที่เพิ่มความกังวลและกังขา

เพียงแค่หน้ากากอนามัยจนถึงขณะนี้ยังขาดแคลนราคาแพงกว่าเดิมด้วยซ้ำ หากจะซื้อจากร้านธงฟ้าต้องเข้าคิวแถวยาวมีโควต้าไม่เกิน 1 แพ็ค (4 ชิ้น) ต่อหนึ่งคน บทความนี้เขียนเมื่อวันศุกร์แค่ครึ่งวันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 50 รายไม่รู้ว่าถึงวันจันทร์ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมจะไปถึงเท่าใด

มาตรการที่มีอยู่คงต้องกลับมาทบทวนแค่เลื่อนวันสงกรานต์แต่ไม่ได้ประกาศให้งดจัดงานรื่นเริงโดยให้เป็นความร่วมมือของแต่ละพื้นที่อาจไม่เพียงพอ นิสัยคนไทยชอบสนุกปกตินั่งล้อมวงกินเหล้าหากอยู่ในช่วงเทศกาลก็ยิ่งไปกันใหญ่ ควรออกประกาศไปเลยว่าปีนี้ไม่สนับสนุนให้มีการเดินทางไม่ต้องอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเพิ่มขนส่งสาธารณะ

สำหรับการล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงที่คนแออัดด้วยการสั่งปิดสถานบันเทิง นวดแผนโบราณหรือนวดในอ่าง สนามมวย และธุรกิจให้บริการต่างๆ ตรงนี้มาถูกทางแล้วแต่ต้องเข้มงวดจริงๆ อีกมาตรการที่กำลังนำมาใช้เป็นด้านจิตใจคือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรรัฐบาลส่งเสริมให้ตามวัดต่างๆ มีการสวดรัตนสูตรหรือรัตนปริตรแผ่กุศลให้กับภูตทั้งหลายเพื่อปัดเป่าเชื้อไวรัสให้พ้นจากไทยแต่ทางประเทศเมียนมาเขาเจ๋งกว่านิมนต์พระสวดบนเครื่องบินแล้วพรมน้ำมนต์ลงมาข้างล่าง

ควรทบทวนมาตรการความปลอดภัยของพระสงฆ์องค์เจ้าที่บิณฑบาตจะมีวิธีป้องกันการปนเปื้อนได้อย่างไร รวมถึงการนิมนต์ไปสวดตามบ้านแล้วฉันท์อาหารล้อมเป็นวงควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนจัดเป็นชุดองค์ต่อองค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งการสวดทำวัตรเช้า-เย็นนั่งติดกันจะมีมาตรการอย่างไร

กรณีประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศอิสลามถึงขั้นงดประกอบพิธีทางศาสนกิจเพราะการชุมนุมพิธีทางศาสนาที่มัสยิดกาปิตัน เคลิง กลายเป็นแหล่งติดเชื้อ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจากไวรัส มีการวิจารณ์ว่ามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทยยังไม่ค่อยเข้มเห็นได้จากการระบาดมีการทวีความรุนแรงมากขึ้นเกรงว่าจะเหมือนกับเกาหลีใต้

ลองมาเปรียบเทียบมาตรการสู้โควิด-19 ของประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนใช้ยาแรงเริ่มจากมาเลเซียประกาศปิดประเทศยกเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม ปิดชายแดนไทยให้เข้าได้แต่รถบรรทุกห้ามประชาชนออกนอกบ้านในช่วงกลางคืน ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ งดพิธีกรรมทางศาสนกิจ ห้ามคนเดินทางออกนอกประเทศ

ปิดหน่วยงานราชการและเอกชน ประเทศสปป.ลาวสั่งปิดพรมแดนยกระดับคัดกรองทุกจุดชายแดนและมีแนวโน้มปิดด่านสากลทั่วประเทศงดออกวีซ่าท่องเที่ยวเป็นเวลา 30 วันประกาศงดงานบุญประเพณี ปิดกิจการร้านบันเทิงและกิจการงานต่างๆ ประเทศอินโดนีเซียตั้งงบประมาณฉุกเฉินประมาณ 2.328 แสนล้านบาทอัดฉีดแก้ปัญหาสถานประกอบการเจ๊ง

สำหรับประเทศที่พัฒนาต่างงัดมาตรการขั้นเฉียบขาดมาสกัดการแพร่ระบาดตัวอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือ “Statement of Emergency” มีการประกาศเคอร์ฟิวเกือบทุกรัฐปิดสถานประกอบการต่างๆ ร้านค้า-ร้านอาหารตั้งแต่เวลา 19.00 – 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

งดออกวีซ่าต่างชาติทุกประเทศเข้าประเทศ ด้านการเยียวยาธนาคารกลางหรือ “FED” ลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์แจกเงินประชาชนครอบครัวละ 1,000 เหรียญสหรัฐตั้งงบประมาณในส่วนนี้ถึง 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นเงินไทยประมาณ 8.125 ล้านล้านบาท เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลและบุคคลออกไป 90 วัน

สำหรับยุโรป 26 ประเทศปิดพรมแดนไม่ให้ไปมาหาสู่กันและห้ามคนนอกเข้าประเทศ ประเทศฝรั่งเศสห้ามประชาชนออกจากบ้านเป็นระยะเวลา 15 วันฝ่าฝืนโทษปรับเป็นเงินไทยสูงถึง 4,800 บาท ขณะที่ประเทศอังกฤษออกแพ็คเกจคิดเป็นเงินไทยประมาณ 12.5 ล้านล้านบาทอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ให้ผู้ประกอบการปิดธุรกิจซึ่งจะกระทบการจ้างงาน

เห็นไหมครับว่าแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านต่างงัดยาแรงมาสู่กับไวรัสโควิด-19 ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ออกมาส่วนใหญ่ใช้ได้แต่ขอให้ปฏิบัติได้จริงโดยเฉพาะด้านสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการอย่าให้ถึงขั้นปิดกิจการเพราะโอกาสเสี่ยงที่จะมีคนตกงานสูง องค์กรเอกชนทั้งของภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวประเมินว่าอาจมีถึงหนึ่งล้านคน

สำหรับเงินประกันสังคมที่เอกชนเขาขอให้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0.5 เป็นระยะเวลา 6 เดือนเป็นเม็ดเงินประมาณหกหมื่นล้านบาทเป็นเงินของเขาวันนี้เป็นวิกฤตควรจะออกมาใช้อย่าไปกอดเก็บเฉยๆ บอกว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะไม่พอ มาตรการปล่อยสินเชื่อบอกว่ามีเม็ดเงินรวมกัน 1.8 แสนล้านบาทแต่สอบถามพวกแบงค์เขาบอกว่าไม่เห็นไม่มีมาตรการอะไรออกมาให้ปล่อยตรงนี้ขอให้ไปดู

มาตรการสู่ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้หนักหนามากต้องใช้ยาแรงซึ่งไม่ใช่มีแค่ปิดสนามบินซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วย แต่ถึงไม่ปิดสนามบินประเทศต่างๆ กว่า 24 ประเทศไม่ให้คนไทยเข้าประเทศและไม่ให้คนของเขาหรือนักเดินทางที่เคยแวะประเทศไทยหรือแค่เปลี่ยนเครื่องเข้าประเทศ ยาแรง

ยังรวมถึงมาตรการเชิงบังคับผู้ที่จะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟ, รถไฟฟ้า, สนามบิน, รถโดยสารประจำทางต้องปิดหน้ากากอนามัยมิฉะนั้นจะไม่ให้เดินทางแต่จะมีหน้ากากอนามัยพอแจกหรือไม่ตรงนี้เป็นปัญหา ส่วนงานรื่นเริงที่คนมากๆ ต้องมาชุมนุมกันต้องมีมาตรการเฉียบขาดถือเป็นการผิดกฎหมายช่วงคสช.เข้ามาปฏิวัติยังห้ามชุมนุมเกิน 5 คนถึงขั้นจับเข้าคุก

ด้านเศรษฐกิจโลกเห็นสัญญาณการทรุดตัวอย่างรุนแรงสะท้อนจากราคาน้ำมันดิบโลก (WTI) ช่วงต้นปี ราคา 63.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตกฮวบเหลือ 20.37 เหรียญสหรัฐก่อนที่จะขึ้นมาที่ระดับ 25.9 เหรียญสหรัฐ เป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ตลาดหุ้นทั้งนอกและในร่วงแบบสุดๆ

จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องอัดฉีดเงินเข้าตลาดบอนด์แสนล้านเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดธนบัตร และกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาตั้งกองทุนมูลค่าเท่ากันในการพยุงหุ้น มีความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงขั้นถดถอยแบบ “Recession Economic Down” การสู้กับไวรัสร้ายครั้งนี้หนักหนาสาหัสมากกว่าทุกครั้ง มาตรการผลุบๆ โผล่ๆ กล้าๆ กลัวๆ อาจไม่ได้ผล

ควรเพิ่มมาตรการถึงอาจจะรุนแรงแต่เจ็บทีเดียวแล้วจบคล้ายกับประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนจะทำอย่างไรชาวบ้านไม่รู้ประสาอย่างผมไม่รู้...แต่คนที่อาสาเข้ามาดูแลประเทศต้องรู้และกล้าทำ.....น่ะครับ