posttoday

Returnship Program อีกทางเลือกในการจ้างาน

19 มกราคม 2563

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง

โดย ดิลก ถือกล้า
Email: [email protected]

ในโลกของการทำงาน องค์กรยังต้องการคนที่มีประสบการณ์ทั้งด้านวิชาชีพและด้านการบริหารการจัดการ เพื่อมาเติมในองค์กร ที่หลายครั้ง องค์กรไม่สามารถพัฒนาคนในองค์กรได้ทัน
หรือไม่สามารถหาคนที่ยังทำงานอยู่ในตลาดแรงงานมาเติมในตำแหน่งเหล่านั้นได้

แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกมองข้ามไป คือ กลุ่มคนทำงานที่ได้ลาออกไปจากแวดวงการทำงาน ออกไปจากองค์กร ด้วยเหตุผลต่างๆกัน เช่น ไปเลี้ยงลูก ไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปดูแลครอบครัวด้วยเหตุผลต่างๆกัน

เมื่อเวลาผ่านไป คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีภารกิจที่เป็นเหตุผลของการออกไปจากองค์กรอีกแล้ว และหลายคนอยากกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนเหล่านี้ขาดโอกาสกลับมา
เพราะไม่มีเครือข่ายเนื่องจากห่างหายไปหลายปี

หรือองค์กรเองก็ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้จะยังมีความสามารถหรือทักษะที่เคยมีอยู่หรือไม่ หรือ ถ้ายังมีอยู่จะยังเป็นทักษะที่ใช้ได้กับองค์กรอยู่หรือไม่

หลายองค์กรที่ต้องการคนที่มีทักษะและประสบการณ์การสูงเข้ามาร่วมงาน เริ่มตระหนักกับเรื่องนี้

จากรายงานของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำพบว่า
ในปัจจุบันได้มีบริษัททั่วโลกกว่า 160 บริษัท ได้เริ่มทำโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ ได้กลับเข้ามาทำงาน เรียกว่า “Returnship Program” เป็นโครงการที่น่าสนใจอย่างไร ผมขอนำมาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

อะไรคือ Returnship Program เท่าที่ผมได้ศึกษาดู เรื่อง Retrurmship ยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย ผมจึงยังไม่เห็นคำแปลที่ใช้กัน จึงขอเรียกทับศัพท์ว่า Returnship ซึ่งความหมายของ Returmship Program คือ การจัดโครงการที่นำอาคนที่เคยทำงานด้วยการใช้ทักษะหรือวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูงแล้วได้ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งกลับเข้ามาในองค์กร

แต่เนื่องจากโลกที่เปลี่ยนไป ธุรกิจที่เปลี่ยนไป องค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องจัดเป็นโปรแกรมเพื่อให้คนกลุ่มนี้ ได้ทำความเข้าใจ ปรับตัวใหม่ก่อนตัดสินใจว่า จะเข้าทำงานกับองค์กรหรือไม่ ในทางกลับกัน องค์กรก็มีเวลาประเมินว่า คนเหล่านี้มีความพร้อมที่จะกลับเข้ามาช่วยองค์กรได้จริงหรือไม่ บางองค์กรจะเปรียบว่า Returnship Programm ก็จะคล้ายกับ Internship Program (โครงการฝึกงาน) หรือ Management Trainee Program (โครงการพัฒนาผู้บริหารฝึกหัด) เพียงแต่ Returmship Program เป็นโครงการที่มุ่งไปที่พนักงานระดับสูงหรือผู้มีประสบการณ์สูง

การออกแบบโครงการ Returnship Program โดยทั่วไปการออกแบบโครงการ Returnship Program จะมีลักษณะ ดังนี้

  • มีการประเมินว่า ทักษะหรือประสบการณ์การทำงานในด้านใด ที่องค์กรขาดแคลน ไม่สามารถสร้างคนในองค์กรได้ทันตามความต้องการ หรือ เป็นทักษะหรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อกลยุทธ์องค์กร
  • เปิดรับคนเข้าร่วมโครงการ โดยจะเจาะลงไปในกลุ่มคนที่องค์กรประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริงๆ
  • ออกแบบโครงการที่มีระยะเวลา 3-6 เดือน โดยจะคล้ายกับ Internship Program เพียงแต่กลุ่มคนจะเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์สูง
  • จัดโครงการที่ให้ผู้ร่วมโครงการได้เรียนรู้ภาพรวมขององค์กร และเน้นการลงไปในหน่วยงานที่มีลักษณะงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับทักษะและประสบการณ์ที่องค์กรกำลังมองหา
  • มอบหมายให้มีพี่เลี้ยงของแต่ละหน่วยงานอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานนั้นๆ
  • มีการระบุชัดเจนว่า โครงการนี้เป็นเชิญการเข้ามาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดว่า องค์กรจะต้องจ้างงานผู้เข้าร่วมโครงการ หลังจากจบโครงการแล้ว

ทำไมจึงควรมีโครงการ Reternship Program

การทำ Returnship Program จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กร และต่อตัวพนักงานที่เคยออกไปจากเวทีการทำงานที่ต้องการกลับเข้าสู่แวดวงการทำงาน

โดยข้อดีต่อองค์กร ก็คือ

  • องค์กรสามารถเข้าถึงกลุ่มคนมากความสามารถ(Talent) ที่มีประสบการณ์หลากหลายสาขาอาชีพตรงตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้มีทางเลือกและมีโอกาสได้คนเก่งๆเข้ามาร่วมงาน
  • สามารถเลือกได้ว่า จะเจาะไปที่คนกลุ่มไหน เพื่อได้คนที่มีทักษะประสบการณ์ตรงกับที่องค์กรขาดแคลน หรือเป็นทักษะที่ตอบกับกลยุทธ์ขององค์กร
  • การทำเป็นโครงการลักษณะนี้ จะทำให้องค์กรลดความเสี่ยงที่จะได้คนที่ไม่เหมาะกับองค์กร เพราะองค์กรได้มีเวลาให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ และพิสูจน์ตนเองในระยะเวลาหนึ่ง
  • คนที่อยู่ในองค์กร จะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายในองค์กร และ ข้อดีต่อพนักงานที่เคยออกไปจากเวทีการทำงานก็คือ
  • ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีเวลาในการปรับตัว และเรียนรู้การกลับมาสู่เวทีการทำงานโดยมีกิจกรรมที่รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
  • ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนในองค์กร เพื่อสร้างความคุ้นเคยวัฒนธรรมการทำงาน สไตล์การทำงาน ก่อนจะเข้ามาทำงานจริง ซึ่งจะทำให้เขารับรู้ว่า เคมีในการเข้ามาทำงานจะไปกันได้กับตัวเขาหรือไม่ ทำให้ตัวเขาจะตัดสินใจได้ว่า ควรจะเข้ามาร่วมงานหรือไม่
  • ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้มีโอกาสกลับมาพัฒนาทักษะใหม่ๆ ถึงแม้ว่าถึงตอนจบโครงการแล้ว อาจจะไม่ได้ถูกเลือกให้เข้าทำงาน แต่เขาจะได้นำทักษะเหล่านั้นไปใช้ต่อยอดกับเรื่องอื่นๆได้

ข้อแนะนำหากองค์กรในไทยสนใจจะทำโครงการ Reternship Program ดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น ผมยังไม่ได้ข้อมูลว่า มีองค์กรใดบ้างในประเทศไทย ได้เริ่มมีการปรับใช้การทำ Returnship Program ไปแล้วบ้าง ผมมีข้อแนะนำว่า

หากองค์กรใดต้องการปรับใช้ โดยเฉพาะองค์กรที่ยังไม่คุ้นกับการทำโครงการในลักษณะที่คล้ายกัน เช่น การทำ Internship Program องค์กรควรทำความเข้าใจกับคนในองค์กรว่า โครงการนี้คืออะไร จำเป็นต่อองค์กรอย่างไร เราจะได้อะไรจากโครงการนี้ โดยพยายามสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในองค์กรให้มากที่สุด โดยการเริ่มโครงการ ควรจะเริ่มจากจำนวน 2-3 คนสำหรับทักษะงานที่จำเป็นจริงๆก่อน เพื่อให้สามารถให้เห็นความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม จะได้เป็นกรณีตัวอย่างในการดำเนินการต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.hrinasis.com และ www.themuse.com