posttoday

ก่อสร้างงานเพิ่ม ต้องตกลงค่าจ้างใหม่ก่อน มิฉะนั้นผู้รับเหมาเสียสิทธิเรียกค่าจ้าง

05 พฤศจิกายน 2562

โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ ที่ปรึกษากฏหมาย [email protected]

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ งานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่มนอกเหนือไปจากที่สัญญาจ้างระบุไว้ ผู้รับจ้างต้องตกลงราคาใหม่กับผู้ว่าจ้างก่อน ผู้รับจ้างจึงจะเริ่มดำเนินการทำงานที่เพิ่มขึ้นมาได้ มิฉะนั้น ผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าจ้างในส่วนงานที่เพิ่มแก่ผู้รับจ้าง ทั้งนี้เป็นไปตามหลักที่วางไว้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6443/2540

ผู้ว่าจ้างไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับงานเพิ่ม

ข้อเท็จจริงในคดีเป็นเรื่องผู้รับจ้างผู้เป็นโจทก์ ฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการเจ้าของโครงการทำถนนสายต่างจังหวัดแห่งหนึ่งให้ชำระค่าจ้างสำหรับงานเพิ่ม ผู้รับจ้างเขียนในคำฟ้องว่าได้ตกลงและต่อรองราคากับคณะกรรมการตรวจการจ้างของหน่วยงานเจ้าของโครงการแล้ว โดยผู้รับจ้างได้นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่และดำเนินการสำรวจแนวเบื้องต้นแล้วพบว่า ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 2 ของถนนที่จะทำการก่อสร้างได้สำรวจพบหินแข็งซึ่งจำเป็นต้องระเบิดทิ้งเป็นจำนวนมาก และมีหินผุที่ต้องตัดทิ้งด้วย และสัญญาจ้างก่อสร้างตกลงกันเฉพาะงานดินถมถนนและดินตัด ไม่ได้ระบุเรื่องหินแข็งและหินผุไว้ ผู้รับจ้างจึงได้ขอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ว่าจ้าง แนะนำวิธีที่จะปฏิบัติและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับวิธีการระเบิดหินและตัดหินออกและให้ผู้รับจ้างดำเนินการได้

โยธาธิการจังหวัดก็ได้ทำบันทึกข้อความเสนอประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างมีรายละเอียดงานตัดดินงานระเบิดหินแข็งและงานตัดหินผุ เป็นปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจำนวน 17,664,330 บาท และผู้รับจ้างก็ได้ก่อสร้างถนนไปจนเสร็จ และได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้ว และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานแล้วในเดือนเดียวกัน ผู้รับจ้างได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเดิมไปเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับงานที่เพิ่มขึ้น หน่วยงานเจ้าของโครงการผู้ว่าจ้าง ยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงฟ้องเรียกค่าจ้างที่ค้างไว้ดังกล่าว

ผู้รับจ้างไม่ได้ตกลงราคาใหม่กับผู้ว่าจ้าง

ศาลฎีกาตั้งประเด็นวินิจฉัยปัญหาว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการผู้ว่าจ้าง ได้ตกลงให้ผู้รับจ้างทำงานระเบิดหินแข็งและตัดหินผุเพิ่มเติมจากข้อตกลงในสัญญาหรือไม่ ซี่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ว่าจ้างเป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิตกลงแก้ไข หรือเพิ่มงาน หรือลดงานจากรายละเอียดในสัญญาจ้าง แต่คณะกรรมการตรวจการจ้าง เป็นเพียงคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่แทนผู้ว่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการพัสดุ มีหน้าที่ตรวจการจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบ ตลอดจนตรวจรับงานให้ถูกต้องตามสัญญา คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่ได้เป็นคู่สัญญากับผู้รับจ้าง และไม่ได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าจ้างให้ตกลงหรือตัดสินใจแทนผู้ว่าจ้าง ในเรื่องราคาใหม่ของงานเพิ่ม คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่มีหน้าที่ตกลงในเรื่องดังกล่าว

ดังนัน เมื่อผู้รับจ้างสำรวจพบหินแข็งหินผุในสายทางซึ่งต้องระเบิดทิ้งและตัดทิ้งตามลำดับ แต่อยู่นอกเหนือแบบและรายการประมูล ผู้รับจ้างจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเดิม โดยตกลงเพิ่มงานและคิดราคากับผู้ว่าจ้างใหม่ แต่ผู้รับจ้างมิได้กระทำเช่นนั้น ผู้รับจ้างเพียงแต่สอบถามคณะกรรมการตรวจการจ้างถึงวิธีดำเนินการ และคณะกรรมการตรวจการจ้างเห็นชอบด้วยกับวิธีระเบิดหินแข็ง และตัดหินผุ

ผู้รับจ้างไม่ทำตามสัญญาเดิม ถือเป็นความเลินเล่อของผู้รับจ้าง

การที่ผู้รับจ้าง ฎีกาว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อรองราคาและตกลงกับผู้รับจ้างเป็นค่างานที่เพิ่มขึ้นตามบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้รายงานข้อตกลงและการต่อรองราคาให้ผู้ว่าจ้างทราบตามบันทึกรายงานการประชุมนั้นแล้ว เป็นเพียงเรื่องที่คณะกรรมการตรวจการจ้างขอความเป็นธรรมที่ผู้รับจ้างทำงานเกินไปกว่าข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ว่าจ้างเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการตรวจการจ้างที่พิจารณาให้ผู้รับจ้างทำงานเพิ่มขึ้นจากที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างและยังปรากฏหลักฐานว่าผู้รับจ้างเคยร้องเรียนที่อธิบดีได้เรียกไปชี้แจงและตอบให้เข้าใจแล้วว่า ว่าจ้างเหมาตามสัญญาไม่มีเงินเพิ่ม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนเพิ่มเติมไปก่อนที่จะตกลงราคากันใหม่กับผู้ว่าจ้าง ไม่เป็นไปตามข้อสัญญาเดิม เป็นความผิดพลาดของผู้รับจ้างแต่ฝ่ายเดียว ผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าจ้างในส่วนงานที่เพิ่มแก่ผู้รับจ้าง

ผู้รับจ้างต้องคุยกับผู้ว่าจ้างโดยตรง

งานนี้ผู้รับจ้างทำงานเพิ่มฟรี มิหนำซ้ำยังขาดทุนจำนวนมาก เสียค่าจ้างและค่าใช้จ่ายไป 17.7 ล้านบาท โดยไม่ได้คืนแม้แต่บาทเดียว เพราะติดต่อคนผิด ไปติดต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง ที่มีหน้าที่แค่ตรวจรับงาน ไม่มีหน้าที่และอำนาจในการตกลงแก้ไขสัญญาจ้างเดิมกับผู้ว่าจ้าง จะบอกว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้างในเรื่องการตกลงราคาใหม่ก็พูดไม่ได้

การตกลงราคาใหม่สำหรับงานเพิ่มโดยคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงไม่ผูกพันผู้ว่าจ้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างเป็นเพียงตัวแทนการตรวจงานและรับมอบงานของผู้ว่าจ้างเท่านั้น และแม้ว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างจะรับมอบงานในส่วนที่ทำเพิ่มเข้าไปด้วย ก็ไม่ถือว่าผู้ว่าจ้างตกลงด้วยในราคาใหม่ 17.7 ล้านบาทนั้น เงิน 17 ล้านไม่ใช่เงินน้อยๆ เสียดาย ไหนจะดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีอีก

อุทาหรณ์สอนใจข้อหนึ่งที่ได้จากคำพิพาษาฎีกานี้ได้แก่ ผู้รับจ้างต้องขยันหมั่นจดบันทึกรายงานการประชุมกับผู้ว่าจ้าง เกิดปัญหาอะไรขึ้น จะได้แนบบันทึกการประชุมมาเป็นเอกสารแนบเป็นหลักฐานท้ายคำฟ้องคล้ายกับคดีนี้ ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาของศาล

ให้ผู้ประเมินค่างานบุคคลที่สามชี้ขาด

ธรรมชาติของผู้รับจ้างย่อมเกรงใจผู้ว่าจ้าง ใครๆก็ไม่อยากฝืนคำสั่งของลูกค้า แต่ในเรื่องงานเพิ่มนี้ ถ้าผู้รับจ้างไม่แข็งใจคุยราคาใหม่กับลูกค้าก่อน จะเกิดผลเสียหายตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หากเป็นโครงการที่ผู้ว่าจ้างมีวิศวกรที่ปรึกษาดำเนินการแทน วิศวกรที่ปรึกษาจะมีอำนาจเต็มในการตกลงราคาใหม่แทนผู้ว่าจ้าง จะลดผลกระทบที่ต้องคุยกับผู้ว่าจ้างโดยตรงได้มาก การตกลงของวิศวกรที่ปรึกษาที่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ว่าจ้างในทุกเรื่องย่อมที่จะผูกพันผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้ท่านต้องตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของวิศวกรที่ปรึกษาในสัญญาจ้างก่อสร้างเสียก่อนคดีนี้ผู้รับจ้างพยายามทำตามสัญญาจ้างเดิมแล้ว แต่เจรจาผิดคน จึงมีผลเหมือนกับไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ในทางปฏิบัติ ยังมีผู้รับจ้างเป็นจำนวนมาก เกรงอก เกรงใจ ผู้ว่าจ้าง กลัวว่าจะขัดใจลูกค้า เขาสั่งงานเพิ่มมาก็ทำไป โดยไม่ตกลงราคาก่อน หวังว่างานเสร็จแล้ว ผู้ว่าจ้างจะกรุณาจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้ด้วยความเป็นธรรม ข้อนี้เป็นความเสี่ยงอย่างมหันต์ ไม่พึงกระทำ หากผู้ว่าจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินอาจเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับราคาค่าจ้างสำหรับงานเพิ่ม ผู้รับจ้างก็อาจหมดสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างงานเพิ่มทั้งหมด

อย่างในคดีนี้ ทางที่ดีสัญญาก่อสร้างเดิมควรมีบทบัญญัติให้ผู้ประเมินราคางานบุคคลที่สามที่เป็นกลางที่คู่สัญญายอมรับ มาประเมินค่างานที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานเพิ่มไปแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ ถ้าผู้ประเมินบุคคลที่สามกำหนดราคาแล้ว ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ควรเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป