posttoday

ยกระดับสงครามการค้าไปสู่การแข่งขันค่าเงินและลดดอกเบี้ย

12 สิงหาคม 2562

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์ที่ผ่านมาเซอร์ไพรส์ลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีเศษ เหตุผลมาจากเศรษฐกิจโลกหดตัวมากกว่าที่คาด ปัจจัยแทรกซ้อนมาจากสงครามการค้าที่ยกระดับไปสู่การแข่งขันการลดค่าเงินและดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารชาติของประเทศต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้เปรียบในการเพิ่มการส่งออก กรณีของไทยครึ่งปีการส่งออกหดตัวติดลบมีการกดดันแบงค์ชาติให้ลดดอกเบี้ยที่ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยทำให้เงินทุนไหลเข้ามามากจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าสูงกว่าประเทศต่างๆ ขณะที่ภาคเอกชนบอกยังไม่พอกดดันให้ลดดอกเบี้ยลงอีก

ความเห็นของผมดอกเบี้ยอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้ “Cash inflow” หรือเงินทุนไหลเข้ามามากจนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยติดอยู่ในลำดับที่ 12 ของโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องดีทำให้การเงินและค่าเงินบาทเป็นที่น่าเชื่อถือ ดอกเบี้ยอ้างอิงของไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรับลดลงร้อยละ 0.25 ปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 1.50 ต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียดอกเบี้ยนโยบายอัตราร้อยละ 5.5, อินเดียอัตรา ร้อยละ 5.4, ฟิลิปปินส์และเวียดนามอัตราร้อยละ 4.5, จีนอัตราร้อยละ 3.30 และมาเลเซียร้อยละ 3.0 เห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงล้วนสูงกว่าไทยแต่อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ไม่ได้แข็งค่ามากอย่างไทย เช่น จีน อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าร้อยละ 2.4, อินโดนีเซียอัตราแทบไม่เปลี่ยนแปลง ประเทศมาเลเซียอัตราแลกเปลี่ยนกลับอ่อนค่าร้อยละ 0.87 ขณะที่เงินบาทในช่วงเดียวกันแข็งค่าถึงร้อยละ 4.1 นำโด่งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

การลดดอกเบี้ยอาจจำเป็นเพื่อสกัดเงินร้อนที่จะเข้ามาเก็งกำไรและผลข้างเคียงทำให้เงินสกุลบาท แข็งค่ากระทบการส่งออก แต่ที่บอกว่าจะมาช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจผู้ได้ประโยชน์มีแต่รายใหญ่ที่ได้ดอกเบี้ยอัตราต่ำกว่าปกติ (Prime Rate)จะได้รับประโยชน์แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสถานประกอบการขนาดเล็กดอกเบี้ยที่ลดลงแต่แบงค์ไม่ปล่อยก็อาจไม่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลง ต้องมีมาตรการปลดล็อคเครดิต บูโรหรือให้มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยแบงค์รัฐต้องนำร่องเป็นตัวอย่าง

ส่วนที่คาดหวังว่าหลังลดดอกเบี้ยของกนง.แล้วจะทำให้บาทอ่อนค่าคงบอกว่าไม่จริงจากตัวอย่างของประเทศที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงก็ไม่ได้ทำให้เงินสกุลของเขาแข็งค่า อีกทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคในช่วง 2 วันที่ผ่านมาก็ไม่ได้ตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยของไทยอย่างเป็นนัยเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่น่าเชื่อถือในการเป็นแหล่งพักพิงของเงินทุนระยะสั้นหรือที่เรียกว่า “Safe Heaven”

กลับมาที่ปัญหาการค้าโลกอันที่จริงส่อเค้าชะลอตัวต่อเนื่องมาหลายปีธนาคารโลกปรับลดมาหลายรอบแม้แต่เศรษฐกิจจีนก็งอนแง่นอย่างน้อยมา 3 ปี เริ่มมีอาการเซมาจากฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์เก็งราคาในประเทศไม่พอยังไปกว้านซื้อเก็งกำไรในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยตลาดคอนโดของจีนหดตัวไปมากกว่าร้อยละ 20 จังหวะเดียวกับประธานาธิปดีทรัมป์ฯ เปิดศึกกีดกันการค้าด้วยมาตรการทางภาษีร้อยละ 25-30 สกัดสินค้าจีนไม่ให้เข้าประเทศ ซึ่งนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนตอบโต้ด้วยมาตรการที่ไม่ต่างกัน

คู่ชกระหว่างสหรัฐกับจีนมีผลต่อโลกเพราะทั้งสองมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ที่สุด พิษจากสงครามการค้าจึงส่งผลต่อการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงเป็นโซ่อุปทานการค้าและการผลิตส่งผลต่อการส่งออกที่ติดลบเป็นหางว่าวไม่ใช่มีแต่ไทยที่ส่งออกหดตัว แม้แต่จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี อินโดนีเซีย และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนล้วนติดลบในตัวเลขที่สูงกว่าไทยทั้งสิ้นโดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่ถูกธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เติบโตจีดีพีลดลงค่อนข้างมาก

กรณีของไทยสงครามกีดกันทางการค้าจนเป็นวิกฤต “Global Trade War” ยืดเยื้อแน่นอน รัฐบาลคงต้องตั้งรับให้ดีเพราะนอกจากส่งออกติดลบด้านจีดีพีอาจโตต่ำกว่าที่คาด ส่วนจะหวังการลงทุนจากต่างชาติช่วงนี้คงมีแค่คำขอบีโอไอการลงทุนจริงคงใช้เวลา โดยเฉพาะการลงทุนจากสหรัฐและจีนครึ่งปีแรกร่วงไปเกือบครึ่งต่ำสุดในรอบหลายปี มาตรการลดดอกเบี้ยหวังจะให้บาทกลับมาอ่อนค่าอาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ส่งออกฟื้นตัวเพราะเกี่ยวข้องกับต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ต้องยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดกระทบแน่นอนเพราะเงินหยวนอ่อนค่ามากทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวสูงขึ้นถึงร้อยละ 5-7 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนหายไปถึง 1.7 แสนคน ส่วนด้านส่งออกที่ขายไปตลาดจีนหดตัวครึ่งปีแรกเงินหายไปเกือบแสนล้านบาท

ทราบว่ารัฐบาลคงเข้าใจปัญหานี้ดีอยู่ เพราะมีการนำเข้าถกในครม.เพื่อออกมาตรการรับมือจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดูจะไม่เหลือทั้งส่งออก การลงทุนของเอกชน กำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าศักยภาพ นักท่องเที่ยวที่หายไปกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วจะยิ่งหดตัว ประเด็นนี้เหล่านี้แก้ยากมากจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยซึมอาจยาวกลายเป็น “New Normal”เหมือนกับที่เกิดในญี่ปุ่น เครื่องมือที่เหลืออยู่มีเพียงการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งคงต้องกลับมาเน้นโครงการ รากหญ้าเห็นผลระยะสั้น

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยจะยากกว่าหลายประเทศเพราะการเมืองไม่เอื้อบวกกับทีมเศรษฐกิจขาดเอกภาพและไม่เจ๋งจริง อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเงินได้มาก็ไปใช้หนี้เงินแทบไม่เหลือมาใช้จ่ายทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น ขณะที่เสถียรภาพของรัฐบาลก็งอนแง่นในสภาฯ วันศุกร์ที่ผ่านมายกแรกลงมติเสียงเฉียดฉิวชนะแค่ 1 เสียง ปัญหาภายในยังวุ่น 5 พรรคเล็กขู่ถอนตัวแถมปลาใหญ่ตายน้ำตื้นถวายสัตย์ปฏิญาณกล่าวไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญจนบิ๊กตู่ต้องออกมาขอโทษครม. ขอเป็นผู้รับผิดชอบแด่เพียงผู้เดียวจนสื่อไปตีความว่านายกรัฐมนตรีจะไขก๊อกแต่ทีมงานบอกยังไหว...เหนื่อยแทนจริง ๆ ครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)