posttoday

เล็งนำร่องรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ราคา 15 บาทตลอดสาย คาดรัฐควักอุดหนุนปีละ 700 ล้านบาท

29 กรกฎาคม 2562

รฟม. ขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงคมนาคม ลดภาระให้คนเมือง? แง้มค่าโดยสารสายสีแดง ?15-50? บาท? ชูสถานีดอนเมืองรับเอกชนลงทุน

รฟม. ขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงคมนาคม ลดภาระให้คนเมือง แง้มค่าโดยสารสายสีแดง 15-50 บาท ชูสถานีดอนเมืองรับเอกชนลงทุน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่าจากกรณีนโยบายของรมว.ว่าการกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้ลดค่ารถไฟฟ้าเป็น 15 บาทตลอดสายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน นั้นตอนนี้ยังคงต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของท่านรัฐมนตรี

เบื้องต้นมองว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีความพร้อมที่จะดำเนินการก่อน เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่ดำเนินการและเก็บรายได้โดยรัฐบาล ไม่มีการผูกพันสัญญากับเอกชนจึงไม่ยุ่งยากมากนักในการบังคับใช้ราคาใหม่

อย่างไรก็ตามสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง หากดำเนินการจริง คงต้องของบอุดหนุนเพิ่มจากรัฐบาลเพื่อแบกภาระค่าโดยสารดังกล่าวเพิ่มขึ้นปีละ 200-300 ล้านบาท จากปัจจุบันรับเงินอุดหนุนด้านต้นทุนปีละ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาค่าโดยสารสายสีม่วงตอนนี้อยู่ที่14-42 บาท

ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่าสำหรับการลดค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 15 บาทตลอดสายนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) คาดว่าหากเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม รฟท.คงไม่ขัดข้อง

ในปีที่ผ่านมารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้ 730 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายราว 700 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นทุนเดินรถ 300 ล้านบาทและค่าต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงราว 400 ล้านบาท ดังนั้นหากลดราคาลงเหลือ 15? บาทตลอดสาย จะส่งผลให้รายได้ลดลง 50% หรือลดลงปีละ 300-400 ล้านบาท คำนวณจากค่าโดยสารเฉลี่ยที่ราว 31 บาท/คน จากค่าโดยสารปกติ 15-45 บาท ดังนั้นจึงต้องขออุดหนุนเงินเพิ่มในส่วนรายไดเที่ขาดหายไปจากนโยบาย

นายสุเทพกล่าวต่อว่านโยบายค่าโดยสาร? 15? บาทตลอดสาย? สามารถนำมาใช้กับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังจะเปิดได้เช่นกัน? คือ สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งจะเปิดบริการในปี 2564? โดยจะต้องขอเงินอุดหนุนต้นทุนส่วนต่างจากภาครัฐคล้ายกับกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม.

อย่างไรก็ตามจากการสรุปข้อมูลศึกษาล่าสุด พบว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะอยู่ที่ 15-50? บาท เริ่มจากค่าแรกเข้าสถานีแรก 15 บาทและคิดค่าโดยสารเพิ่มสถานีละ 5 บาทตาทลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับรฟท.เพื่อสรุปการส่งมอบบางสถานีให้บริษัทลูกบริหารเชิงพาณิชย์

สำหรับสถานีที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์คือสถานีดอนเมือง เนื่องจากเป็นสถานีเชื่อมต่อสนามบิน จึงมีเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มกิจกรรมที่มีโอกาสสร้างรายได้จำนวนมาก คือ ร้านค้าปลีก สำนักงาน ร้านแลกเงินตราต่างประเทศ โรงแรมแคปซูล(Sleep Box) สำนักงานและบริการท่องเที่ยว เป็นต้น

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ดำเนินการและเก็บรายได้มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 140,000 คน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 90,000 คนต่อวันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง 50,000 คนต่อวัน ขณะที่รถไฟสายสีแดงคาดการณ์ผู้โดยสาร 70,000-100,000 คนต่อวันในช่วงแรก

ส่วนรถไฟฟ้าสายหลักที่ให้บริการโดยเอกชน คือ รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวและรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินนั้นมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละมากกว่า 1,000,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 700,000 คนต่อวันและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 300,000 คนต่อวัน