posttoday

ครม.ตั้งกรมรางคุมรถไฟ ผ่านร่างกม.3ฉบับให้อำนาจบริหารทั้งระบบคุณภาพ-ราคา

13 กุมภาพันธ์ 2562

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง กำกับดูแลกิจการรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง คาดแล้วเสร็จ เม.ย.นี้

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง กำกับดูแลกิจการรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง คาดแล้วเสร็จ เม.ย.นี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ เพื่อรองรับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว รอการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แบ่งส่วนราชการกระทรวงคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้นมาในกระทรวง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

"ที่กระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวง 3 ฉบับครั้งนี้ เป็นการออกกฎหมายลูกมารองรับกับ พ.ร.บ.แบ่งส่วนราชการ กระทรวงคมนาคม มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องไปรอออกกฎหมายลูก แต่สามารถดำเนินการตั้งกรมได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือน เม.ย. เพราะปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เตรียมการเรื่องกำลังคนไว้แล้ว" นายณัฐพร กล่าว

สำหรับร่างกฎกระทรวงที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นการกำหนดกลุ่มภารกิจด้านการขนส่งให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง หน่วยงานในกลุ่มภารกิจด้านการขนส่งจะประกอบไปด้วย กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน และกรมการขนส่งทางราง

2.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ... และ 3.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นการปรับปรุงแบ่งส่วนราชการของ สนข.และกรมการขนส่งทางรางให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง

นายณัฐพร กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำกับดูแลรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ในเรื่อง มาตรฐาน ความปลอดภัย ยกระดับการให้บริการและคุณภาพของประชาชน ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าโดยสารของระบบรางต่างๆ ให้เป็นธรรม

ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างใหม่จะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมการขนส่งทางรางจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบาย (Policy Maker) และหน่วยงานในการกำกับดูแล (Regulators) หน่วยงานให้บริการ (Operator) เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เป็นต้น จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ และในอนาคตจะจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางที่เป็นองค์การมหาชน มาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวิจัย อบรม และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต