posttoday

ตั้งมหา'ลัยไต้หวันอีอีซี ผลิตวิศวกรป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ออกกฎงดยุ่งการเมือง

20 มิถุนายน 2561

ครม.ไฟเขียวมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี

ครม.ไฟเขียวมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) จัดการศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) ในประเทศไทย ซึ่งการเห็นชอบครั้งนี้ต่อเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดึงดูดให้มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเข้ามาจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพรองรับการเติบโตของประเทศและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอมตะจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี จะจัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน มีวิทยาเขตกลางตั้งอยู่ในนครไทเป และจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในไต้หวัน ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก QS University Rankings อยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก ขณะที่สาขาที่จะเปิดสอนในมหาวิทยาลัยอมตะนี้ ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่จะเปิดสอนจะเน้นทางด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle) เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในพื้นที่อีอีซี และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แนวทางการจัดการเรียนการสอนใช้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เช่น สาขาวิชา คณาจารย์ การเข้าถึงข้อมูลทางวิจัย และชั่วโมงของอาจารย์ที่ปรึกษา จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและจีน ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ภายใต้การอนุญาตให้ดำเนินการเรียนการสอนนี้ ทางการไทยได้ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันว่า กิจกรรมในสถาบันการศึกษาจะต้องดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาเท่านั้น จะต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองของจีน ไม่มีการประดับธงชาติทั้งไต้หวันหรือจีน รวมถึงประดับรูปปั้นอดีตผู้นำของไต้หวันด้วย

ด้าน ร.ท.ยุทธนา โมกขาว รอง ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวถึงแผนลงทุนของท่าเรือแหลมฉบังในช่วงปี 2561-2565 เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศตามพื้นที่อีอีซี วงเงิน 5,000 ล้านบาท ว่าจะประกอบด้วยโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 2,000 ล้านบาท จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 3 แสนทีอียู/ปี ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการติดตั้งเครนบริเวณหน้าท่า คาดจะเสร็จในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) วงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 95% และเตรียมการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ที่จะใช้เวลาติดตั้ง 6-8 เดือน และจ้างเหมาเอกชนเข้ามาจัดการโครงการ รวมถึงการพิจารณาข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เช่นเดียวกับโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ทั้งนี้คาดว่าโครงการ SRTO ในระยะแรกจะมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟประมาณ 1 ล้านทีอียู/ปี ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป

ร.ท.ยุทธนา กล่าวว่า ด้านโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาทเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำควบคู่ไปกับเพิ่มความมั่นใจเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ หากช้าในการพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ไทยจะถูกเวียดนามดึงนักลงทุนไปได้ เนื่องจากเวียดนามกำหนดยุทธศาสตร์ง่ายกว่าเรา หากไทยพัฒนาได้ทัน เหมือนที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ เราจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แหลมฉบังมากขึ้น