posttoday

ขึ้นทะเบียน"ส้มบางมด-ลิ้นจี่บางขุนเทียน-ละมุดบ้านใหม่"เป็นสินค้าจีไอหวังเพิ่มมูลค่า

13 มีนาคม 2561

กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน "ส้มบางมด-ลิ้นจี่บางขุนเทียน-ละมุดบ้านใหม่" เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หวังเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน "ส้มบางมด-ลิ้นจี่บางขุนเทียน-ละมุดบ้านใหม่" เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หวังเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพิ่มเติมอีก  3 รายการ ได้แก่ ส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน ของ จ.กรุงเทพฯ และละมุดบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอแล้ว 87 รายการ จาก 59 จังหวัด โดยกรมฯ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสินค้าจีไอ 3 รายการล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ส้มบางมด เป็นส้มพันธุ์เขียวหวาน ผลกลมมน หรือแป้นเล็กน้อย ผิวส้มมีรอยแตกเป็นเส้นลาย เปลือกบาง ชานนิ่ม ปอกง่าย กลีบแยกออกจากกันง่าย ผนังกลีบบาง มีรกน้อย เนื้อสีส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกในพื้นที่ 8 เขตของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม

ส่วนลิ้นจี่บางขุนเทียน เป็นลิ้นจี่พันธุ์กะโหลกใบยาว พันธุ์กะโหลกใบอ้อ และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะผลขนาดกลางรูปคล้ายหัวใจ บ่าไม่สูง หนามแหลมสั้น เปลือกสีแดงถึงแดงคล้ำ รสชาติหวาน หอม เนื้อไม่แฉะ ไม่มีรสฝาดเจือ ปลูกในพื้นที่เขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ จ.กรุงเทพฯ

ขณะที่ละมุดบ้านใหม่ เป็นละมุดพันธุ์มะกอกที่มีทรงผลกลมรี ลูกเล็กคล้ายผลมะกอก ผิวเปลือกบาง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อแน่นละเอียด กรอบ รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม ซึ่งปลูกในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ ต.ท่าตอ และ ต.บ้านขวาง อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 61 กรมฯ ได้ขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอของไทยไปแล้ว 7 รายการ และอยู่ระหว่างประกาศโฆษณาอีก 7 รายการ ได้แก่ ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์, ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์, สังคโลกสุโขทัย, กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก, มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว, เสื่อจันทบูร และกระท้อนตะลุง และจะผลักดันให้แต่ละท้องถิ่นยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอให้ครบทุกจังหวัด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

"การผลักดันสินค้าชุมชนให้ขึ้นทะเบียนจีไอ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนจีไอ เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชนที่คนนอกชุมชนไม่สามารถแอบอ้างนำชื่อไปใช้โปรโมตสินค้าของตนเองได้ รวมทั้งเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า" อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าว

นายทศพล กล่าวอีกว่า กรมฯ ตั้งเป้าหมายส่งเสริมสินค้าจีไอไปสู่กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาด ส่งเสริมให้ชุมชนยื่นจดทะเบียนคุ้มครองในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีน สหภาพยุโรป และอินเดีย รวมถึงเพิ่มการจัดทำระบบควบคุมสินค้าจีไอให้เข้มข้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าอย่างยั่งยืน