posttoday

เร่งรถไฟไทย-จีน ออกสัญญาย่อย

16 สิงหาคม 2560

คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติสัญญาออกแบบโยธารถไฟไทย-จีน 22 ส.ค.นี้ พร้อมเร่งสรุปสัญญาที่ปรึกษาก่อนลงนาม ก.ย.นี้

คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติสัญญาออกแบบโยธารถไฟไทย-จีน 22 ส.ค.นี้ พร้อมเร่งสรุปสัญญาที่ปรึกษาก่อนลงนาม ก.ย.นี้

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ส.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาฉบับที่ 2.1 งานออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาวงเงิน 1,706 ล้านบาท ของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อให้สามารถดำเนินการลงนามสัญญากับองค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทันเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการแปลร่างสัญญาฉบับที่ 2.1 เป็นภาษาไทยเสร็จเรียบร้อย และเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา อยู่ระหว่างการส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบความถูกต้องของร่างสัญญาดังกล่าวอีกครั้งก่อนส่งให้ ครม.  ดังนั้นจึงยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ รถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 20 มีวาระหารือในเรื่องร่างสัญญาฉบับที่ 2.1 รวมถึงร่างสัญญาฉบับที่ 2.2 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา วงเงินประมาณ 1,648 ล้านบาทด้วย ซึ่งต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อให้ลงนามสัญญาฉบับที่ 2.2 เดือน ก.ย.นี้เช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบเวลาการเริ่มต้นก่อสร้างที่จะเริ่มในเดือน ต.ค. 2560

ด้าน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวถึงข้อสังเกตโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ที่มีแผนการเดินรถวิ่งจากสนามบินดอนเมือง ผ่านเข้าสถานีมักกะสันก่อนวิ่งไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา เป็นการเอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินย่านมักกะสันในเชิงการค้าพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งในหลักการการเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แอร์พอร์ตลิงค์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภาและ จ.ระยอง ซึ่งการใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ ที่มีอยู่จะทำให้ลดภาระค่าก่อสร้างลงได้อย่างมาก หากเปิดแนวเส้นทางใหม่จะส่งผลกระทบในหลายด้าน จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินในเขตใจกลางเมือง ทำให้มูลค่าการก่อสร้างของโครงการสูงขึ้นมาก