posttoday

เคาะเปิดพีพีพีทางเชื่อมโทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช 4.2 พันล้านบาท

01 มิถุนายน 2560

สนข.เสนอเปิดร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โครงข่ายทางเชื่อมโทลล์เวย์-ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก

สนข.เสนอเปิดร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โครงข่ายทางเชื่อมโทลล์เวย์-ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมโครงข่ายการเดินทางและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ดังกล่าวโดยให้ประชาชนเดินทางบนทางพิเศษโดยไม่ต้องลงสู่ถนนระดับพื้นว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมโครงข่ายทางเชื่อมฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วและนำเสนอต่อที่ประชุม

สำหรับข้อสรุปในโครงการดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการราว 4,230 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 272.67 ล้านบาท โดยมีรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) โดยการให้สัมปทานแก่เอกชน ส่วนด้านรายละเอียดการออกแบบนั้นจะเป็นทางยกระดับทิศทางละ 2 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นจากทางยกระดับอุตราภิมุขบริเวณต่างระดับรัชวิภา ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ข้ามทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอก โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ข้ามคลองเปรมประชากรไปเชื่อมเข้ากับทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทางขาเข้า 1.4 ก.ม. และขาออก 2.3 ก.ม.

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอรายละเอียดและรูปแบบการลงทุนให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาในเดือน มิ.ย. เบื้องต้นการลงทุนจะเป็น PPP แบบเฉพาะเจาะจงกับรายเดิม เพราะการลงทุนมีระยะเพียง 2 กิโลเมตร จึงไม่น่ามีเอกชนรายใหม่สนใจเข้ามาลงทุน ดังนั้นจึงใช้วิธีเจรจากับรายเดิม คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางด่วนศรีรัชฯ และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้ให้บริการทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยตอนนี้ สนข. ได้การออกแบบรายละเอียดโครงการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และเวนคืนที่ดินประมาณ 1 ไร่เพิ่มเติม ซึ่งเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนด้วยตัวเอง

นายชัยวัฒ์กล่าวต่อว่า เมื่อ คจร. เห็นชอบให้ กทพ. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการแล้ว กทพ. ก็ต้องเร่งเจรจากับเอกชนทั้ง2 ราย ขอให้มีการเร่งรัดการก่อสร้าง ตอหม้อจำนวน 9 ต้น วงเงินลงทุนประมาณ100 ล้านบาท ก่อน เพราะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ทับซ้อนกับการสร้างรางของรถไฟฟ้าสายสีแดง ดังนั้นจะต้องสร้างตอหม้อให้เสร็จก่อนที่จะสร้างราง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องรือ้ย้ายรางภายหลัง แต่ถ้าเอกชนไม่พร้อมจะลงทุนตอหม้อดังกล่าว กทพ. ก็จะลงทุนให้ก่อนและเก็บเงินจากเอกชนภายหลังนอกจากนี้ นายอาคมขอให้ สนข. ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมระหว่างทางด่วนศรีรัชฯ ไปยังโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 คาดว่าการศึกษาใช้เวลาประมาณ 8 เดือนจึงได้ข้อสรุป