posttoday

หนุนอีสานปลูกปาล์ม1ล้านไร่

12 กันยายน 2559

เอกชนหนุนเกษตรกรอีสาน-เหนือปลูกปาล์ม 1 ล้านไร่ เป็นวัตถุดิบผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ 2.4 แสนตัน

เอกชนหนุนเกษตรกรอีสาน-เหนือปลูกปาล์ม 1 ล้านไร่ เป็นวัตถุดิบผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ 2.4 แสนตัน

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล(จีจีซี) เป็นบริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนจะเพิ่มรายได้จากการผลิตสารแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสารขั้นต้นสำหรับใช้ในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน รวมถึงนำไปผลิตเป็นสารทำละลาย สารแต่งรส สารแต่งกลิ่น สารหล่อลื่น เครื่องสำอาง แชมพู ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิต 1.2 แสนตัน โดย 70% ส่งออกไปยังประเทศจีนและอินเดีย ราคาเฉลี่ย 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนที่เหลือ 30% จะจำหน่ายในประเทศ และตั้งเป้าจะเพิ่มการผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เป็น 2.4 แสนตัน ภายใน 5 ปี พร้อมทั้งมีแผนจะสนับสนุนเกษตรกรในภาคอีสานตอนบนปลูกปาล์ม 1 ล้านไร่ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบ

“เนื่องจากส่วนที่ใช้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ วัตถุดิบหลักจะมาจากเมล็ดปาล์มซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า ทำให้บริษัทมีแผนจะลดต้นทุนการนำเข้า โดยหันมาจัดหาเมล็ดปาล์มจากในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดได้มีโครงการสนับสนุนการปลูกปาล์มในพื้นที่ในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มให้ได้ 1 ล้านไร่ จากปัจจุบันที่หลายจังหวัดปลูกปาล์มประมาณ 3-4 หมื่นไร่ ขณะที่ใน 5 ปี บริษัทจะขยายโรงงานผลิตแฟตตี้ฯ เพิ่มอีก 1 แห่งที่ จ.ระยอง โดยมีขนาดกำลังการผลิต 1.2 แสนตัน/ปี” นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทยังร่วมมือกับบริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม และบริษัท โฮมปาล์ม ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มตามมาตรฐาน Roundtable On Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ซึ่งเป็นการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มนำร่องในปี 2559 จำนวน 1 หมื่นไร่ใน จ.สกลนคร โดยการปลูกปาล์มตามแนวทางดังกล่าวจะเหมือนการปลูกปาล์มตามมาตรฐาน ISO แต่เป็น ISO ของการปลูกปาล์ม ซึ่งจะทำให้สามารถส่งน้ำมันปาล์มไปยังตลาดที่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรที่ยั่งยืน เช่น ยุโรป สหรัฐ

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพลังงานประกาศปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล หรือ B100 ในน้ำมันดีเซลเหลือ 3% จากเดิม 5% อาจทำให้รายได้ของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ในปี 2558

“ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต B100 ที่ 3 แสนตัน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล แต่เมื่อรัฐบาลประกาศลดสัดส่วนการผสมในน้ำมันดีเซลลง ส่งผลให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 1.4 แสนตัน จึงส่งผลต่อรายได้ของบริษัท” นายจิรวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะขยายโรงงานผลิตไบโอดีเซล B100 เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 3 แสนตัน/ปี