posttoday

อุตฯย้ำออกประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชภายใน ก.พ.

03 กุมภาพันธ์ 2558

“จักรมณฑ์”เผยภายใน ก.พ. ออกประทานบัตรเหมืองโปแตชอาเซียนแน่ ลดนำเข้าแม่ปุ๋ยช่วยราคาปุ๋ยลด 10%

“จักรมณฑ์”เผยภายใน ก.พ. ออกประทานบัตรเหมืองโปแตชอาเซียนแน่ ลดนำเข้าแม่ปุ๋ยช่วยราคาปุ๋ยลด 10%

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อ.บำเน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ว่า ขณะนี้ผ่านผ่านขั้นตอนสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้ว และผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกใบประทานบัตรแก่บริษัทฯ ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ และจะทำให้โครงการที่หยุดชะงักมากกว่า 30 ปีเดินหน้าได้  ซึ่งการออกประทานบัตรนี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.

“บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียนเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนอีก 5 ประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังของไทยถือหุ้นอยู่ 20%  ส่วนเรื่องการจะเรียกชำระทุนของบริษัทหรือเรื่องการกู้ยืมจะเป็นการพูดคุยภายในบริษัทในภายหลัง แต่ตอนนี้เอาประทานบัตรออกมาให้ได้ก่อนอันอื่นค่อยไปว่ากัน”นายจักรมณฑ์ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนมูลค่าการลงทุนในโครงการนั้นจะสูงเป็นหลักหมื่นล้านบาท แต่การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อดำเนินการเปิดเหมืองนั้นคงเห็นเป็นรูปธรรมในต้นปี 2559 เพราะบริษัทฯจะต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อเครื่องจักรต่างๆ อีก   

ทั้งนี้ หลังนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้เชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศไทยมีวัตถุดิบเพื่อทำแม่ปุ๋ยโดยไม่ต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ราคาปุ๋ยลดลงอย่างน้อย 10%  ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนที่จะสนับสนุนการเปิดเหมืองโปแตชของภาคเอกชนโดยเริ่มจากโครงการเหมืองแร่ 3 แห่งมูลค่าการลงทุนรวม 7.5 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าผลผลิตแร่รวม 5.6 แสนล้านบาทต่ออายุโครงการ 25 ปี โดยทั้ง 3 โครงการได้แก่ เหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ มูลค่าการลงทุน 4 หมื่นล้านบาท เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี มูลค่าการลงทุน 3 หมื่นล้านบาท และเหมืองแร่โปแตช จ.นครราชสีมา มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่าประเทศไทยถือว่ามีแหล่งโปแตชที่มีคุณภาพดีที่สุดในเอเชีย โดยมีปริมาณสำรองแร่โปแตชอยู่ถึง 4.07 แสนล้านตัน มีมูลค่าเหมืองแร่ที่สามารถทำเหมืองแร่ได้ประมาณ 200 ล้านล้านบาท (คำนวณที่ราคาแร่ 400 ดอลลาร์ต่อตัน) ทั้งนี้จะมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนและรัฐเก็บค่าภาคหลวงและผลประโยชน์พิเศษและกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนต้องลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่