posttoday

ศึกชิปเซตเดือด!! จับตาสองยักษ์สลับยุค

29 มิถุนายน 2560

ดูเหมือนว่างานนี้จะกลายเป็นศึกหนักของทางอินเทลที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ หากไม่เร่งปรับตัวประกาศเรียกความมั่นใจจากภาคธุรกิจ

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ใครจะไปคาดคิดว่า ในยุคที่คนทั่วโลกเปลี่ยนตัวเองจากการทำงานแบบดั้งเดิมมาเป็นใช้งานเทคโนโลยีและลงทุนระบบไอทีกันมหาศาล กลับเป็นการสลับขั้วของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนชิปเซตสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

อินเทลก่อตั้งขึ้นโดย กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และโรเบิร์ต นอยซ์ (Robert Noyce) ผู้เชี่ยวชาญด้านสารกึ่งตัวนำ โดยเป็นอดีตพนักงานของ Fairchild Semiconductor หลัง อินเทล อินไซด์ ประสบผลสำเร็จอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1990 ชื่อของอินเทลก็กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในทันที โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักคือ หน่วยประมวลผลกลางตระกูลเพนเทียม (Pentium)

ขณะที่ แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ หรือ เอเอ็มดี (AMD) บริษัทสัญชาติอเมริกันก่อตั้งเมื่อปี 1969 โดยพนักงานเก่าจากบริษัท Fairchild Semiconductor เช่นกัน โดยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งยังพัฒนาซีพียูและเทคโนโลยีต่างๆ ออกสู่ตลาด

สำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ไมโครโพรเซสเซอร์ตระกูล APU, Phenom II, Athlon II, Opteron สำหรับเซิร์ฟเวอร์และชิปกราฟฟิก Readeon เป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ในตลาดของไมโครโปรเซสเซอร์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปกราฟิกการ์ดรายใหญ่ของโลก

เอเอ็มดีนับเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอินเทลในตลาดไมโครโปรเซสเซอร์ และมีคดีความฟ้องร้องกันอยู่ในหลายประเทศ เรื่องอินเทลผูกขาดการค้า ปัจจุบันได้ทำการยอมความกันไปแล้ว (ที่มา : วิกิพีเดีย)

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารใหญ่ของเอเอ็มดีได้ประกาศในงาน Computex 2017 ไว้ว่าจะมีการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ EPYC โปรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูงตระกูลใหม่สำหรับใช้กับดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งที่ติดตั้งอยู่ในองค์กรและที่อยู่บนระบบคลาวด์

จากนั้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวในงาน Celebrate The New Center of Data : EPYC ว่า “AMD is Back!!” และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่นี้จะสร้างทั้งชื่อและรายได้ให้เอเอ็มดีเป็นเจ้าตลาดชิปเซตได้ในอนาคต

ลิซา ซู ประธานและซีอีโอ AMD กล่าวว่า โปรเซสเซอร์ EPYC จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่อุตสาหกรรมชั้นนำ คลาวด์และเครื่องยนต์ระบบอัจฉริยะ สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่นี้จะมีทิศทางการเติบโตกว่า 70% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เรามั่นใจกลยุทธ์และการเดินหน้าธุรกิจของเรา ว่าตรงกับสิ่งที่ตลาดกำลังต้องการเพื่อเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีในขณะนี้ จากผลสำรวจพบว่า 52% ขององค์กรในยุคนี้ ต้องการสินค้าที่ตรงกับโครงสร้างของธุรกิจ ซึ่งเราจะมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตต่อไป” ลิซา ซู กล่าว

ทั้งนี้ เอเอ็มดี มองว่า ตลาดคอมเมอร์เชียลมีโอกาสโตสูงมาก เพราะภาคธุรกิจต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงและบริษัทก็มั่นใจว่าโปรดักต์มีความโดดเด่นตอบโจทย์การทำงานในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมขององค์กรเพื่อสร้างคลาวด์หรือดาต้าเซ็นเตอร์ในองค์กร รวมทั้งฟีเจอร์ต่างๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ด้านกราฟฟิกให้ทำงานดีขึ้น

ขณะที่โรดแมปต่อจากนี้ไปจะเน้นตลาด APEC เพราะยังมีความต้องการสินค้าที่มีความสามารถขั้นสูงและมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่รองรับการออกแบบนวัตกรรมระดับสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือโรบอต ผ่านอุปกรณ์และระบบคลาวด์

ทั้งนี้ เหตุผลที่จะทำให้เอเอ็มดีประสบความสำเร็จคือ มีกลยุทธ์ที่แตกต่างแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมใหม่และมีโรดแมปแบบผู้นำ รวมทั้งโฟกัสในสิ่งที่แตกต่าง ผลิตภัณฑ์ EPYC ถือว่าเป็นโลกแห่งความจริงใบใหม่ในตลาดที่จะสร้างความน่าสนใจ นอกจากดีไซน์ที่แตกต่างแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจ คุณยังได้รับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร

จากการประกาศกลยุทธ์ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เอเอ็มดี เดินหน้าเต็มสูบพร้อมมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์แทบจะทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Baidu, ASUS, Microsoft, Bloomberg, Dropbox, Gigabyte Technology, Lenovo, Samsung เป็นต้น

ดูเหมือนว่างานนี้จะกลายเป็นศึกหนักของทางอินเทลที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ หากไม่เร่งปรับตัวประกาศเรียกความมั่นใจจากภาคธุรกิจอีกครั้ง อาจเสียโอกาสในการทำตลาดเอเชียอีกมาก เพราะตลาดประเทศไทยในขณะนี้ การดูแลภาพรวมธุรกิจถูกถอนสมอไปรวมกับออฟฟิศที่สิงคโปร์เสียแล้ว ดูเหมือนศึกชิปเซตครั้งนี้จะไม่ธรรมดา อาจถึงขั้นเปลี่ยนยุคกันเลยทีเดียว