posttoday

ธรรมจักรบูชา ธรรมยาตรา สู่มาฆบูชาโลก ณ ชมพูทวีป (๒)

07 กุมภาพันธ์ 2553

ในงานธรรมจักรบูชา จึงมีโครงการธรรมยาตรารวมอยู่ด้วย ๒ วัน โดยผู้เข้าร่วมงานธรรมจักรบูชาจากนานาประเทศ

ในงานธรรมจักรบูชา จึงมีโครงการธรรมยาตรารวมอยู่ด้วย ๒ วัน โดยผู้เข้าร่วมงานธรรมจักรบูชาจากนานาประเทศ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

ดิฉันได้ทราบมาว่า ในเดือนก.พ.นี้จะมีงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ๒ งานใหญ่ คือ งานปฏิบัติกรรมฐาน ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในวันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๕๓ แล้วต่อด้วยธรรมยาตรา สู่เมืองราชคฤห์ ในวันที่ ๖๙ ก.พ. ๒๕๕๓ ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของหลวงพ่อ

นอกจากนี้ จะมีงานมาฆบูชาโลกซึ่งถือเป็นงาน “รวมพลังชาวพุทธสู่ความเป็นหนึ่ง เนื่องในวันมาฆบูชา” จัดโดยมหาโพธิสมาคมของอินเดียในวันที่ ๒๖๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์

ขอกราบเรียนหลวงพ่อเมตตาให้ความกระจ่างชัดว่า ทั้งสองงานนี้มีความเป็นมา และมีความสำคัญในทางธรรมอย่างไร สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสไป จะได้มีส่วนร่วมในมหากุศลนี้อย่างไร

กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่ง

จันทร์เพ็ญ ตูเทศานันท์

วิสัชนา : ซึ่งหากเราจาริกเดินทางอยู่ในชมพูทวีป ตามเขตพุทธศาสนสถานอันสำคัญ ก็จะพบชาวศรีลังกาจำนวนมากมายในแต่ละปีที่เดินทางแวะเวียนมาสักการบูชาสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนาเหล่านั้น โดยเฉพาะในเขตสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ซึ่งแม้ว่าพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกาเหล่านั้นจะมิใช่คนร่ำรวย โดยส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางและยากจน แต่ด้วยจิตใจอันสูงส่งด้วยศรัทธาอันมั่นคงเข้มแข็งต่อพระรัตนตรัย สาธุชนเหล่านั้นจึงเดินทางไปทุกหนทุกแห่งในเขตพระพุทธศาสนา แม้จะยากลำบากต่อการเดินทาง การดำรงชีพที่ลำบากในการกินอยู่หลับนอนที่ไม่สะดวกสบาย และแม้ด้วยวัยอันชรา แต่ศรัทธาสาธุชนชาวศรีลังกาจะไม่ท้อถอยในการจาริกบุญด้วยพลังศรัทธาที่เข้มแข็ง และเราจะไม่ค่อยได้พบเห็นชาวศรีลังกาเข้าพักตามโรงแรมหรือสถานที่พักชั้นดี มีอาหารอย่างเลิศรส ดุจดังเช่นชาวพุทธจากสยามประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของมหาโพธิสมาคมที่จะต้องดูแลรับผิดชอบ เกื้อหนุนรับรองพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ ให้มีความสะดวกพอเหมาะเพื่อการประกอบศาสนกิจ ให้มีที่พักอาศัยหลับนอน อาหารการกินที่พอจะประทังชีวิตไปได้อย่างปกติ ที่สำคัญคือ การให้ความรู้ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยคณะสงฆ์ของศรีลังกาทั้งคามวาสีและอรัญวาสี ที่ได้บวชอุทิศตนบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งมั่นทำงานในพระพุทธศาสนากันตลอดชีวิตเป็นส่วนใหญ่

สำหรับในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ระหว่างวันที่ ๑๗ ก.พ.ที่จะถึงนี้ มหาโพธิสมาคมในอินเดีย (Maha Bhodi Society of India) ได้จัดให้มีงานธรรมจักรบูชา (Dhamma Chakra Puja – ๒๐๑๐) ขึ้น ณ โพธิมณฑลสถาน สถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า (Enlightenment Place of Lord Buddha) ในพุทธคยา (รัฐพิหาร อินเดีย) โดยมีการเปิดโอกาสให้มหาชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานธรรมจักรบูชาจะได้มีโอกาสสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระสารีบุตรเถระเจ้า พระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้า ซึ่งมหาโพธิสมาคมได้มีเอกสารรับรองถึงความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (Original Relics) ตลอดจนถึงพระธาตุของพระอรหันตเจ้า โดยจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๕๓ ซึ่งในทุกๆ ปีก็จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ ขึ้นหลังช้างแห่รอบพระศรีมหาโพธิ์ ให้ประชาชนที่มากันมากมายได้สักการบูชา ในปีนี้ได้มีการจัดงานธรรมจักรบูชาในระหว่างวันเวลาดังกล่าว มหาโพธิสมาคมได้รวมไว้ในงานธรรมจักรบูชา ได้เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา หรือพุทธบริษัท จากนานาชาติได้เข้าร่วมรับการเรียนรู้ ฝึกฝนการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามหลักการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งการรับกรรมฐานเจริญภาวนา (Vipassana Meditation) รับฟังการบรรยายธรรมจากพระสูตร (Dhamma Discourses) ตลอดต่อเนื่อง ๕ วัน อีกทั้งยังได้จัดให้มีโครงการ “ธรรมยาตรา” (Dhamma Yatra) ขึ้นในวันที่ ๖๗ ก.พ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นรูปแบบของการเดินเท้า เจริญสติออกปฏิบัติธรรมภาคสนาม (Walking in the Footsteps of The Buddha) จาริกสู่พระนครราชคฤห์ หรือตำบลราชกีร์ในปัจจุบัน อันเป็นการเดินตามร่องรอยธรรม ที่ปรากฏในพระพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าได้นำพระสาวกปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ รูปจากภูเขาคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา สู่สวนลัฏฐิวัน นอกพระนครราชคฤห์ ปัจจุบันเรียกบริเวณดังกล่าวว่า เจเที่ยน อันเป็นสถานที่พระเจ้าพิมพิสารนำข้าราชบริพารและชาวเมืองพระนครราชคฤห์จำนวน ๑๒ นหุต เข้าเฝ้าต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์ จนเข้าถึงธรรมกระแส มีธรรมจักษุเกิดขึ้นมากมายถึง ๑๑ นหุต โดยมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นองค์ประธาน และจำนวนอีก ๑ นหุต ได้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารซึ่งแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ได้ประกาศตนเป็นอุบาสกแก้วในพระพุทธศาสนาอันสมบูรณ์ โดยสร้างวัดเวฬุวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นที่พักแด่พระสงฆ์สาวก เพื่อจะได้ทรงงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไป ดังที่ปรากฏเป็นหลักฐานในร่องรอยธรรมของพระพุทธองค์ ๔๕ พรรษาสืบต่อมา

ในงานธรรมจักรบูชา จึงมีโครงการธรรมยาตรารวมอยู่ด้วย ๒ วัน โดยผู้เข้าร่วมงานธรรมจักรบูชาทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชายหญิงจากนานาประเทศที่มาร่วมงาน (หมายเหตุ ยังไม่ทราบว่าขณะนี้มีกี่ประเทศ) จะออกจาริกเดินเท้าสู่พระนครราชคฤห์เป็นเวลา ๒ วัน กับ ๑ คืน

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132