posttoday

สมเด็จพระมหาธีราจารย์พระมหาเถระสุปฏิปันโนแห่งสงฆ์ไทย

13 มีนาคม 2554

เราหมดหน้าที่แล้ว เป็นคำพูดสุดท้ายของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสรมหาเถร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม ที่บอกแก่ศิษย์ใกล้ชิดก่อนที่จะมรณภาพ....

เราหมดหน้าที่แล้ว เป็นคำพูดสุดท้ายของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสรมหาเถร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม ที่บอกแก่ศิษย์ใกล้ชิดก่อนที่จะมรณภาพ....

โดย...สมาน สุดโต

เราหมดหน้าที่แล้ว เป็นคำพูดสุดท้ายของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสรมหาเถร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง หนึ่งในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคม ที่บอกแก่ศิษย์ใกล้ชิดก่อนที่จะมรณภาพ ซึ่งพระพรหมโมลี (ศ.ดร.สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D) วัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม นำมาขยายความให้แก่ญาติโยม ในการแสดงพระธรรมเทศนาประจำวันพระ ที่วัดพิชยญาติการาม เมื่อเช้าวันที่ 12 มี.ค. 2554 ว่าเป็นคำพูดที่คนฟังทั่วๆ ไปได้ฟังคิดว่าเป็นธรรมดาของของที่ใกล้ถึงกาลอวสานแห่งชีวิต แต่หากคิดให้ลึกซึ้งตามหลักแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระมหาธีราจารย์พระมหาเถระสุปฏิปันโนแห่งสงฆ์ไทย

คำพูดนี้จัดว่าเป็นคำพูดที่ลึกซึ้ง บอกถึงภาวะแห่งความเป็นอริยสงฆ์ เพราะคำว่าหน้าที่นั้น มิใช่ตำแหน่งหน้าที่การงาน หากแต่เป็นหน้าที่การเกิดใหม่ของท่านนั้นไม่มีต่อไปแล้ว พรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนาท่านประพฤติจบแล้ว กิจที่จะทำ ท่านทำจบสิ้นแล้ว ท่านจึงเปล่งวาจาว่า เราหมดหน้าที่แล้ว แสดงว่าท่านตัดบ่วงอาลัย ปล่อยวางเพราะเห็นความจริงของสังขารที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

พร้อมกันนั้นท่านได้เตือนสติอุบาสกอุบาสิกาที่ฟังธรรม เมื่อเช้าวันที่ 12 มี.ค. ว่า อย่าตกอยู่ในความประมาท อย่ามัวเมาว่าไม่ตาย เพราะความตายมาถึงโดยไม่รู้ตัวดังที่พระเถระรูปหนึ่งคือ พระพรหมกวี (วรวิทย์) วัดโมลีโลกยาราม นั่งรถยนต์จะไปปฏิบัติศาสนกิจที่ จ.อุบลราชธานี คนขับหลับในแวบเดียวรถตกข้างทาง มรณภาพโดยไม่คาดคิดมาก่อน

พระพรหมโมลี ซึ่งบอกอุบาสกอุบาสิกาวัดพิชยญาติการาม ว่าสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงครามปั้นท่านขึ้นมา ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าสมเด็จเป็นพระเถระที่ตรง ไม่ยอมตกเป็นทาสของอามิส มีตัวอย่างให้อ้างได้หลายเรื่อง เช่นเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ท่านไม่รับนิมนต์ไปในงานฉลองสมณศักดิ์พระรูปใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

หากมีใครมาถวายปัจจัยเป็นการส่วนตัว ไม่ว่ามากหรือน้อย ท่านจะออกอนุโมทนาบัตรให้ทุกราย เพราะท่านทำงานด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่รบกวนศรัทธาประชาชน

ในส่วนของการบริหารจัดการการศึกษาปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดชนะสงคราม เป็นดาวเด่น มีนักเรียนผ่านสำนักนี้สอบได้ชั้นสูงสุดคือเปรียญ 9 ประโยคจำนวนมาก ไม่นับประโยคชั้นเปรียญตรี และเปรียญโท ที่ไม่สามารถนำมาเป็นสถิติได้ เพราะมากเหลือเกินตลอดเวลาที่ท่านเป็นเจ้าสำนักมานาน กว่า 40 ปี ทั้งนี้เพราะสมเด็จท่านสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้มาเรียนบาลีไม่ว่าชั้นไหน จะมีอาหารเพลเลี้ยงฟรีทุกวัน

โดยสมเด็จออกทุนเป็นค่าอาหารตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จ และการบริหารจัดการด้านอาหารถวายพระเณรที่เรียนหนังสือได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่พระพรหมโมลี เมื่อท่านไว้วางใจมอบให้พระพรหมโมลี ดูแลการรับจ่ายค่าอาหารเลี้ยงพระเณร ตอนแรกที่รับผิดชอบนั้น ในบัญชีไม่มีเงินเหลือถึงกับต้องไปเบิกกองกลางมาใช้ พระพรหมโมลีกับเพื่อนร่วมงานจึงปรึกษาหารือว่าต้องหาวิธีให้มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลี้ยงพระเณรที่เรียนปริยัติธรรมให้ยั่งยืนให้ได้ ทางเดียวที่จะทำเช่นนี้ได้คือการจัดทอดผ้าป่า เมื่อนำเรื่องนี้ไปปรึกษาและขอคำแนะนำในฐานะเจ้าสำนักเรียน สมเด็จขณะนั้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมคิดอยู่ครู่หนึ่งก็บอกว่าไม่ควรจัดผ้าป่าหาเงิน ในเมื่อเรามีเจตนาทำดีอย่างนี้แล้ว ไม่มีเงินก็ต้องเลิก ไม่เสียหายอะไร พระพรหมโมลีบอกว่าเมื่อท่านมีจุดยืนเช่นนั้นพวกเรามีกำลังใจ ทำงานไม่เหนื่อย ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เมื่อกิตติศัพท์แพร่สะพัดไป มีผู้นำปัจจัยมาถวาย มีคนมาอุปถัมภ์ถวายปัจจัยเป็นค่าอาหารไม่เคยขาด สิ้นปียังมีเงินเหลือถึง 4 แสนบาท อันนี้สอนพวกเราว่าเมื่อทำอะไรก็ให้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ปฏิปทาของสมเด็จนั้น พระพรหมโมลีกล่าวว่าสมเด็จเป็นมิตรกับทุกคน เป็นคนตรง ใจนักเลง สิ่งที่คนมีใจนักเลงไม่ชอบคือทุจริต

นอกจากนั้นท่านมีความขลังทางด้านวิทยาคม เพราะท่านนั้นเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของหลวงปู่ และหลวงลุงของท่านเสมอ
ในการบริหารงาน ท่านสอนเสมอว่าให้ระวังจะถูกลงโทษ เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเหตุ ทั้งนี้เพราะการบริหารงานทุกอย่าง ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มักทำให้เดือดร้อน

สมเด็จพระมหาธีราจารย์พระมหาเถระสุปฏิปันโนแห่งสงฆ์ไทย

เมื่อท่านจากไป ในฐานะที่สมเด็จเป็นอาจารย์ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นที่พึ่งของคณะศิษย์ จึงรู้สึกขาดที่พึ่ง ขาดผู้ปกป้องคุ้มครองไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะรู้ว่าไม่มีใครหนีความตายพ้นก็ตาม

ผู้เขียนเคยติดตามฟังสมเด็จแสดงพระธรรมเทศนาที่วัดชนะสงครามเสมอ จะพบว่าท่านไม่เคยขาดในการแสดงธรรมแม้แต่วันพระเดียว เว้นแต่อาพาธลุกไม่ไหวเท่านั้น

ในด้านความเมตตาต่อสัตว์ต่างๆ และนกนั้น สมเด็จท่านมีเหนือกว่าท่านอื่นๆ แน่นอน เพราะใครไถ่ชีวิตโค กระบือมาถวาย ท่านจะรับไว้ จนกระทั่งวัดชนะสงครามมีโคหลายสิบตัวในอดีต

ส่วนนกนั้นท่านเมตตาเลี้ยงหลายชนิด โดยเฉพาะนกเขา มีทั้งเขาฝ่น และเขาชะวา ผู้คนที่กราบสักการะจะได้ยินเสียงนกเหล่านั้นขันเสมอ รวมทั้งนกพันธุ์อื่นๆ อีกนานาชนิด ด้านหลังกุฏิของท่านจึงกลายเป็นแหล่งอภัยทาน มีนกและไก่ขันให้ความสุขแก่ผู้รักธรรมชาติยิ่งนัก

โดยที่สมเด็จท่านเป็นผู้มีความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ ในวันเข้าพรรษาทุกปี ท่านจะต้องไปทำวัตรรูปปั้นหลวงพ่อเชียง หรือพระราชพฤฒาจารย์ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ไม่เคยขาด เช่นเดียวกับการไปถวายสักการะรูปปั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เพราะทั้งสองมีบุญคุณต่อท่านชนิดที่ไม่เคยลืม เช่นหลวงพ่อเชียง เป็นผู้ที่ร้องขอให้ท่านมาอยู่วัดเลียบอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านหลบภัยสงครามกลับไปอยู่อยุธยาบ้านเกิด

สมเด็จเคยอยู่วัดเลียบเมื่อครั้งเป็นสามเณร พ.ศ. 2484-2486 กลับมาอยู่อีกครั้งตามคำร้องขอหลวงพ่อเชียงเมื่อ พ.ศ. 2492 จนกระทั่งรับพระบัญชาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2508

ส่วนสมเด็จวัดสามพระยา ซึ่งเป็นชาวอยุธยาด้วยกัน ได้ให้การดูแลและส่งเสริมท่านในหลายๆ ด้าน ทำให้ท่านมีความสามารถ และเข้มแข็งในการบริหารงานคณะสงฆ์ตามรอยของท่านตราบเท่าทุกวันนี้

เพราะความที่เป็นพระมหาเถระที่มีวัตรปฏิบัติตรงไปตรงมา ทำงานเพื่อพระศาสนามาตลอด เมื่อท่านมรณภาพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงโปรดฯ ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน ในงานทำบุญ 50 วัน 100 วัน และวันพระราชทานเพลิงศพ หลังครบ 100 วันแล้ว พร้อมกันนั้นได้พระราชทานโกศไม้ 12 พร้อมฉัตรเบญจา 6 คัน และเครื่องประกอบอิสริยยศตามสมณศักดิ์ครบทุกประการ รวมทั้งพวงมาลาหลวงจากทุกพระองค์ สมกับที่ท่านเป็นสมเด็จของประชาชน และชาวพุทธยิ่งนัก