posttoday

ชีวิตอัศจรรย์พระพรหมมุนี(ผิน สุวโจ)

23 มกราคม 2554

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมมุนีได้เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนธรรมตลอดจนถึงทรงลาผนวชวันละ 1 ชั่วโมง

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมมุนีได้เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนธรรมตลอดจนถึงทรงลาผนวชวันละ 1 ชั่วโมง

โดย...สมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์การบำเพ็ญกุศลครบ 50 ปี มรณภาพพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ธรรมประทีป) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รูปที่ 5 วันที่ 22 ม.ค. 2554 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้แสดงพระธรรมเทศนาว่า ชีวิตพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เป็นชีวิตที่มีความอัศจรรย์ เพราะเกิดมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์ เคยเข้าโบสถ์ทำพิธีล้างบาปมาแล้ว แต่เนื่องจากบุญบารมีเก่าหนุนนำจึงทำให้ไม่รักที่จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์ และเป็นศาสนิกศาสนานั้น เป็นเหตุให้ฝันว่าบวชเป็นสามเณรในศาสนาพุทธ ฝันว่าได้ปีนกำแพงวัดเข้าไปในโบสถ์ของพุทธบ้าง

ชีวิตอัศจรรย์พระพรหมมุนี(ผิน สุวโจ) พระพรหมมุนี(ผิน สุวโจ)

ประกอบกับมีอุปนิสัยกลัวบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงได้มาบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่บ้านเดิม คือ จ.สมุทรสงคราม

เมื่ออุปสมบทได้ 5 พรรษา จึงย้ายมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาเล่าเรียนนักธรรมบาลี จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่อปี 2467

จากนั้นได้สนองงานคณะสงฆ์ในพระอารามในหลายหน้าที่ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนสำนักเรียน เป็นครูสอนบาลี เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานประจำวัดจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต และเป็น|เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

ส่วนงานนอกพระอารามนั้น พระเดชพระคุณได้รับหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาและการฝึกอบรมศีลธรรมจรรยา โรงเรียนมัธยม และโรงเรียนฝึกหัดครูหลายแห่ง

แม้จะครองพระอารามนี้ระยะสั้นๆ และมีอายุได้ 67 ปี ก็มรณภาพ แต่ได้สนองงานในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส ทำงานแทนเจ้าอาวาสนานถึง 20 กว่าปีเศษ จึงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่รักเคารพ|นับถือของพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปในสมัยนั้น ทั้งได้สร้างผลงานอันเป็นอมตะฝากไว้มากมาย ทั้งงานนิพนธ์หนังสือเรื่องต่างๆ ในรูปบทความ โอวาท เทศนา รวมแล้วได้นับร้อยเรื่อง

ตามประวัติที่เผยแพร่ในเว็บไซต์และหนังสือที่ระลึกงานทำบุญ 50 ปี วันมรณภาพ กล่าวว่า พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เกิดในสกุล ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนบุตรหญิงชาย 7 คน ของนายห้อย นางฮวด ธรรมประทีป เกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2437 ตรงกับวันศุกร์แรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเมีย เวลา 15.30 น. ณ ต.บ้านแหลมใหญ่ อ.บ้านปรก (ปัจจุบันเป็น อ.เมือง) จ.สมุทรสงคราม

การศึกษาในชั้นต้น ได้ศึกษาภาษาไทยในสำนักขุนวิทยานุกูลกวี (ทองดี เครือชะเอม ป.7 อดีตครูโรงเรียนราชกุมารราชกุมารี ในพระบรมมหาราชวัง) ณ วัดเกตุการาม สมุทรสงคราม ญาติของท่านฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา เป็นคริสตศาสนิกชนที่เคร่งครัด และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและนางชีในศาสนาคริสต์ด้วย สมัยเมื่อยังเยาว์ เคยไปสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้าง กับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์ แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน เพราะเคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่างๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยไปกับเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นโบสถ์ (ในพระพุทธศาสนา) ลอยมาในอากาศบ้าง ฝันเห็นอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก ไม่เห็นในคำสอนของศาสนาคริสต์ในข้อที่ถือว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป เพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์ มีความเห็นว่าสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม

เมื่ออุปนิสัยน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ครั้นอายุได้ 16 ปี (พ.ศ. 2453) จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรกับพระครูธรรมธร (แก้วพฺรหฺมสาโร) วัดพวงมาลัย อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการามต่ออีก

ครั้นอายุได้ 19 ปี (พ.ศ. 2456) ก็ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่งกับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต) วัดเกตุการาม และอยู่มาจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมีพระพุทธวิริยากร (จิตต ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) พระครูธรรมธรอินทร์(ภาสกโร) วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทแล้วก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น 4 พรรษา ในพรรษาที่ 3 สอบได้นักธรรมชั้นตรี

ปี 2461 ได้ย้ายมาจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ปี 2467 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ปี 2469

พระพรหมมุนีได้เริ่มรับภาระเกี่ยวกับการงานวัดและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ มาตั้งแต่มีอายุพรรษาในขั้นพระผู้น้อย และก็มีภารกิจมากขึ้นตามลำดับอายุกาล

พระธรรมวราจารย์ หรือหลวงปู่แบน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เข้ามาสังกัดวัดบวรนิเวศวิหารตั้งแต่ปี 2493 เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพรหมมุนีในฐานะเลขานุการส่วนตัว ได้เล่าถึงเกียรติคุณพระพรหมมุนีให้ฟังว่า เป็นเพราะพระพรหมมุนี (ผิน) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงสามารถดำเนินงานเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านเป็นผู้จัดตั้ง เปิดสอนเป็นงานเป็นการมาตั้งแต่ปี 2489

ท่านเล่าว่า พระพรหมมุนี (ผิน) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสุพจนมุนี เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานนามว่าสภาการศึกษามหามกุฏราชวิยาลัย ทรงดำรงตำแหน่งนายกมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นรูปแรก

แต่กว่าจะจัดตั้งได้ก็ต้องพยายามมิใช่น้อย เพราะสมเด็จพระสังฆราชเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยในช่วงแรก ต่อเมื่อทรงรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการ และทรงทราบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย พระองค์ท่านจึงไม่ขัดข้องและจัดทำคำสั่งตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2488

หลังจากนั้นพระพรหมมุนี (ผิน) พร้อมด้วยคณะทำงานได้ร่างระเบียบ กฎกติกา ข้อบังคับ และวางหลักสูตรมหาวิทยาลัยขึ้น ตามระเบียบข้อบังคับว่าผู้เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ต้องสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคขึ้นไป หรือ 4 ประโยคก็ได้ แต่เมื่อรับปริญญาต้องได้ 5 ประโยค

ในวันที 30 ส.ค. 2489 ประกาศเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก มีผู้สมัคร 38 รูป เปิดเรียนวันที่ 16 ก.ย. 2489 เป็นต้นมา ในจำนวน 38 รูปนั้น สามารถเรียนจบหลักสูตรจำนวน 8 รูป ได้มีการประสาธน์ปริญญาครั้งแรก ในปี 2495 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมอบปริญญาบัตร จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มาร่วมในพิธีนี้ด้วย

ในการบริหารมหาวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยรูปที่ 1 พระพรหมมุนี (ผิน) เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัย องค์ที่ 1 อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เมื่อครั้งเป็นพระศรีวิสุทธิญาณ วัดกันมาตุยาราม เป็นเลขาธิการรูปแรก แต่ก่อนรับตำแหน่งเลขาธิการ อาจารย์สุชีพขอพรตั้งเงื่อนไขว่า เมื่อนักศึกษารุ่นแรกจบปริญญาตรีแล้ว ท่านจะขอลาสิกขา และก็ลาสิกขาจริงๆ ตามเงื่อนไขในเวลาต่อมา

พระพรหมมุนี (ผิน) ดำรงตำแหน่งประธานสภาการศึกษา 14 ปี ส่วนเลขาธิการนั้น เมื่ออาจารย์สุชีพลาสิกขา สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส ดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี 2516 คณะกรรมการมอบให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏฯ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ จึงเป็นองค์ที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ จนกระทั่งถึงปี 2535 เปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการมาเป็นอธิการบดี โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีรูปแรก จนถึงปี 2543 ได้ให้พระเทพปริยัติโมลี วัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการแทน เนื่องจากสมเด็จวัดมกุฏฯ อาพาธ และพระเทพปริยัติโมลีดำรงตำแหน่งเลขาธิการหลังสมเด็จวัดมกุฏฯ มรณภาพ จนถึงทุกวันนี้

ส่วนหลวงปู่ หรือพระธรรมวราจารย์ เข้ามาทำงานในตำแหน่งเล็กๆ ในสภาการศึกษามหามกุฏฯ คือ งานสารบัญ แต่ได้ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ ปี 2510 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ปี 2521 เป็นรองเลขาธิการ ปี 2535 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร จนถึงปี 2541 ออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารตาม พ.ร.บ.สงฆ์มหามกุฏราชวิทยาลัย

หลวงปู่ทำงานให้มหาวิทยาลัยสงฆ์นานเกือบ 30 ปี พยายามให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ เริ่มตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2517-2518 แต่ไม่สามารถเดินหน้าได้ จนถึงสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงสำเร็จ เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีลิขิตถึงบุคคลทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา เป็นต้น ถึงความจำเป็นในการมี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ ต่อมาสภาเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เดือน ต.ค. 2540 เรื่อง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำหรับการสนองงานพระพรหมมุนี (ผิน) นั้น หลวงปู่สนองงานในฐานะเลขาฯ ส่วนตัว เพราะทำงานใกล้ชิดตั้งแต่หลวงปู่มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารปี 2493 และเข้าเป็นนักศึกษาสภาการศึกษามหามกุฏฯ เคยออกตรวจการคณะสงฆ์ด้วยกันเป็นเวลา 10 กว่าปี แม้ว่าการเดินทางจะลำบากมากในสมัยนั้น ก็ไม่ย่อท้อ

ในฐานะที่พระพรหมมุนีเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ก็เป็นหลวงปู่แบนอีกนั่นแหละเป็นผู้เขียนดวงเขียนเลขถวายเพราะลายมือสวย ส่วนการคำนวณหาฤกษ์หายามเป็นหน้าที่พระพรหมมุนี เท่าที่สังเกตท่านเป็นนักโหราศาสตร์ แต่ไม่ทำนายทายทัก นอกจากบอกฤกษ์ บอกยาม ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน และตั้งชื่อเด็กเท่านั้น

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนธรรมตลอดจนถึงทรงลาผนวชวันละ 1 ชั่วโมง

ด้านสมณศักดิ์ ก่อนเป็นพระพรหมมุนี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระสุพจนมุนี และในปี 2492 จึงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพรหมมุนี”

พระพรหมมุนีปกครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ 4 ปี มรณภาพเมื่อปี 2504 สิริอายุ 67 ปี

เนื่องด้วยคุณูปการที่เป็นอมตะ ในวันทำบุญครบ 50 ปี แห่งวันมรณภาพในพระบรมราชูปถัมภ์ ของพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) จึงมีคณะสงฆ์ คณะศิษย์ และประชาชนจำนวนมากร่วมงาน เพราะไม่มีใครลืมคุณงามความดีที่ท่านสร้างไว้ แม้จะผ่านไป 50 ปีแล้วก็ตาม