posttoday

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์

18 มกราคม 2553

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ วันที่ 18 ม.ค. 2553 นี้ คณะสงฆ์วัดเจดีย์หลวงฯ ได้จัดสร้างเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ตามประเพณีล้านนาโบราณ

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ วันที่ 18 ม.ค. 2553 นี้ คณะสงฆ์วัดเจดีย์หลวงฯ ได้จัดสร้างเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ตามประเพณีล้านนาโบราณ

โดย...ชีวิน ศรัทธา

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ วันที่ 18 ม.ค. 2553 นี้ คณะสงฆ์วัดเจดีย์หลวงฯ ได้จัดสร้างเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ตามประเพณีล้านนาโบราณ เพื่อเป็นที่พระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติยศ ในฐานะที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีสมณศักดิ์สูงระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่นานๆ จะมีรูปหนึ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะที่ล้านนา

สิ่งที่หาดูได้ยาก

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ ที่ตั้งและเผาศพแบบล้านนาเป็นศิลปะการก่อสร้างที่อลังการยิ่งใหญ่ ฝีมือการสร้างสรรค์ของสล่าพื้นบ้านหรือช่างแห่งล้านนา ที่นำตำนานนกหัสดีลิงค์ที่ปรากฏในธรรมบทว่าเป็นนกใหญ่มีแรงเสมอด้วยช้างสารอยู่ในเทือกป่าหิมพานต์ มาผสมกับศิลปะการก่อสร้างและตกแต่งแห่งล้านนา เพื่อสมมติให้เป็นพาหนะสำหรับนำครูบาสังฆะเจ้า หรือพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเจริญด้วยพรรษาไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามความเชื่อของคนเหนือ

แต่เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์หาดูได้ยากในปัจจุบัน เพราะการก่อสร้างใช้งบประมาณสูง อีกทั้งนิยมก่อสร้างสำหรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

พระธัมมสิปโป หรืออดีตช่าง รุ่ง จันตาบุญ ช่างที่ก่อสร้างหอคำหลวง หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นในงานมหกรรมพืชสวนโลก และผู้มีประสบการณ์ในการก่อสร้างเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ในภาคเหนือหลายครั้ง ได้บวชเป็นพระภิกษุเพื่ออุทิศกุศลให้กับหลวงปู่จันทร์ กล่าวว่า เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ที่ก่อสร้างในครั้งนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ตามตำนานโบราณ คือหัวเป็นช้าง มีงวง มีงาเหมือนช้างทั่วไป ลำตัวเป็นนก ส่วนบริเวณด้านบนตัวนกสร้างเป็นปราสาททรงธรรม ตกแต่งด้วยศิลปะล้านนาของลำปางผสมกับชาวไทยยอง ประดับลวดลายวิจิตรตระการตาด้วยสีเบญจรงค์

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ที่สร้างนี้สูง 25 เมตร และหากวัดขึ้นถึงเพดานผ้าจะมีความสูงเท่ากับ 34 เมตร หรือเท่ากับตึก 9 ชั้น มีความยาวจากหัวจรดหาง 11 เมตรครึ่ง มีทางลาดยาวประมาณ 45 เมตร เพื่ออัญเชิญสังขารของหลวงปู่จันทร์ขึ้นตั้งบนตัวนกหัสดีลิงค์

เมรุนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างในพิธีศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่แห่งล้านนา ใช้เวลาในการสร้างนานถึง 5 เดือน ค่าก่อสร้างประมาณ 6 แสนบาท และใช้งบอีกราว 3 แสนบาท เพื่อใช้ในส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งในพิธีและขบวนแห่ที่จะมีประชาชนราว 400 คน ร่วมกันแห่เครื่องครัวต่างๆ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง หมากสุม และหมากเปง

สำหรับพระเถระหรือเจ้านาย
พระธัมมสิปโป หรือช่างรุ่ง ได้สร้างเมรุพญานกหัสดีลิงค์ให้กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่มาแล้วรวม 4 รูปด้วยกัน ตั้งแต่ปี 2542 ครั้งล่าสุดสร้างในงานเมรุครูบาผัด อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2551

ประเพณีการก่อสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์จะทำถวายพระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพมากด้วยบารมี หรืออาจจะเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ หรือพระมหากษัตริย์ในอดีต เพราะมีความเชื่อว่าคนที่จะนอนบนตัวนกหัสดีลิงค์ต้องเป็นคนมีบุญมาเกิดบนโลกมนุษย์ ซึ่งพระธัมมสิปโปบอกว่า ที่ท่านทำมาแล้วเป็นการทำถวายโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนที่ได้เป็นความประทับใจของตนเองและครอบครัว

สำหรับการออกแบบเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ ศพหลวงปู่จันทร์ กุสโล เป็นลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับยอง เป็นสไตล์งานช่างล้านนาผสมลำปาง ตัวปราสาทจะเน้นการใช้สีสดใสหลากหลายสีสัน ส่วนตัวและหางนกจะโดดเด่นที่ทรวดทรง หาง และหัว รวมทั้งลำตัวขนาดใหญ่

ในส่วนของแท่นจะมีการยกพื้น 3 ชั้น เปรียบเสมือนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งประเพณีล้านนานิยมตั้งศพพระเถระให้สูงกว่าเหนือหัวเรา ส่วนประกอบอื่นที่เด่นๆ จะเป็นปราสาทสร้อย ซึ่งเป็นปราสาทเล็กสี่แจ่งหรือสี่มุม จะใช้เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนา

บริเวณรอบๆ พญานกหัสดีลิงค์จะมีครัวตาน (ครัวทาน) ทั้ง 4 แห่ง เพื่อทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นประเพณีสืบทอดมาจากครูบาศรีวิชัย ภายในครัวตานจะประกอบไปด้วยเครื่องอัฐบริขาร ของใช้ในชีวิตประจำวันของพระภิกษุสงฆ์

พระธัมมสิปโป หรืออดีตช่างรุ่ง บอกว่า ตัวปราสาทนกหัสดีลิงค์โดยรอบจะมีเสาที่ทำด้วยไม้ไผ่ทั้ง 4 ด้าน เพื่อขึงผ้าสังคะไว้บนยอดสูง ซึ่งจะมีทั้งด้านบนและด้านล่างที่อยู่ใต้ตัวนกหัสดีลิงค์ ทั้งนี้เป็นความเชื่อของคนล้านนาว่า หากผ้าสังคะที่อยู่บนดิน ไฟที่เผาจะไม่ไปรบกวนพระแม่ธรณี ส่วนชั้นบนก็จะไม่ไปรบกวนองค์อินทร์หรือพระพรหมให้ต้องเดือดร้อนจากความร้อน ซึ่งผ้าสังคะที่ถูกเผาจะมีชิ้นส่วนเล็กเหลือซากไว้ ชาวบ้านมักนิยมเก็บไว้เป็นที่ระลึกและเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง

รอบๆ ตัวนกหัสดีลิงค์นั้นจะมีการตกแต่งด้วยดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้ง รวมทั้งมีข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู เปลือกไม้ก่อประดับโดยรอบ ซึ่งเป็นความเชื่อมาตั้งแต่อดีตกาลเช่นกัน

นกยักษ์เคลื่อนไหวได้

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์

ตัวนกหัสดีลิงค์จะประกอบด้วยลักษณะของนกและช้าง คือส่วนหัวจะเป็นช้าง ส่วนลำตัว ปีก และหาง จะเป็นนก

ในการนี้จะมีเทคนิคพิเศษที่จะทำให้ตัวนกหัสดีลิงค์เคลื่อนไหวได้ เช่น ลูกตากะพริบได้ หูกระดิกได้ ปีกก็กระพือได้ มีงวงเหมือนงวงช้างที่ส่ายมาส่ายไป สามารถพ่นข้าวตอกดอกไม้ให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้ ทำให้ดูเสมือนว่านกหัสดีลิงค์ตัวนี้มีชีวิต พร้อมที่จะนำวิญญาณของผู้มรณภาพขึ้นสู่สรวงสวรรค์

พระธัมมสิปโป กล่าวว่า ท่านต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านเอาไว้ แม้ว่าไม่ได้มีอาชีพนี้มาก่อน แต่ด้วยความรักในภูมิปัญญาท้องถิ่น และอยากศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น จึงได้เรียนรู้และได้ทำขึ้นมา

ส่วนความแตกต่างระหว่างนกหัสดีลิงค์ของล้านนาและอีสาน ท่านกล่าวว่าทางอีสานจะมีพิธีให้แม่ม่ายยิงธนูฆ่านกหัสดีลิงค์ให้ตาย แต่ของล้านนาไม่มีพิธีดังกล่าว เพราะเชื่อว่านกหัสดีลิงค์มีแรงมหาศาล สามารถนำร่างพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ไปสู่สรวงสวรรค์ได้

โดยความเชื่อของชาวล้านนามาแต่อดีต การสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือ รวมถึงพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพลง ทำให้พิธีศพมีความสง่างามสมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ในปัจจุบันปราสาทนกหัสดีลิงค์นิยมใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น เมื่อพระเถระมรณภาพจะจัดศพอย่างสมเกียรติ คือทำปราสาทตั้งโลงศพบนบุษบกที่ทำเป็นเรือนยอดตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และทำแม่เรือวางปราสาทสำหรับลากไปสู่สุสาน

รูปแบบของปราสาทงานศพมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ ปราสาทที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ฉำฉา เพราะมีน้ำหนักเบาและเวลาเผาจะไหม้ไฟได้ง่าย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นวิวัฒนาการของปราสาท สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะนำโต๊ะ เก้าอี้ มาประดับในปราสาท เมื่อเวลาเผาศพแล้วก็จะนำโต๊ะ เก้าอี้ เหล่านั้นไปมอบถวายให้กับวัดเพื่อใช้ในสาธารณประโยชน์ต่อไป

ตำนานนกหัสดีลิงค์
สำหรับตำนานนกหัสดีลิงค์มี 3 ตำนาน เช่น นกหัสดีลิงค์มีหัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก ชอบกินสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร ตั้งแต่คน เสือ ควาย เป็นต้น บินโฉบกินไปเรื่อยๆ สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จึงมีการหามือสังหาร ซึ่งก็ได้เจ้านางสีดาที่มีความสามารถฆ่านกหัสดีลิงค์ตัวนั้นได้

ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็ว่า มีเมืองเมืองหนึ่งเกิดอาเพศ นกหัสดีลิงค์เที่ยวบินจับผู้คนในเมืองกินเป็นอาหาร แม้แต่เจ้าเมืองก็ยังไม่รอด ฝ่ายมเหสีหาทางแก้แค้นนกยักษ์นั้น จึงได้ป่าวประกาศหาคนเก่ง ในที่สุดได้เจ้านางสีดาแห่งเมืองตักสิลามาเป็นคนฆ่าเหมือนตำนานแรก

ตำนานที่ 3 กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินนครเชียงรุ้งตักสิลาสวรรคต พระมเหสีแห่พระบรมศพไปถวายพระเพลิงนอกเมือง ขณะนั้นนกหัสดีลิงค์หรือนกสักกะไดลิงค์บินมาจากป่าหิมพานต์เห็นนึกว่าเป็นอาหารจึงโฉบเอาพระศพไป  ก็ได้เจ้านางสีดาที่มีฝีมือใช้ศรยิงถูกนกใหญ่ตกลงมาตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมไปกับนกใหญ่นั้น

จากตํานานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นที่มาของประเพณีและความเชื่อที่ใช้เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ปลงศพ เพื่อบอกความยิ่งใหญ่ทั้งเรื่องของนกที่ถือว่าเป็นนกใหญ่แห่งป่าหิมพานต์ พร้อมทั้งประกาศความดี บารมี และเกียรติยศของผู้ตายให้ระบือไกลอีกด้วย