posttoday

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

14 มีนาคม 2565

โดย...สมาน สุดโต

*******************

เรื่องหนึ่งเดียวที่วัดราชาธิวาสนี้ ผมเน้นเรื่องที่มีและเกิดที่วัดนี้ มีผลดีต่อสังคมไทยตราบถึงปัจจุบัน ตอนแรกผมเล่าเรื่อง วชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับ ณ วัดสมอราย ที่ทรงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ กับสังฆราชคริสต์ นิกายโมันคาทอลิก นามว่า ปาเลอ กัว ชาวฝรั่งเศส ซึ่งพำนักที่วัดคอนเซปชัญ สามเสน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทันโลกขึ้น

ส่วนสังฆราชปาเลอ กัว นักภาษาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นอกจากถ่ายทอดวิชาการให้ท่านวชิรญาณภิกขุแล้ว ตนเองได้ขอเรียนภาษาไทย และบาลี กับท่านวชิรญาณภิกขุด้วย เรื่องหนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส เริ่มเมื่อพระวชิรญาณภิกขุ ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราเมื่อ พศ.2367 และเสด็ประทับที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 3 วัน เพื่อปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

หลังจากสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ได้สร้างพระพุทธสัมพรรณี กาไหลทองคำมาเป็นพระประธานองค์ใหม่ผู้ที่ออกแบบปั้นพระพุทธสัมพรรณี ได้แก่ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยจำลองแบบจากพระพุทธสัมพรรณี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น

ในการจัดสร้างนั้น สมเด็จพระปิยะมหาราช ทรงกำกับด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในผอบทองคำแล้วนำไปบรรจุที่พระเกศพระสัมพุทธพรรณี แต่ยังไม่อันอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส ได้เสด็จสวรรคตก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 6 ทรงให้อัญเชิญมาประดิษฐ์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2462 พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ชี้ชวนให้ชมผนังหลังคูหา พระพุทธสัมพรรณี ที่เป็นปูนปั้นปิดทอง จำลองพระราชลัญจกร 5 รัชกาล คือรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่ผนังในคูหาเป็นภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้า ลอยในอากาศ เทวดาเฝ้าสักการะ ทั้ง 2 ข้าง ที่พื้นดินเขียนภาพกษัตริย์ศากยวงศ์นั่งอยู่ ถ้ามองด้านบน เกิดจินตนาการเหมือนพระพุทธเจ้าลอยมาบนเศียรศากยวงศ์

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

ผนังพระอุโบสถเป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ภาพในชาดกแตกต่างจากภาพที่เราเห็นทั่วไป เพราะพระเวสสันดรก็ดี พระนางมัทรีก็ดี ชูชกก็ดี พรานเจตบุตก็ดี รวมทั้งบุคคลอื่นๆ เช่น กัณหาชาลี มีความเป็นธรรมชาติแบบมนุษย์ หน้าตาแต่ละองค์มองดูคล้ายฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ลักษณะเป็นธรรมชาติ เป็นคนจริงๆ เพราะศิลปินคนลงสีและขยายภาพเป็นจิตรกรชาวอิตาลี ที่มีชื่อว่า นายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli)

ส่วนผู้ออกแบบ ลงลายเส้นได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภาพเวสสันดรชาดก ชุดนี้จึงแปลกจากที่เราชาวไทยคุ้นเคย เช่นภาพที่เขียนโดย เหม เวชกร ที่มีความอ่อนช้อยสรวมชฎา เหมือนละครแม้ว่าจะเดินดงก็ตาม ส่วนประวัติจิตรกร คาร์โล ริโกลี ชาวอิตาลีนั้น ได้เข้ามาเขียนภาพในสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

ภาพที่มีชื่อเสียงได้แก่ ภาพผนังเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมภาพประดับเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน และภาพพระอาทิตย์ชักราชรถ ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติสงศ์ และ คาร์โล ริโกลี ขยายแบบและลงสีภาพนี้จะเห็นในตาลปัตร พัดรอง ที่สร้างถวายพระสงฆ์ ปัจจุบัน จัดแสดงที่วังปลายเนิน และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

เรื่องที่ผมเล่านี้อ้างอิงจากที่พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เอกสารอ้างอิงของวัด และจากการบรรยายโดย รศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณท่านทูตธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่จัดโครงการให้ศึกษาความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม ของไทยที่มีมาแต่อดีต และจะยังอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส