posttoday

คุณค่าแห่งพระวินัย...ที่ชาวพุทธควรเข้าใจ(ตอน๗)

08 ธันวาคม 2553

ปุจฉา : นมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : นมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : นมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

ได้อ่านธรรมส่องโลก ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบัญญัติวินัย ว่าด้วยเรื่องการลักทรัพย์ ถึงขั้นปาราชิก คือขาดจากความเป็นพระสงฆ์ และท่านอาจารย์เทียบเคียงให้เห็นคุณประโยชน์ของการบัญญัติวินัยหรือศีลไว้อย่างแข็งแรงของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ประพฤติออกนอกกรอบความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า อ่านแล้วได้สาระความรู้อย่างยิ่งในสิกขาบทที่ ๒ จากจำนวน ๔ สิกขาบทของโทษปาราชิก

จึงใคร่ขอให้ท่านอาจารย์แสดงความสำคัญในเนื้อหาสาระอีก ๓ สิกขาบท ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีสาระที่จะนำมาใช้ประโยชน์กับการบริหารประเทศอย่างไรบ้าง หากไม่เป็นการรบกวน ขอพระอาจารย์ช่วยเขียนตอบให้ด้วย ผ่านคอลัมน์ธรรมส่องโลก เพื่อการศึกษาของชาวพุทธที่ควรรู้

นมัสการด้วยความเคารพยิ่ง

ศรัทธาธรรมส่องโลก

“ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความเป็นคนมักน้อย ความเป็นคนสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร ทรงแสดงธรรมที่สมควรแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย และรับสั่งแสดงเหตุผลแห่งการที่ทรงบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย”

วิสัชนา : เรื่องดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของศีลในระดับวินัย โดยเฉพาะของพระสงฆ์ ดังจากการปรากฏในบัญญัติปาราชิกของสิกขาบทที่ ๑ ซึ่งทรงบัญญัติชัดแจ้งว่า “หากภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

ต้นบัญญัติของปฐมสิกขาบทปาราชิก ก็มาจากกรณีพระสุทินน์กลันทบุตร ชาวราชคฤห์ ได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่า แม้ขณะนั้นยังมิได้ทรงบัญญัติในโทษดังกล่าว และพระสุทินน์ก็ยังมีความเห็นว่า ไม่มีโทษ แต่ด้วยอานุภาพแห่งความเป็นพรหมจรรย์ของพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ จึงทำให้เกิดผลกรรมฟากอกุศล ส่งผลให้เกิดความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ บาลีเรียกว่า วิปฏิสาร จนทำให้พระสุทินน์กลันทบุตร มีร่างกายซูบผอม เศร้าหมอง ผิวพรรณเลวทราม ซึ่งต่อมาความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงได้ทรงประชุมสงฆ์ และติเตียนการกระทำของพระสุทินน์ ที่ได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ถึง ๓ ครั้ง เพื่อหวังให้ลูกกับนาง จนสำเร็จความประสงค์ นางได้ตั้งครรภ์เพราะความประพฤติดังกล่าว...ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงติเตียนว่า “เป็นการกระทำอันเป็นโทษ ได้ชื่อว่า ต้องอสัทธรรม เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำที่สุด...และการกระทำนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของบุคคลที่เลื่อมใสแล้ว...”

ก่อนจะบัญญัติสิกขาบทที่ ๑ ในโทษปาราชิกดังกล่าว ได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความเป็นคนมักน้อย ความเป็นคนสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร ทรงแสดงธรรมที่สมควรแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย และรับสั่งแสดงเหตุผลแห่งการที่ทรงบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย

โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ จึงทรงปฐมบัญญัติในเรื่องดังกล่าวขึ้น และต่อมาเมื่อมีผู้ประพฤติผิดในลักษณะทำนองดังกล่าว เกี่ยวกับการเสพเมถุนธรรม แม้จะเปลี่ยนวัตถุไป จากผู้หญิงไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังทรงจัดเข้าเป็นความผิดฐานเดียวกันในปาราชิกของสิกขาบทที่ ๑ ซึ่งทรงบัญญัติว่า “อนึ่ง ในภิกษุใดเสพเมถุน โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ก็ให้ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้เช่นเดียวกัน...” และเพิ่มเติมเป็นอนุบัญญัติที่ ๒ เมื่อกรณีพระภิกษุไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุนธรรม โดยที่สุด

แม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ก็ให้เป็นโทษปาราชิก หาสังวาสมิได้ เป็นอาบัติร้ายแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งการเสพเมถุนธรรมในมรรคทั้ง ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค เป็นเรื่องของชาวบ้านผู้ครองเรือน ไม่ควรแปดเปื้อนในพระพุทธศาสนา ในฐานะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างพระภิกษุสงฆ์ จึงทรงบัญญัติบทลงโทษไว้ขั้นสูงสุด

เพื่อจัดระบบองค์กรสงฆ์ให้เข้มแข็ง มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งนี้คือความโดดเด่นของพระพุทธศาสนาที่น่าเลื่อมใสยิ่ง เพราะจะต้องมีความอดทน อดกลั้น อันเป็นตบะหรือเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกับหัวข้อธรรมประโยคแรกในพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงกล่าวว่า “ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา...”