posttoday

ความร้าวฉานทางวัฒนธรรม

04 ตุลาคม 2563

โดย อุทัย มณี  

****************

มีคำกล่าวว่า โลกนี้คือละคร แต่ละคน แต่ละตอน ต้องแสดงบทบาทตามที่ “กรรม” ลิขิตเขียนบทเอาไว้ กรรม ก็คือ การกระทำของตนเองนั่นแหละ บางคนเมื่อเกษียณออกมาแล้ว อาจมีความสุขกับครอบครัว ใช้ชีวิตตามที่ตนเองใฝ่ฝัน บางคนอาจจะรับใช้สังคมหรือประเทศชาติต่อ ตามความรู้ความสามารถ หรือบางคนอาจมี “กรรรม” ติดตัว ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งทั้งหมดคือ “กรรมลิขิต” ที่คนเองได้กำหนดทำเอาไว้ ด้วยความตั้งใจหรือด้วยความประมาทพลาดพลั้งก็ตาม แต่ถึงอย่างไรเสียคนวัยเกษียณ เมื่อถูกให้ถอดหัวโขนแล้ว ควรปล่อยวาง ทำใจให้สบาย ขอให้มีความสุขในวัยไม้ไกล้ฝั่งให้เต็มที่

มีหลายคนที่ผู้เขียนรู้จักต้องเกษียณ อย่างเช่นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม คุณกฤษศญพงษ์ ศิริ ความจริงอยากให้อยู่ต่อ เพราะผลงานตลอด 4 ปีมานี้ ผ่านมาแล้ว 2 รัฐมนตรี ผู้เขียนคิดว่าอยู่ในขั้น “ดีเยี่ยม” บุคลิกภาพมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจานิ่มนวล คล้าย  ๆ กับ ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผู้เขียนรู้จัก

ความร้าวฉานทางวัฒนธรรม

สถานการณ์สังคมไทยยุคปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง “ความร้าวฉานทางวัฒนธรรม” เด็กรุ่นใหม่ ๆ บางคนบางกลุ่ม ที่มีการศึกษาดี มีความก้าวร้าว ไม่รู้จักมารยาททางสังคมหรือแม้แต่มารยาทในครอบครัว หากสังคมไทยปล่อยให้เด็กมีความก้าวร้าวดั่งทุกวันนี้ เชื่อแน่ว่า วันหนึ่งคนที่เสียใจที่สุดคือ พ่อและแม่ ของเด็กนั่นเอง

ผู้เขียนเคยมีข้อมูลนานแล้วว่า ประเทศตะวันตกประเทศหนึ่ง มีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า พ่อแม่ทำให้เกิดขึ้นมาเพราะความสนองตัณหาของตนเอง มิได้เกิดจากความรักที่บริสุทธิ์ คนกลุ่มนี้บางคนจึงมีวาทะกรรมว่า เมื่อพ่อแม่ทำให้เขาเกิดต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเขา แต่พวกเธอไม่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตพ่อแม่ เพราะความจริงแล้ว เพื่อเธอไม่อยากเกิดมาด้วยซ้ำไป

ชุดความคิดนี้ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่เด็กบางคน เด็กบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กคนชั้นกลาง เด็กคนกรุงเทพ โดยเด็กบางคนอาจถูกผู้ใหญ่ที่ขาดความอบอุ่นทางครอบครัวเป็นคนชี้นำ

คนกลุ่มนี้ทำลายทุกอย่างที่เป็นวัฒนธรรมสิ่งดีงามที่มีอยู่ในครอบครัว สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะศูนย์กลางที่เป็นแหล่งผลิตชุดวัฒนธรรม จารีพประเพณี เช่นสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งสถาบันศาสนา

กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ผู้เขียนอยากเห็นเหมือนกับยุคที่ปลัดกฤษศญพงษ์ ได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน “พลังบวร” การอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งการเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันหลักของชาติ ต้องทำงานร่วมกับสถาบันศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวกับข้องศิลปวัฒนธรรม

เพราะดูแล้วคนรุ่นใหม่ เด็กยุคใหม่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของชาติเท่าไร..โลกยุคใหม่ การแข่งขันเพื่อให้ได้เงินอย่างเดียวไปไม่รอด เรื่องวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าของชาติ สำคัญไม่แพ้กัน เราไม่มีเงิน แม้จะอยู่ลำบาก แต่อยู่ได้ แต่เมื่อครอบครัวหรือสังคม ขาดวัฒนธรรมของชาติ ผู้เขียนเชื่อว่าไปไม่รอด และปัจจุบันสังคมไทยกำลังจะเจอแบบนั้น..คือ คนยุคใหม่ชอบโชว์กินแฮมเบอร์เกอร์ และธาตุแท้แล้วปลาร้าส้มตำ ก็ยังอยากกินอยู่..