posttoday

จิตรกรรมอุโบสถ์กับความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส

07 มิถุนายน 2563

โดย อุทัย มณี  

*******************

ปกติทั่วไปภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ แต่ก็มีบ้างที่บันทึกเหตุการณ์แปลก ๆ บันทึกพฤติกรรมของมนุษย์ตามจินตนาการของศิลปินนักวาดภาพ บางยุคบางสมัยก็บันทึกเหตุการณ์สถานการณ์บ้านเมือง บันทึกปรากฎการณ์ของผู้ที่ควรถูกจารึกไว้ให้..ลูกหลานได้รำลึกถึง

อย่างอุโบสถ์กลางน้ำของ วัดวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีหนุมานถือปืน หนีมารเห็นอวัยเพศก็มี เพราะช่วงนั้นอาจเป็นช่วงวิกฤติการณ์การเมือง “เหลือง -แดง”

จิตรกรรมอุโบสถ์กับความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส

หรืออย่างที่วัดหนองเต่า ต.อุทัยเก่า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ปรากฎมีภาพของ คุณสิตางศุ์ บัวทอง เนตไอดอล ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่มีบางจุดที่จะต้องแก้ไขเนื่องจากถูกมองว่า เป็นภาพที่ปรากฎอยู่ในรูปกลุ่มคนที่มารอเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงมาจากดาวดึงส์

ต่อด้วยปรากฎภาพหน้าคล้ายหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ช่างเขียนได้สอดแทรกเป็นอรรถรสเล็กๆ ไปในฉาก ‘ผจญมาร’ พระแม่ธรณีบีบมวยผม

ทั้งสองกรณีนี้เป็นภาพจิตรกรรมภายใต้จินตนาการของศิลปินนักวาดภาพ

ภาพคุณสิตางศุ์ เธออาจชอบ แต่สองคนหลังนี่ร้อยทั้งร้อย..คงไม่ปลื้ม ซ้ำสวมนาฬิกาไว้อีกด้วย

คติความเชื่อ..เรื่องอุโบสถ์ของคนไทยเรา คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่พากุลบุตรให้พ้นจากวัฎฎสงสาร ยุคสมัยหนึ่งเป็นตำนานเล่ากันว่า..หากพระราชา เจ้าหน้าที่รัฐ จะจับโจร จะจับคนร้าย หากคนร้ายเข้ามายังเขตอุโบสถ ซึ่งถือว่าเป็นเขตอภัยทาน..ห้ามเข้ามาจับเด็ดขาด

ผมมีข้อเขียนจากพระคุณเจ้ารูปหนึ่งเรื่องท่านจั่วหัวว่า ทำไมโบสถ์ถึงศักดิ์สิทธิ์

ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนที่ดี โบสถ์ หรือ พระอุโบสถ (ในกรณีพระอารามหลวง) มีความสำคัญที่สุด ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัย จะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมาก่อน โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” เขตวิสุงคามสีมาอุโบสถจึงนับเป็นพุทธสถานที่แสดงถึงความเป็นวัดอย่างสมบูรณ์

จิตรกรรมอุโบสถ์กับความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส

แต่ในฐานะชาวพุทธก็อยากจะให้เว้น “โบสถ์”ไว้สักที่ในการแสดงผลงานทางศิลป์ เพราะโบสถ์เป็นที่ประกอบพิธีตามพระวินัย เป็น เขตพุทธาวาส เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน เป็นการเคารพต่อสถานที่ประกอบพิธีตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เป็นการบูชาที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นการเทอดทูนเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน

จิตรกรรมฝาผนังที่ไม่ใช่ตัวเอก ไม่ได้เป็นตัวดำเนินเรื่อง เป็นภาพบุคคลสามัญแบบชาวบ้านธรรมดาๆที่แสดงท่าทางอากัปกิริยาแปลกๆ เพื่อให้เป็นที่สนใจ ในทางศิลปะ เขาเรียกว่า “ภาพกาก” ภาพเหล่านี้จะมีแอบๆอยู่ทั่วไป โดยช่างเหล่านั้นจะแทรกไว้ตามเหลี่ยมตามมุมของภาพ

“ภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น แต่โบราณนั้นถึงแม้จะมีการแฝงภาพปริศนาธรรมซ่อนไว้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังก็เป็นการแฝงข้อคิดปัญหาธรรม ที่ชวนให้คิดในทางสร้างสรรค์ และเพื่อเป็นกุศโลบาย หรือเรียกในหนึ่งว่า อุบายอันแยบคาย เพื่อให้เกิดเป็นกุศล การแฝงภาพลักษณะนี้หากขาดความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา อย่างลึกซึ้ง ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้เขียนเอง เรียกว่าประจานตัวเอง หากเขียนด้วยความเข้าใจที่หลักของคำสอนของพระพุทธศาสนาย่อมก่อให้เกิดปัญญา ถึงเป็นการแทรกภาพที่เป็นงานชั้นสูง ซึ่งช่างไทยจะเรียกว่างานชั้นครู ควรค่าแก่การเรียนรู้ และสืบสานเพื่อความเจริญงอกงาม ในสกุลช่างแห่งสยามชนสืบต่อไป”

การจะสร้างงานศิลป์อะไรก็ตาม ถ้ารักษาวัฒนธรรม ประเพณี ให้คงอยู่ยั่งยืนคู่กับพระศาสนา ย่อมเป็นการจรรโลงความดีอันทำให้เกิดความงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้พระศาสนายืนยาวไปอีก

จากข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์หลาย  ๆ ฉบับ “หน้าที่” ที่จะต้องช่วยสอดส่องดูแลนั้นหนึ่งนั้นคือ “เจ้าวัด”

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗  บัญญัติหน้าที่ของเจ้าอาวาสหนึ่งในนั้นคือ การบำรุงรักษา คำว่า “บำรุงรักษา” นั้นก็หมายถึง การระวังรักษาเพื่อให้คงอยู่ รักษาให้อยู่ในสภาพดี “ทำให้งอกงาม ทำให้เจริญ” ดังนั้นการบำรุงรักษานอกจากดูแลรักษาวัดและสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัดไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ โรงครัว ห้องน้ำ เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดีแล้ว ยังจะต้องพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย

จิตรกรรมอุโบสถ์กับความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส

พวกเราเองซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน ควรทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดี การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักธรรม และปฏิบัติตนตามคำสอนเท่านั้น แต่ต้องช่วยกัน เผยแผ่ความงามของพระพุทธศาสนา และปกป้องพระศาสนา

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทำได้หลายทาง ถ้าเป็นศิลปิน สิ่งที่ต้องคำนึงคือความงามของศิลปะที่จะต้องสร้างให้ลูกหลานได้จดจำ ขออย่าให้ลูกหลานต้องจำจดกับความงามของศิลปะที่มีรอยด่างเลย ก็เท่ากับเป็นการเผยแผ่คุณความดีของพระพุทธศาสนา ให้แผ่กระจายออกไปได้ทางหนึ่ง

ปกป้องพระศาสนา ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคง ซึ่งสามารถทำได้โดยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจ ปฏิบัติตามคำสอนอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาให้รู้แก่นแท้ของศาสนาอยู่ตรงไหน

ในฐานะชาวพุทธก็อยากจะให้เว้น “โบสถ์”ไว้สักที่ ในการแสดงผลงานทางศิลป์ เพราะโบสถ์เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกได้ทำสังฆกรรมตามพระวินัย เพื่อเป็นการเทิดทูนพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระราชทานให้เป็นเขตแดน เพื่อเป็นการบูชาที่ประทับของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการเคารพต่อสถานที่ทำสังฆกรรมตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้...

พระคุณเจ้าท่านขอบิณฑบาตไว้แบบนี้ ส่วนชาวพุทธหรือคนทั่วไปจะมองอย่างไรก็แล้วแต่จะคิด..แต่ที่แน่ ๆ  เจ้าอาวาสปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้