posttoday

สิงห์ตะปบเหยื่องาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

24 พฤษภาคม 2563

อาจารย์ชวินทร์  [email protected]

*******************************

วันนี้ได้เครื่องรางมาหนึ่งชิ้นเป็นสิงห์งาแกะ 2 ขวัญ สิงห์ตัวนี้ใหญ่ทีเดียวแถมสวยสง่า เป็นสิงห์ตะปบเหยื่อทรงเครื่อง ที่จัดว่าดูง่ายมากครับ เนื้องาเก่า ฉ่ำ ในร่องที่แกะ ที่เซาะแห้งสนิท มาชมสิงห์ตะปบเหยื่องาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ กันครับ

ขนาดของสิงห์ตะปบเหยื่อชิ้นนี้ ถือว่ามีขนาดใหญ่เชียวครับ วัดขนาดได้กว้าง 4 เซนติเมตรและสูงเกือบ 4 เซนติเมตรเช่นกัน

จุดพิจารณาของสิงห์ที่แกะจากงาช้างหลวงพ่อเดิมนั้น นอกจากจดจำรูปแบบศิลป์ให้ได้แล้ว ด้วยความเก่าของงาช้าง การเจาะปากด้วยเครื่องมือทำอย่างละเอียด ด้านในมีเพดานปากแกะเป็นร่องรอยธรรมชาติเหมือนเพดานปากจริง เป็นริ้วรอยที่ระเบียบสวยงาม เซาะลิ้นมีความโค้งเข้ากับรูปปาก ซี่ฟันเป็นระเบียบเรียงกันได้

สิงห์ตะปบเหยื่องาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

การแกะเส้นสายลายกนกมีความลึก ชัด บ่งบอกถึงฝีมือของช่างที่แกะซึ่งชำนาญ รอยคมต่างๆจะลบความคมจากการสัมผัส ผิวงาเก่าฉ่ำจัด และจุดอื่นที่ต้องพิจารณาต่อคือ

-เนื้องาแห้งเก่า จุดที่โดนสัมผัสเป็นมันเหลืองฉ่ำ

-ดวงตาเหมือนลูกเต๋า

-ร่องรอยการแตกลายงา

-ร่องรอยการแกะลายก้อนหอย หรือ “ขวัญ” ดูคล้าย ” เลข ๑ “ ลายเส้นที่แกะลึกชัดเจน

-ในร่องเส้นมีความเก่าเป็นธรรมชาติ

-ด้านหลังคอมีแผงขนแกะสวยงามเห็นความเก่า

-แผงขนที่คอจะลบคม และการแทงลายขนจะได้สัดส่วน

-ปลายหางแกะลายกนก

-ปลายหางเจาะรูด้วยสว่านมือ

ผิวที่แห้งและแตกระแหงของสิงห์ตะปบเหยื่องาแกะชิ้นนี้บ่งบอกถึงความเก่าได้อายุอย่างแท้จริง

ในวงการเครื่องราง ของขลังชื่อชั้นเครื่องรางของหลวงพ่อเดิม ก็ไม่เป็นรองใคร เครื่องรางที่โดดเด่น นอกจากมีดหมอแล้ว ก็ยังมี สิงห์งาแกะ,เสืองาแกะของท่าน

เมื่อพูดถึงตำนานของสิงห์งาแกะของหลวงพ่อเดิมที่มีการบันทึกและเล่าต่อกันมานั้น ถึงที่มาของการสร้างสิงห์งาแกะเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์เพื่อป้องกันตัวและภัยจากเขี้ยวงาต่างๆ โดยกล่าวกันว่า หลวงพ่อเดิมท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ขณะท่านนั่งสมาธิได้เห็นสิงห์ในป่าหิมพานต์ ลำตัวมีขวัญ ดวงตาแดงเหมือนไฟ มีอำนาจมาก หลังจากนั้นหลวงพ่อจึงให้ช่างนำงาช้างมาแกะเป็นสิงห์ตามนิมิตรโดยลำตัวจะแกะเป็นขวัญคล้ายเลขหนึ่งไทยและในตาจะทาด้วยชาด และแจกจ่ายกับลูกศิษย์

การแกะสิงห์ในยุคแรกของหลวงพ่อเดิมนั้น ท่านให้แกะจากเศษงาที่เหลือจากการทำด้ามมีด ด้วยหลวงพ่อท่านเสียดายงาที่เหลือ จึงได้สั่งให้ช่างแกะสิงห์ในรูปแบบต่าง ๆ ตามแบบนิมิตของท่าน

เครื่องมือในสมัยนั้นก็มีสิ่วรูปตัววี และเหล็กเซาะ ขุด แกะ สว่านมือเจาะ การแกะก็แกะทีละตัว ดังนั้นบนงาจะปรากฏร่องรอยชัดเจนตามกำลังการแกะและความชำนาญของช่าง ไม่มีรอยแกะเซาะด้วยเครื่องมือสมัยใหม่

ดังนั้นรอยแกะ ลายเส้นจะเป็นร่องที่เกิดจากการใช้ของมีคมมาแซะ เป็นรอยที่ลึกไม่สม่ำเสมอ ในร่องที่แกะต้องไม่ใช่รอยสด ยกเว้นในซอกลึกๆที่ไม่ค่อยโดนสัมผัส จะมองเห็นความเก่าของเส้นสายที่เกิดจากการแกะบ้าง และบริเวณไหนที่ผ่านการสัมผัสบ่อย รอยคมก็จะมนหมด และสีของงาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองฉ่ำหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม

นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวทางที่แนะนำต่อกันมาในการพิจารณาสิงห์หลวงพ่อเดิม คือถ้าสิงห์ที่ตาทาด้วยชาด และชาดยังอยู่ ชาดจะต้องมีความเก่าถึงยุค แบบชาดที่ทาพระบูชารัตนโกสินทร์ หรือชาดที่ทาพระเครื่องหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เพราะชาดที่เก่าต้องแห้งตามอายุนั่นเอง

สิงห์งาแกะของหลวงพ่อเดิม นอกจาก"สิงห์ตะปบเหยื่อ"ที่แกะพิมพ์ยกเท้าหน้าขึ้นมาแล้ว ยังมีสิงห์ตะปบเหยื่อกรอบกระจก ,สิงห์งาแกะที่แกะยืนอยู่บนฐานแบบธรรมดา และสิงห์ที่แกะอยู่ในรูปหัวใจ หรือแกะอยู่ในรูปกรอบสี่เหลี่ยม เป็นต้น

จากหนังสือ "กิตติคุณหลวงพ่อเดิม พระครูนิวาสธรรมขันธ์ วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์" ซึ่งเรียบเรียงโดย ท่านธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงอุปนิสัยของหลวงพ่อเดิมสรุปได้ว่า ท่านชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะโดยเฉพาะช้างและม้า เพื่ออาศัยในการบรรทุกหรือลากเข็นสัมภาระต่างๆ ในช่วงที่ท่านชราภาพท่านก็ได้อาศัยขี่หลังช้างอีกด้วย

เมื่อช้างตายลงหลวงพ่อเดิมก็จะเก็บงาช้างเอาไว้ บางทีลูกศิษย์ลูกหาก็หามาฝาก หรือบางทีก็มีผู้นำมาขายท่านก็จะเก็บรักษาไว้ จะนำมาแกะเป็นรูปองค์พระบ้าง นางกวักบ้าง หรือเครื่องรางของขลังต่างๆ อาจเนื่องจาก "งาช้าง" นอกจากจะมีคุณวิเศษเฉพาะตัวแล้ว ยังสามารถใช้ทดสอบพิษในอาหารได้ด้วย จึงมักนิยมนำมาแกะเป็นองค์พระ และเครื่องรางของขลังต่างๆ

หลวงพ่อเดิมท่านได้มอบคาถาบทหนึ่งให้ศิษย์ไว้เพื่อใช้บริกรรมในชีวิตประจำวันเสริมการค้าขาย มีนะเมตตา ผู้คนรักใคร่ เจ้านายเอ็นดู  ซึ่งมีบันทึกไว้คือ "นะ เมตตา โม กรุณา พุท ปรานี ธา ยินดี ยะ เอ็นดู มะ คือตัวกู อะ คือคนทั้งหลาย อุ เมตตาแก่กูสวาหะ นะ โม พุทธายะ"

สิงห์ตะปบเหยื่องาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

นอกจากนี้หลวงพ่อโอดวัดจันเสน ตาคลี ได้กล่าวถึงพระคาถาเรียกลาภกันภัยที่ท่านหลวงพ่อเดิมใช้ภาวนาตลอด โดยหลวงพ่อเดิมท่านถ่ายทอดให้กับหลวงพ่อโอดไว้ใช้ เพื่อการทำงานจะได้สำเร็จราบรื่นด้วยดี นั่นคือ

“ เมตตังจิตตัง มาตา ยะถานิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะมนุษย์ รักขะ เอนิปุตตะเน นะมัสสามิ ยักขิณีระนังขะนา นะชาลีติ นะเมตตา สัทธาโหตุ สัพเพชนา พะหูชนา สัพเพทิสา สะมาคะตา พระพุทโธ จงนำเงินมาสู่ตัวข้าพเจ้า พระธัมโม จงนำทอง มาสู่ตัวข้าพเจ้า พระสังโฆ จงนำของทั้งหลาย มาสู่ตัวข้าพเจ้า เอหิ เอหิ มะมะ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง “

ได้มีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อเดิมได้ตอบคำถามของศิษย์ที่ถามท่านถึงข้อห้ามในการใช้เครื่องรางของขลังติดตัวว่ามีประการใดบ้าง ท่านตอบว่า  พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านมีฤทธิ์เหมือนงูเห่า ที่เลื้อยผ่าน กองอุจจาระ ปัสสาวะ เพราะมันไม่รู้ว่าคือสถานที่ใด แต่พิษมันก็คงมีอยู่และกัดคนตาย พระเครื่องก็เป็นเช่นเดียวกัน หากปราศจากเจตนาแล้ว เพชรยังไง ก็ยังเป็นเพชร อยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเรื่องปาฎิหารย์ครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อเดิม เมื่อท่านเริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 อาการทรุดลงเป็นลำดับมา จนถึงวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2494 อาการก็เพียบหนักขึ้น บรรดาลูกหลานและลูกศิษย์ต่างพากันมาเฝ้าดูอาการด้วยความเศร้าโศก เล่ากันว่า

ครั้นตกบ่ายในวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามอยู่ว่าเวลาเท่าใดแล้ว ศิษย์ผู้พยาบาลก็กราบเรียนตอบไปตลอดจนถึงราว 17.00 น หลวงพ่อจึงถามว่า ‘น้ำในสระมีพอกินกันหรือ’ (เพราะบ้านหนองโพมักกันดารน้ำดังกล่าวประจำ)

ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ก็เรียนตอบว่า ‘ถ้าฝนไม่ตกภายใน 6-7 วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงกับขาดแคลนน้ำ’ หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ถามว่ากระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้นกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ด หลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา 17.45 น

หลวงพ่อเดิมชาตะ เมื่อวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีวอก ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2403 หลวงพ่อมรณภาพเมื่อวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 เวลา 17.45 น. สิริรวมอายุได้ 92 ปี พรรษาที่ 71