posttoday

วิพากษ์ “สันติศึกษา มจร”

15 มีนาคม 2563

โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่าน พระปราโมทย์ วาทโกวิโท อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เชิญให้ไปร่วมรับฟัง “การวิพากษ์หลักสูตรพุทศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” หลักสูตรนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า ตลอดระยะเวลา 5 ปี หลักสูตรนี้ผลิตบัณฑิตที่ได้ชื่อว่า “วิศวกรสันติภาพ” มาแล้วประมาณ 100 รูป/คน

ฟังคำบรรยายของ พระสุวรรณเมธาภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาจุฬา ฯ ไม่น่าเชื่อว่า พระคุณเจ้าจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองโลกนี้เป็นอย่างดี ท่านบอกว่า การศึกษาคือ การพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงหมุนเร็ว ทำให้จิตใจมนุษย์อ่อนแอ ไหลไปตามกระแสทุนนิยม บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในฐานะ สถาบันการศึกษาที่พัฒนามนุษย์จำต้องสร้างเกราะป้องกัน ตอนนี้ที่เห็นชัดที่มหาจุฬาฯ กำลังสร้างหลักสูตรที่เป็นเกราะมีอย่างน้อย 3 หลักสูตรเด่น คือ สาขาสันติศึกษา สาขาชีวิตและความตาย และสาขาวิปัสสนา หลักสูตรเหล่านี้เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาของสังคมโลกในปัจจุบัน เป็นหลักสูตรมีจุดมุ่งหมาย “เพื่อพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ”

วิพากษ์ “สันติศึกษา มจร”

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการท่านยัง กล่าวต่อไปอีกว่า “หลักสูตรสันติศึกษาเดิม มีความชัดเจนดีแล้ว แต่ต้องปรับปรุงพัฒนาเพราะเราต้องการมาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมกับยุคสมัยมาก เป็นหลักสูตรที่เป็นเกราะคุ้มกันมนุษย์เป็นอย่างดี หลักสูตรสันติศึกษา เพราะโลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เราจึงต้องปรับปรุงปรับตัวให้เหมาะสมโดยเฉพาะในเรื่องของจิตใจ หลักสูตรสันติศึกษาต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง หลักสูตรสันติศึกษาต้องไม่วัดกันที่เกรดคนเก่ง แต่เราต้องวัดกันในการเป็นมนุษย์ มหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องออกแบบออกเครื่องมือในการพัฒนา งานวิจัยของสันติศึกษาถือว่าตอบโจทย์พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้น เราต้องพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาให้จิตวิญญาณพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง สันติศึกษาจะผลิตเครื่องมืออะไรให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นจริงจังในสังคม..”

ส่วนพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงศึกษาสันติศึกษาเท่านั้น เกิดขึ้นครั้งแรกใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราได้ช่วยได้สานต่องานของพระพุทธเจ้า โดยความร่วมมือของศาลพระปกเกล้าและศาลยุติธรรม จึงขอขอบคุณทุกท่าน ปัจจุบันระดับปริญญาเอกจบการศึกษา 75 รูป/คน ทำไมต้องปรับปรุงเพราะเป็นนโยบายของกระทรวงใหม่และ สกอ. ว่า ในรอบ 5 ปี เราจะพัฒนาหลักสูตร โดย พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาจุฬา ฯ กล่าวว่า ผู้จบการศึกษาสันติศึกษาจะต้องเป็น “วิศวกรสันติภาพ” จะต้องตอบโจทย์ตนเองและสังคม เราจึงต้องพัฒนาด้านสันติภายในและสันติภายนอก เราพยายามมุ่งสันติภายใน คือ สติ ขันติ สันติ เมื่อมีความเข้มแข็งภายในก็ออกไปช่วยเหลือสังคมด้านการไกล่เกลี่ยในชุมชน คำถาม “ อีก 5  ปีข้างหน้าผลผลิตของวิศวกรสันติภาพควรจะเป็นอย่างไร อยากให้วิศวกรสันติภาพได้เครื่องมืออะไร หน้าตาของวิศวกรสันติภาพควรจะมีหน้าตาอย่างไร..”

พระเมธาวินัยวิรส บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องของคอนโดเป็นการอยู่ร่วมของผู้คนในสังคมอย่างสันติ แม้แต่เรื่องของฮ้วงจุ้ยโหราศาสตร์แต่มีพระพุทธศาสนาเป็นฐาน คำตอบเป็นการให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันในมิติของศาสตร์ต่างๆ โดยชื่นชมงานวิจัยสันติศึกษาว่าสามารถตอบโจทย์โดยพัฒนาผู้ต้องขังให้มีชีวิตใหม่ งานวิจัยสันติศึกษากลับตอบโจทย์สังคมมากในฐานะผู้มาตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ การเรียนการสอนต้องเน้นเรื่องสันติ เริ่มต้นจากความคิดของผู้เรียน การทำวิจัยของสันติศึกษาจะต้องลงพื้นที่จริงมีการปฏิบัติอย่างแท้จริง การเรียนการสอนต้องสำนึกให้เกิดสันติให้ได้ สามารถนำผลของงานวิจัยสามารถตอบโจทย์สังคม เกิดสันตินวัตกรรม เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

ด้าน อาจารย์วิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและอดีตองคมนตรี กล่าวว่า “.. ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเรื่องไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง บ้านเมืองเราที่เป็นแบบนี้เพราะว่ามาจากนักกฎหมาย นักกฎหมายต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายชาติ เราจะใช้พุทธสันติวิธีอย่างไรในการพัฒนาบ้านเมืองของเรา เพื่อให้เกิดความปรองดอง ถามว่าเราต้องการอะไร ทำอย่างไรให้สันติศึกษานำไปปฏิบัติจริงๆ ในชีวิตและสังคม 5 ปีที่ผ่านมาเราเรียนเรื่องทฤษฏีมามากมาย เราจะนำสิ่งที่เรียนเอาไปปฏิบัติต่อสังคมได้อย่างไร สมัยรับตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรมใหม่ๆ นักข่าวถามว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้เกิดความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อ้างเสมอว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงใช้ความยุติธรรมสยบความรุนแรง ทำมีการทำโครงการ เยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นธรรม โดยพัฒนาเยาวชน 100 คน สถาบันที่ให้ความเป็นธรรมคือ ศาลยุติธรรม โดยเน้นการไกล่เกลี่ย หาทางออกร่วมกันอย่างสันติ เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้มิติอื่น เห็นบรรยากาศประเทศไทยเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเยาวชน มีการให้เด็กไปเป็นพนักงานต้อนรับประจำศาล เพื่อเป็นทุนการศึกษาของเด็กเยาวชน สันติวิธีจะเป็นเครื่องมือให้เยาวชน สันติศึกษาจะต้องนำสันติวิธีเข้าไปสู่เยาวชน 5 ปีข้างหน้าอยากเห็นวิศวกรสันติภาพนำไปใช้เครื่องมือไปใช้เครื่องมือไปในสังคมจริงๆ...”

วิพากษ์ “สันติศึกษา มจร”

ส่วน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักสันติวิธีและนักไกล่เกลี่ย กล่าวว่า....รูปแบบการศึกษาจะต้องมีการปฏิบัติจริงเท่านั้น จึงมองว่าการทำวิจัยจะต้องเป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการสามารถตอบโจทย์สังคม เป็นภาคปฏิบัติมากว่าทฤษฏี สันติศึกษาต้องสอนเรื่องการไกล่เกลี่ยฝึกปฏิบัติ ด้วย 3 มิติ “แก้ไข ปกป้อง เยียวยาสร้างความปรองดอง” ข่าวสารในปัจจุบัน สร้างการมีส่วนร่วม สอนให้วิเคราะห์ว่า สาเหตุแห่งปัญหาเป็นอย่างไร มีการสานเสวนา กระบวนการ FA หลักสูตร FA นิสิตจะต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ มีเครื่องมือการขอโทษการปรองดอง บทบาทการเป็นคนกลาง เมืองไทยขาดการให้อภัยและการขอโทษ เราต้องการให้อภัยและการขอโทษ อาจารย์จะต้องสอนแบบมีส่วนร่วมเท่านั้น ดึงความรู้จากผู้เรียนออกมาให้ได้ ปัจจุบันเราหมดเวลาในการสอนแบบบรรยายแล้ว หลักสูตรต้องสร้างนวัตกรรมในการสอน ปัจจุบันเราควรรับสมัครแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราจะทราบฐานข้อมูลผู้เรียน ปัจจุบันมีการประเมินแบบออนไลน์ตามแบบ KPI พยามยามจะทำให้เป็นดิจิทัล ผู้เรียนมีการศึกษาดูงานแล้วนำมาแบ่งปันนำเสนอเพื่อการเรียนรู้ สถาบันปกเกล้าจึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีการลงนามร่วมมือกับ Google จะไม่ใช้กระดาษแต่จะเป็นดิจิทัล ความการเรียนรู้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยผู้เรียนจะต้องรู้ 3 รู้ คือ “รู้โลก รู้รอบ รู้ตนเอง” หรือมิติสงฆ์ควรมีโรงเรียนเจ้าอาวาส ผู้เรียนควรเรียนรู้วิชาดิสรัป โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกแห่งดิจิทัล การมองโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญจะต้องมี วิชา กระบวนการปรองดอง คือ ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

รวมทั้ง ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เปิดมุมมองเกี่ยวกับหลักสูตรสันติวิธีว่า สิ่งที่อยากเห็นสันติศึกษาใน 5 ปี ข้างหน้า มองว่า ผู้เรียนต้องเรียนรู้เทรนของโลก เทรนของความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน เรียนรู้ด้าน SDG ของสหประชาชาติ ผู้เรียนต้องยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาเป็นหลัก จะทำเรื่องฮ้องจุ้ยหรือ โหราศาสตร์ จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ ความขัดแย้งในมิติอื่นๆ งานวิจัยสันติศึกษาจะต้องลงสู่การปฏิบัติมีความลึกและความกว้าง ผู้จะเป็นวิศวกรสันติภาพจะต้องมี FA นำเครื่องมือไปใช้งาน ความขัดแย้งในสถานการณ์ผู้เรียนต้องตามทัน สันติศึกษาต้องฝึกคนไปสู่สังคม ผู้เรียนจะต้องมี 3 H คือ ด้านปัญญาด้านสันติวิธี

ด้านจิตใจมีความมุ่งมั่นสงบเย็น ด้านเครือข่ายจับมือกันช่วยการช่วยสังคมให้มากๆ งานวิจัยจะต้องนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้มาก อยากให้มีการทดลองรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัย  มีการเรียนงานวิจัยต่างประเทศด้วย มีการปฏิบัติมากกว่าทฤษฏี วิศวกรสันติภาพจะต้องนำคนอื่นไปสู่จุดหมายคือ สันติภาพ ต้องให้ความสำคัญกับสตรีในการสร้างสันติภาพ  ย้ำว่า สันติภาพจะไม่เกิดถ้าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์..

วิพากษ์ “สันติศึกษา มจร”

คุณประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ..หลักสูตรสันติศึกษามีคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทย ความขัดแย้งในสังคมไทยมีความขัดแย้งในสังคมแบบฝังรากลึก เราขาดคนกลางบุคคลที่เป็นนักสันติอย่างจริงจริง ด้วยการนำเครื่องมือต่างๆ นำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม สันติศึกษาถูกคาดหวังสูงมากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม เป็นหลักของประเทศชาติ อดีตคนไทยมีจิตใจที่งดงาม เมื่อเรามีปัญหาเราพูดคุยกัน แต่ปัจจุบันเราคุยกันยาก เครื่องมือในการให้อภัย ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ให้คนในสังคมไทยขอโทษ โดยมองประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ มีการขอโทษ มีการให้อภัย รวมถึงการเยียวยา เราต้องปรับหลักสูตรว่า ผู้เรียนจะนำไปใช้ได้อย่างไร วิศวกรสันติภาพจะร่วมสร้างสรรค์สังคมสันติสุข เราต้องฝึกการเจรจาการไกล่เกลี่ย เราต้องเป็นนักส่งออกนักวิศวกรสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เรามีกฎหมายประวัติศาสตร์ด้านสมานฉันท์ทางเลือกคือ พ.ร.บ.ด้านไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2562 มีการลงโทษผู้ไกล่เกลี่ยแสดงถึงความสำคัญว่าไกล่เกลี่ย ผู้เรียนต้องมีการฝึกการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง ต้องปรับการเรียนให้มีส่วนร่วมลงปฏิบัติ งานวิจัยแบบมีส่วนร่วมมีการลงไปทำเอง มิใช่วิจัยแต่ทฤษฏีเท่านั้น ถ้าคิดถึงการแก้ไขความขัดแย้ง ป้องกันความขัดแย้ง สร้างสันติภาพ ต้องนึกถึงสันติศึกษามหาจุฬา ซึ่งมีการเพิ่มเติมว่า ผู้เรียนต้องเข้าใจหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง เช่น พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 พัฒนาจากภายใน หลักสูตรสันติศึกษาจะต้องพัฒนาระดับประเทศไทย รวมถึงพัฒนาคนตามแนวทางหลักของพระพุทธศาสนา และการไปฝึกในชุมชนของผู้เรียน..

นอกจากนี้ ในวงวิพากษ์ได้มีผู้ร่วมวิพากษ์อีกหลายท่าน เช่น อาจารย์อดุลย์ ขันทอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง พระสุธีรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร รศ.ดร.โกนิษฏ์ ศรีทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร รศ.ดร.อำนาจ บัวศิริ เป็นต้น

การวิพากษ์หลักสูตรสันติศึกษาครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งที่ 3 แล้วซึ่งเท่าที่ฟังน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ก่อนที่จะเข้าไปสู่ขบวนการคณะกรรมการร่างหลักสูตร ก่อนหน้านี้มีการ สอบถามเพื่อเสนอแนะและปรับปรุงหลักสูตรจาก Google Form มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย เช่น หลักสูตรที่ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิถ่ายทอดหลักสูตรภาวะผู้นำได้ดีเยี่ยม จุดด้อย เช่น ระบบการทำงานกระจุกตัวขาดความเป็นสากล เนื้อหาวิชาสอนยังไม่เข้มข้น ในบางวิชาไม่ได้เน้นการไปใช้ เน้นแค่มารับฟัง หรือ แม้กระทั้งว่า หลักสูตรไม่สามารถสร้างมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตออกมารับใช้พระพุทธศาสนาและสังคมตามที่คาดหวังได้ เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวล คำวิพากษ์ เสียงสะท้อน ล้วนเป็นสิ่งที่สวยงาม ต่อจากนี้ไปหลักสูตรใหม่ที่ผ่านการวิพากษ์วิจาณ์ ฟังเสียงสะท้อนจากศิษย์เก่า ๆ มาแล้ว คาดว่า น่าจะเป็นสาขาเรียนสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ตอบโจทย์สร้างมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ตามความคาดหวังของผู้บริหาร

วิพากษ์ “สันติศึกษา มจร”