posttoday

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

08 มีนาคม 2563

โดย สมาน สุดโต

กรมศิลปากร บูรณะ ปรับปรุงโบราณสถานวัดผาลาด วัดโบราณ ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นจากพื้นราบสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ให้คงสภาพสมบูรณ์ งดงาม ตามเอกลักษณ์ของศิลปะพม่า จึงเป็นวัด หรือสถานที่สวยงามตั้งอยู่ในเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ที่ควรแก่การเยี่ยมชม เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศที่เงียบสงบ เพราะร่มรื่น และทิวทัศน์ที่สวยงามสมกับเป็นวัดอุทยานในเมืองเชียงใหม่

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร ตามรอยอารยะธรรมล้านนา เพื่อนำชม แหล่งโลหะกรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรมล้านนาโบราณ ที่ได้รับการอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2563 ได้พาชมวัดผาลาด ตั้งอยู่ที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่เต็มไปด้วยศิลปะกรรม สถาปัตยกรรมแบบพม่า ที่สร้างขึ้นมาบนพื้นที่ลาดชันแห่งนี้เมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

ชื่อวัดผาลาดปรากฏในสมัยพระเจ้ากือนา เมื่อพระองค์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุมณเถระนำมาจากสุโขทัย โดยประทับบนหลังช้าง เพื่อนำไปประดิษฐาน ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระองค์แวะวัดผาลาดเพื่อทรงพัก ก่อนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ เพราะเส้นทางลาดชันมาก แต่เป็นเส้นทางแสวงบุญเสมอมา

เป็นการก่อสร้างเพื่อพักระหว่างเดินทางสมัยโบราณที่วัดผาลาด ได้รับอิทธิพลพม่าอย่างชัดเจนได้แก่ หอพระ เจดีย์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนบูชา และพักอย่างน้อยเมื่อ 500 มาแล้ว สถานโบราณนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ตลอดมา

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมศิลป์พาชมจุดที่สนใจนั้น จะเห็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เดินชมสถานที่่ต่างๆด้วยความสนใจ เช่น เจดีน์แบบพม่า ที่อยูในสภาพสมบูรณ์ทั้งลวดลาย ศิลปกรรมบัวคว่ำบัวหงาย รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ เช่น สิงห์ที่มุมทั้งสี่ ส่วนยอดเอียงนิดหน่อย

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

สีของเจดีย์มองไม่ชัดเพราะปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำ แม้จะแห้งเพราะความร้อนจากอากาศก็ตาม แต่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะฤดูฝน หอพระที่เห็นเป็นอาคารแบบยุโรปที่สร้างใหม่ แต่ไม่ทิ้งแบบดั้งเดิม ซึ่งมีรูปถ่ายโบราณยืนยัน อาคารเดิมมีผนังก่ออิฐถือปูน มีช่องโค้งประดับด้านหน้าอย่างสวยงาม มีภาพปูนปั้นประดับ เช่น ราชสีห์ กษัตริย์ทรงธนู หรือ แผลงศร เมื่อบูรณะใหม่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ภายในหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะพม่า 10 องค์ เพื่อให้ผู้เดินทางกราบบูชาระหว่างพัก การที่หอพระเป็นทรงยุโรปกลางป่าเมืองเชียงใหม่ สืบเนื่องจากอิทธิพลอังกฤษที่มีต่อพม่านั่นเอง เนื่องจากวัดผาลาด เป็นจุดชมวิวของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จึงมีข้อความเตือนสตินักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ ติดตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนเคารพสถานที่

ความที่เป็นเส้นทางไปสู่ดินแดนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ คือดอยสุเทพ นักปราชญ์ชาวพุทธ จึงกำหนดเส้นทาง 12 กิโลเมตรว่า เหมือนขั้นตอนบรรลุธรรม จากชั้นล่างสู่ชั้นสูงสุด ชั้นล่างจากฝายหิน คือชั้นโสดาปัตติมรรค ชั้นกลางคือวัดผาลาด เทียบกับชั้นสกิทาคามิมรรค ชั้นสุดท้าย ที่สูงสุดคือพระธาตุดอยสุเทพ เทียบกับ อรหัตมรรค

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

พระครูธีรสุตพจน์ (พระมหาสง่า ไชยวงศ์ ดร.) เจ้าอาวาสวัดผาลาด เล่าเรื่องการทำงานกับกรมศิลปากรว่า ทางวัดให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะเข้าใจระเบียบ กฎเกณฑ์ของกรมศิลป์ และวิธีการจัดงบประมาณในการบูรณะ แต่ก่อนเคยอึดอัดกับการทำงานของกรมศิลป์ แต่เมื่อศึกษาแล้วก็เข้าใจ ขณะนี้จึงทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะกรมศิลป์ทำงานแบบมืออาชีพ มีแผนงานที่แน่นอน มีอะไรพูดคุยได้เสมอ โดยเฉพาะกับผู้รับผิดชอบคือ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

พระครูธีรสุตพจน์ เจ้าอาวาส สรุปการทำงานกับข้าราชการกรมศิลป์ว่า มีทั้งคุณค่าและมูลค่า วัดผาลาด จึงงามสง่าเป็นวัดในอุทยานแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ จนถึงบัดนี้

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม

"วัดผาลาด"รมณียสถานแห่งการบำเพ็ญธรรม