posttoday

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

01 มีนาคม 2563

โดย..อุทัย มณี  (เปรียญ)

วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศเป็นวัดหนึ่งใน 40,000 กว่าวัดที่กระจายอยู่ทั่วในประเทศไทย เป็นวัดเกิดใหม่ และเป็นวัดที่แปลกกว่าวัดทั่วไป เพราะผู้ริเริ่มการขอก่อตั้งวัดไม่ใช่ฆราวาส  ซึ่งตามปกติทั่วไปการขอก่อตั้งวัดที่นิยมทำกันคือฆราวาสเป็นผู้ยื่นขอ และที่แปลกยิ่งว่าคือ การก่อสร้างวัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยบนพื้นที่ 53 ไร่ ปัจจุบันหรืออนาคตวัดมหาจุฬา ฯ จึงมิใช่ที่ธรณีสงฆ์

เมื่อต้นปีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประกาศให้สถานะเป็นวัด วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ จึงกลายเป็นนิติบุคคลเหมือนกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  การบริหารจัดการในอนาคตระหว่างวัดมหาจุฬาฯและมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ จะมีการแบ่งสัดส่วนหรือบริหารจัดการอย่างไร เจ้าอาวาสจะขึ้นกับคณะสงฆ์หรือมหาวิทยาลัย แล้วอนาคตผู้ที่ทำหน้าที่เจ้าอาวาส ได้วางแผนพัฒนาวัดอย่างไรบ้าง

ด้วยความสงสัยประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้เขียนจึงขอนัดพบเพื่อให้ทราบความกระจ่าง พระเทพปวรเมธี ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

****************

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ถาม วัดจุฬาลงกรณราชูทิศมีความเป็นมาอย่างไร เพราะอยู่ดี ๆ ก็มีชื่อปรากฏในทำเทียบวัด

การสร้างวัดมหาจุฬา ฯ เป็นนโยบายของ พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ,รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง  ตั้งแต่ครั้งที่จะสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่วังน้อย บนที่ดิน 84 ไร่เศษ ซึ่งได้รับบริจาคจาก นายแพทย์รัสมี - คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร

วัตถุประสงค์ก็เพื่อไว้เป็นที่ทำสังฆกรรม เป็นที่ทำวัตร-สวดมนต์ ของผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งนิสิตทั้งไทยและต่างประเทศ และอีกประการหนึ่งการสร้างวัดให้อยู่ในมหาวิทยาลัยก็เพื่อ เสริมงานการบริการด้านวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม มีการฝึกอบรม ปฏิบัติธรรม และกิจกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังจากที่พระพรหมบัณฑิตกำหนดเป็นนโยบายแล้ว ก็ได้เริ่มวางแผนดำเนินการสร้างวัด แต่เนื่องจากว่า ช่วงแรกการย้ายสำนักงานใหญ่มหาจุฬา ฯ มาที่ วังน้อย  เราจำเป็นต้องพัฒนาสำนักงานมหาวิทยาลัยให้เรียบร้อยก่อน ผู้บริหารจึงทุ่มเจไปตรงจุดนั้น

เริ่มแรกการก่อสร้างบนที่ดินที่ได้รับบริจาคมา 84 ไร่ แค่นี้คิดว่าเพียงพอแล้ว แต่พอสร้างอาคาร สำนักงานต่าง ๆ แล้ว พื้นที่ก็คับแคบลง จึงมีนโยบายที่จะซื้อที่ดินขยายเพิ่มเติม จึงซื้อเพิ่มครั้งที่หนึ่ง 125 ไร่ ครั้งที่สอง  52 ไร่ ก็ยังไม่เพียงพออีก

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

เมื่อสำนักงานงบประมาณได้มาปรึกษาหารือกับมหาจุฬา ฯ เห็นร่วมกันว่าควรจะทำให้มหาจุฬาฯ เป็น “ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลก” โดยสำนักงบประมาณยินดีที่จะสนับสนุน ร่วมทั้งการสร้าง “วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ” ซึ่งก็คือ IBSC ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย เห็นว่า หากจะทำให้ มหาจุฬา ฯ เป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลกได้ นั้น ควรจะมีพื้นที่ให้มากกว่านี้ จึงได้ตกลงกันว่ามหาจุฬาฯ จะต้องซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก จึงซื้อเพิ่มอีก 80 ไร่ ซึ่งก็คือที่ดินที่สร้างวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นมหาจุฬา ฯ มาสร้างที่วังน้อย ทำเป็นแผนแม่บท เฟสที่ 1 ในพื้นที่ 84 ไร่ เฟสที่ 2 คือ สร้างหอประชุม มวก. และสร้างหอพักในส่วนของพื้นที่ ที่ซื้อขยายเพิ่มเติม หลังจากนั้น หลวงพ่อปัญญานันทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทาน ได้มาเข้ามามีบทบาทสำคัญคือ สนับสนุนมหาวิทยาลัย ได้ไปขุดดินในพื้นที่ 16 ไร่ เพื่อมาถมอาคารสร้างสถานที่ต่าง ๆ และหลวงพ่อปัญญายังเสนอให้สร้างอุโบสถกลางน้ำ ให้แก่มหาจุฬาฯ จึงเป็นที่มาที่ไปที่หลวงพ่อปัญญาได้ระดมทุนสร้างอุโบสถกลางน้ำ

เมื่อหลวงพ่อปัญญา ท่านตัดสินใจสร้างโบสถ์กลางน้ำให้มหาจุฬา ฯ เราก็ยินดีที่จะให้เข้ามาดำเนินการ โดยท่านได้ให้ลูกศิษย์ของท่านคือ อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ มาดำเนินการออกแบบให้ ครั้งแรกที่ออกแบบมาเหมือนอุโบสถทั่ว ๆ ไป ซึ่งพระพรหมบัณฑิตอธิการบดีในขณะนั้น มีความเห็นว่าถ้า ออกแบบโบสถ์ลักษณะนี้ ไม่สามารถที่จะรองรับผู้บริหาร และนิสิตจำนวนมากได้ จึงขอให้ออกแบบเพิ่มเติม ท่านดำริว่า “ออกแบบอย่างไรก็ตาม ขอให้รองรับได้จำนวน ๆ ”อาจารย์ภิญโญบอกว่า “การสร้างหรือการออกแบบอุโบสถกลางน้ำ หากใหญ่เกินไปก็จะไม่สวยงาม ที่สวยไม่จำเป็นต้องใหญ่” แต่พระพรหมบัณฑิต ท่านบอกว่า อยากให้สวยและใหญ่ด้วย ในที่สุด อาจารย์ภิญโญ ก็ได้ออกแบบจนได้อุโบสถกลางน้ำดั่งในปัจจุบัน ด้านบนเป็นเหมือนโบสถ์ทั่วไป ด้านล่างเป็นห้องโถงใหญ่ที่จุพระสงฆ์ได้ประมาณ 4,000 คน เป็นไปตามความประสงค์ของมหาวิทยาลัย หลวงพ่อปัญญาได้ระดมทุนมาสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา วางศิลาฤกษ์โดยท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโน )

หลวงปัญญาท่านตั้งปณิธานว่า หากสร้างไม่เสร็จ ท่านก็จะไม่มรณภาพ  แต่หลังจากนั้น   2 ปี ท่านก็มรณภาพ แต่โชคดีคือ ท่านได้ระดมทุน ได้เตรียมเงินสร้างไว้เรียบร้อยแล้วท่านเจ้าอาวาสรูปต่อมา พระธรรมวิมลโมลี ก็มาสานงานต่อ เมื่อกำหนดวันจะมอบโบสถ์กลางน้ำให้มหาจุฬาฯ  ท่านก็มรณภาพเสียก่อน รักษาการรูปต่อมาจึงทำพิธีมอบถวายแทน

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

โบสถ์กลางน้ำสร้างบนเนื้อที่ 16 ไร่ ลึกประมาณ 11-12 เมตร หลังจากสร้างโบสถ์ มีคนบริจาคที่ดินเพิ่มอีก 15 ไร่ หลังจากนั้น มหาจุฬา ฯ ระดุมทุนซื้อเพิ่มอีก 80 ไร่ เรื่องสร้างวัดก็ยังกำหนดอยู่ในนโยบาย ที่เราคิดว่าจะทำคู่ขนานมาตลอด แต่อย่างที่บอกมาตั้งแต่ต้นว่า ต้องการสร้างอาคารมหาวิทยาลัยให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เรื่องวัดจึงไม่ได้ดำเนินการ 

สำหรับการสร้างวัดเราได้ให้ “อาศรมศิลป์” เป็นผู้ออกแบบ ทั้งการปรับปรุง ภูมิทัศน์ และรวมทั้งการคัดเลือกวัดมหาจุฬา ฯ ให้เป็น 1 ใน 9 วัด แรงบันดาลใจ ที่จะเป็นโมเดลในการพัฒนาวัดทั่วประเทศ

เมื่อเราคิดว่า มหาจุฬา ฯ สร้างอาคารสถานที่เพียงพอที่จะทำงานได้แล้ว  ก็จัดทำแผนแม่บทมหาวิทยาลัย และเมื่อจัดทำแผนแม่บทเสร็จก็วางแผนที่จะสร้างวัด  จึงดำเนินงานจัดทำโครงการสร้างวัด โดยขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ ในครั้งแรกขอท่านไป 40 ไร่ แต่พอขออนุมัติจริง ๆ ทางสภาท่านขอให้ทำรังวัดใหม่ กำหนดขอบเขตให้แน่นอน สุดท้ายเมื่อรังวัดเสร็จพื้นที่มันขยายไปเป็น 53 ไร่ หลังจากสภามหาวิทยาลัยอนุมัติแล้ว เราก็ทำโครงการเสนอจัดตั้งวัดเป็นไปตามกฎกระทรวงทุกอย่าง ทั้งตามกฎหมายสงฆ์ด้วย เมื่อทางบ้านเมืองเห็นชอบ คณะสงฆ์อนุมัติ ก็เสนอสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเสนอให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบในการสร้างวัด  เราเสนอไปทางสำนักงานระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว มหาเถรสมาคมท่านก็อนุมัติประมาณปลายปีที่แล้ว และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกาศจัดตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 “วัดนี้จึงเป็นวัดแรกในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยที่ผู้ร้องขอตั้งวัดเป็นพระสงฆ์ คือ พระเทพปรวรเมธี..”

หลังจากสำนักงานพุทธแจ้งตั้งวัดเรียบร้อยก็ตั้งรักษาการเจ้าอาวาส การตั้งรักษาการเจ้าอาวาส วัดราษฎร์ทั่วไปลงนามแต่งตั้งโดยเจ้าคณะตำบล ตอนนี้ แต่งตั้งอาตมา (พระเทพปวรเมธี) รักษาการแทน ไปพลางก่อน

ถาม ชื่อวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ท่านใดเป็นคนตั้ง

วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย  ซึ่งที่ประชุมเสนอกันหลายชื่อ  แต่ที่ประชุมเห็นชอบชื่อวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ โดยความหมายก็คือ อุทิศถวายให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 วัดนี้จึงเป็นพระนามของพระองค์  ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน

ถาม อนาคต วัดมหาจุฬา จะมีบทบาทอย่างไรบ้าง

วัดมหาจุฬา ฯ จะมีบทบาทสองเรื่อง คือ หนึ่ง ต้องสนองงานคณะสงฆ์ตาม 6 ภารกิจหลักของคณะสงฆ์ (ปกครอง, ศาสนศึกษา,การเผยแผ่,สาธารณูปการ,ศึกษาสงเคราะห์,สาธารณสงเคราะห์) และอีกบทบาทหนึ่ง คือการให้บริการมหาวิทยาลัย เนื่องจากวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาจุฬาฯ และขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย สร้างบนพื้นที่ 53 ไร่ สำหรับสร้างวัด ซึ่งเป็นที่ดินเป็นของมหาจุฬา ฯ มิใช่ที่ธรณีสงฆ์

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ถาม วัดที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยแบบนี้เคยมีหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ที่มีคือมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในวัด

เคยมี ที่วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ แต่นั้น ท่านสร้างวัดพร้อมกับตอนสร้างวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อวัด ภัทรประสิทธิ์ มีการแบ่งที่ดินวัดกับที่ตั้งมหาลัยสงฆ์ชัดเจน หรือตอนนี้ที่ชัยภูมิก็กำลังจะทำ หลายที่กำลังจะทำแบบส่วนกลางนี้

ถาม วัดมหาจุฬา ฯ ถือว่าเป็นวัดแรกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ หรือไม่

จะว่าแบบนั้นก็ได้ เพราะสร้างในพื้นที่ของมหาจุฬา ฯ มหาวิทยาลัยสงฆ์ นครสวรรค์ แม้จะตั้งมาก่อนแต่เขาแบ่ง พื้นที่สร้างวัดและสร้างมหาจุฬา ฯ แยกส่วน

ถาม เนื่องจากทั้งวัดมหาจุฬา ฯ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ เป็นนิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง จะมีการบริหารจัดการอย่างไร

ก็เป็นไปตามหลักการคือ วัดมหาจุฬา ฯ แม้จะเป็นนิติบุคคล มีการการบริหารแยกส่วนกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ แต่ถึงแม้จะมีการบริหารแยกส่วน ก็มีการทำงานร่วมกัน สนองงานคณะสงฆ์ด้วย และสนองมหาวิทยาลัยด้วย คือ การบริการสังคม การปฎิบัติธรรม พูดง่าย ๆ คือ ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ หากต้องการมาใช้ที่ของวัดมหาจุฬา ๆ เมื่อไร ก็ใช้ได้ทุกเมื่อ

ถาม หมายความว่าเจ้าอาวาส ต้องอยู่ภายใต้ปกครองคณะสงฆ์แล้ว ต้องอยู่ภายใต้การบริหารของสภามหาวิทยาลัยด้วย ใช่หรือไมj

ก็ต้องคู่ขนานกัน ไม่อย่างนั้น วันหนึ่งจะคุมกันไม่ได้ อนาคตสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ ก็อาจเลือกภิกษุรูปใดก็ได้ ที่มีคุณสมบัติ ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาส เพื่อว่าจะได้สมส่วน

“คือที่อาตมาต้องรับเป็นรักษาการเจ้าอาวาส เพราะอาตมาทำมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สร้างโบสถ์กลางน้ำ มีการประสานกับวัดชลประทาน วางแผนกับอาศรมศิลป์ หรือแม้กระทั้งหาเจ้าภาพมาสร้างศาลา กุฎิสงฆ์ อาตมาก็ทำมาตั้งแต่ต้น  อาตมาจึงจำต้องทำหน้าที่ดูแลไปพลาง ๆก่อน..”

ถาม ในฐานะรักษาการแทนเจ้าอาวาส วางแผนจะพัฒนาวัดมหาจุฬา ฯ อย่างไรต่อ

แผนแรกก็คือ จะสร้างวัดมหาจุฬา ฯ ให้เป็น “วัดบันดาลใจ” อาตมาจะไม่คิดสร้างอะไรที่มันมากไปกว่านี้ ตอนนี้มีอุโบสถ์กลางน้ำที่เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ รองรับพระสงฆ์ที่เป็นผู้บริหาร คณาจารย์ร่วมทั้งพระนิสิตทั้งในและต่างประเทศได้ มากกว่า 4,000 กว่ารูป

ส่วนที่สอง ศาลาการเปรียญตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ใช้สอย ทั้งเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม ที่พักอุบาสก อุบาสิกาได้ รวมทั้งเป็นสถานที่ทำบุญเลี้ยงพระได้ด้วย

ส่วนที่สาม ที่พักสงฆ์ตอนนี่ สร้างเสร็จไปแล้ว 1 ชุด มีพระไปอยู่แล้ว ตอนนี้กำลังดำเนินการต่อคือ สร้างกุฎิเจ้าอาวาส แล้วก็อาจจะต้องมีกุฎิสงฆ์อีก 2 -3 ชุด สำหรับเขตสังฆาวาส

ส่วนที่สี่ ที่คิดจะทำต่อคือ หน้าอุโบสถ์กลางน้ำ คือ จะทำเป็นลานธรรม สำหรับปฎิบัติธรรม  นั่งสมาธิ จะทำห้ร่มรื่น ปลุกต้นไม้ คาดว่าไม่เกิน 2 ปีก็จะพัฒนาให้แล้วเสร็จ ตามแผนที่วาดเอาไว้

และอนาคตอาจจะมีงานสำคัญอีกประการหนึ่งคือ งานยกช่อฟ้า และผูกพันธสีมาฝั่งลูกนิมิตโบสถ์กลางน้ำ เพื่อให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ นี้คือโครงการในภาพรวม

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ถาม ท่านเจ้าคุณมีอะไร ส่งท้ายบ้าง

คืออาตมาตั้งใจจะสร้างวัดมหาจุฬาฯ ให้เป็นวัดโมเดลเหมือนกันแนวทางปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ที่เราเสนอเอาไว้ คือ วัดต้องเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งเรื่องอำนวยความสะดวก, ทั้งเรื่องรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น,ทั้งเรื่องแหล่งเรียนรู้และอนาคตวัดแห่งนี้ก็จะมีเรียนหลักสูตรที่คณะสงฆ์จัดทั้งเรื่องนักธรรมและบาลี เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ความเป็นพระนิสิต เพราะอาจมีพระนิสิตบางรูป บางคนยังไม่พร้อมเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเป็นสถานที่อบรมให้กับคณาจารย์ใน มจร ด้วย  ควบคู่ทำงานร่วมไปกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย..

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ 5 เป็นสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ของโลก ภายในมหาวิทยาลัยมีสถานที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายประการ ทั้งพระบรมสาริกธาตุ หลวงพ่อพุทธโสธร อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อย่างเช่น โบสถ์กลางน้ำ เป็นต้น หรือหากท่านใดต้องการทำบุญเลี้ยงพระภิกษุ-สามเณรประมาณ 600 รูป ที่ทั้งพระสงฆ์ไทยและนานาชาติ ที่เดินทางมาจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30 ประเทศก็สามารถไปร่วมทำบุญเลี้ยงพระได้ทุกวัน ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทร.035-248-000-5

ส่วนวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ สำหรับพุทธศาสนิกชนหากต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างวัดอันเป็นประวัติศาสตร์แห่งนี้ สามารถประสานไปได้ที่เบอร์ 089-156-0089,090-557-1562

เหลียวหลังแลหน้า : วัดมหาจุฬา ฯ วัดแรกในพื้นที่มหาวิทยาลัย