posttoday

หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505

23 กุมภาพันธ์ 2563

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

วันนี้แฟนทางบ้านแบ่งปันพระเครื่องของรักของหวงมาให้ชมครับ เป็นพระเครื่องหลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505 องค์นี้สภาพสวยมาก ผิวพรรณเดิมๆ ครบถ้วน เป็นอีกพิมพ์หนึ่งในตระกูล พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือ จะหาชมองค์จริงสภาพเช่นนี้ได้ยาก ความนิยมรองจาก พิมพ์เล็กตัว “ ท ” เลยครับ

ขอบคุณคุณสมคิด ปรัตถจริยา ที่แบ่งปันมาให้ศึกษาหาความรู้กันครับ คุณสมคิด ฉายานาม สมิหรา 11 ในแวดวงพระเครื่อง นอกจากรับราชการแล้ว นอกเวลาก็เสาะหาพระเครื่องพระสวยๆ มาเข้ารังส่วนตัว โดยเฉพาะสายหลวงพ่อทวดจะแม่นเป็นพิเศษครับ

หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505

สำหรับจุดพิจารณา พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทองซึ่งเป็นพระที่สร้างแจกกรรมการ โดยภาพรวมเบื้องต้น พระต้องมีความคม เป็นแท่งเพราะเป็นพระปั๊มตัด เส้นเสี้ยนในองค์พระต้องคม กะไหล่ต้องแห้งเก่า บางองค์ด้านรอบศีรษะองค์พระจะมีรอยเหมือนเล็บจิก ตัวตัดด้านข้างต้องคมชัด มาดูจุดพิจารณาด้านหน้ากันครับ

-ด้านบนเหนือศีรษะองค์พระจะมีลักษณะโค้งมน

-เส้นหน้าผากเส้นล่างกับเส้นกลางจะมีเส้นเชื่อมต่อกัน(พิมพ์กรรมการและพิมพ์ วอจุด หน้าหนูนิยม)

-จมูกเป็นสันใหญ่ คมชัด เป็นเหลี่ยม

-หูองค์พระจะคมชัด

-เส้นแตกที่เกิดจากการปั๊มดูเป็นธรรมชาติรอบองค์พระ(สำหรับองค์นี้)

-ปลายนิ้วชี้ต้องแหลมคม

-มีเนื้อเกินที่หัวเข่าซ้ายองค์พระ

จุดพิจารณาด้านหลัง

-ขอบด้านบนองค์พระ จะมีลักษณะโค้งมน มีเนื้อเกินปลิ้นออกมาเนื่องจากการปั๊ม

-ตัว ว จุด ตัว “ ว “จะเป็นจุดกลม ลักษณะคล้ายปากครีมคีบจุดกลมไว้ อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

-ตัวสระอา ของคำว่าช้าง ต้องไม่บี้ ตัว “ ง ” ต้องไม่แบน ตำหนิบี้แบนเซียนใหญ่โดนกันถ้วนหน้า

-เนื้อปลิ้นจากการปั๊ม

หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505

มาดูตัวตัดด้านข้างทั้งสองฝั่งจะเห็นความคม เสมอกันของใบมีด และมีติ่งที่ด้านล่าง

การสร้างพระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือในปีพ.ศ.2505 นั้น มี 2 พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก มูลเหตุการสร้างเป็นเพราะพระชุดหลังเตารีดชนิดหล่อตัดช่อแบบโบราณนั้น มีความยุ่งยากในการทำ และทำได้จำนวนจำกัด

ในขณะที่ความศรัทธาของประชาชนในภาคใต้ที่มีต่อหลวงพ่อทวด ได้แผ่ขยายกว้างไกลถึงภูมิภาคอื่นๆ คณะกรรมการวัดจึงมีแนวคิดที่จะสร้าง พระพิมพ์หลังเตารีดเช่นกันแต่เป็นพระปั๊มหลังหนังสือ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ต้นทุนถูกกว่า และทำได้จำนวนมากและสามารถทำเพิ่มได้ง่ายในสมัยนั้น

เนื้อหาพระพิมพ์หลังเตารีดที่สร้างเป็นพระเนื้อทองเหลืองรมดำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเนื้ออื่น เช่น เนื้อนวโลหะ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองเหลืองผิวไฟ ก็มีสร้างแต่พบเห็นน้อยมาก

หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505

ตามบันทึกของวัดช้างให้ระบุว่า พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือได้จัดสร้างที่ กรุงเทพฯและจัดส่งไปทางรถไฟ เพื่อนำเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้ โดยมีพระอาจารย์ทิมเป็นประธานในพิธี

พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มี 4 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์เล็ก มีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็กวงเดือน และ พิมพ์เล็กธรรมดา นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นพิมพ์ย่อยอีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะโครงหน้าของ และตัวหนังสือที่แตกต่างกันในแต่ละพิมพ์

การสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ในปี พ.ศ.2505 มีหลายรูปแบบ เช่น พระบูชา รูปหล่อลอยองค์เลขใต้ฐาน(เป็นที่ระลึกในโอกาสสร้างพระวิหารวัดพุทธาธิวาสที่อำเภอเบตง) พระหลังเตารีด หล่อตัดช่อแบบโบราณ เป็นต้น

พระเครื่องทุกแบบทุกรุ่นที่พระอาจารย์ทิมปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมของนักสะสมและประชาชนโดยทั่วไป และของเลียนแบบมีมาก แถมทำได้ดีมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเรียนรู้ทั้งจากแม่พิมพ์ ตำหนิแม่พิมพ์ที่เป็นธรรมชาติ

ด้านพุทธคุณเป็นที่ยอมรับกันว่า พระเครื่องหลวงพ่อทวดเป็นพระนิรันตราย ผู้ที่บูชาจะมีโชคลาภและปลอดภัย แคล้วคลาดในทุกกรณีครับ

หลวงพ่อทวด หลังหนังสือพิมพ์เล็ก “วอจุด หน้าหนู หูกลาง ตัวตัดมีติ่ง” กะไหล่ทอง พ.ศ.2505